ส่องกำไร ‘แบงก์-บจ.’ ไตรมาส 2 ท่ามกลางมรสุมรุมเร้า

ท่ามกลางมรสุมที่รุมเร้า หากมองระยะถัดไปในไตรมาส 3 ปีนี้ กลุ่มแบงก์น่าจะมีปัจจัยบวกเรี่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรออยู่


เส้นทางนักลงทุน

บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ นำร่องโดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หรือกลุ่มแบงก์ จะทยอยแจ้งงบการเงินไตรมาส 2 ปี 2565 กันแล้ว ซึ่งแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาสนี้ ในส่วนของกลุ่มแบงก์ถูกคาดหมายว่าจะออกมาในทิศทางที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2564 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ไม่น่าจะเห็นการเติบโตมากนัก

ส่วนบจ.ที่ไม่ใช่กลุ่มแบงก์ ส่วนใหญ่งบการเงินน่าจะออกมาไม่สวย เนื่องจากถูกกดดันด้วยปัญหาต้นทุนวัตถุดิบ ราคาพลังงาน ค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้น นำมาสู่ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 13-14 ปี

โดยหากแยกพิจารณาในกลุ่มแบงก์ จากการสำรวจมุมมองโบรกเกอร์หลายสำนัก เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พาย จำกัด (มหาชน) ได้ประเมินผลประกอบการงวดไตรมาส 2 ปี 2565 ของแบงก์ 7 แห่ง ประกอบด้วย บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL), บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), บมจ.ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP), บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB), บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB), บมจ.ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) และ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) คาดการณ์ว่าจะมีกำไรสุทธิรวม 42,373 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.9% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 4.5% จากไตรมาสก่อนหน้า

สาเหตุที่ทำให้กลุ่มแบงก์มีกำไรชะลอตัวจากไตรมาสแรกปีนี้ มาจาก 3 ปัจจัย คือ รายได้ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) จากตลาดทุนลดลง ทั้งจากธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) รวมทั้งค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน และการตั้งสำรองหนี้ของแบงก์ยังเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความแข็งแกร่งรองรับเศรษฐกิจที่ผันผวนในครึ่งปีหลังด้วย

ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อของกลุ่มแบงก์ในไตรมาสนี้คาดว่าจะเติบโตได้ราว 5% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และเติบโตระดับ 1-1.5% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่มาร์จิ้นไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 3 นี้

ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของกลุ่มแบงก์ มีแนวโน้มจะลดลงในช่วงครึ่งหลังปีนี้ หลัง KBANK จับมือ บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ร่วมทุนจัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) โดยจะมีการขายหนี้เสียออกให้ JK AMC มูลค่า 30,000 ล้านบาท

ส่วนกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายมาตรการเลิกจำกัดแบงก์จ่ายเงินปันผล จากเดิมที่จำกัดอัตราการจ่ายไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิประจำปี คาดว่าน่าจะทำให้แบงก์จ่ายเงินปันผลในปี 2565 มากกว่าปี 2564

ด้านบล.ทรีนีตี้ ประเมินว่า แบงก์ 6 แห่ง (BBL, KBANK, KTB, SCB, TTB และ TISCO) จะมีกำไรสุทธิรวมกัน 42,101 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากงวดปีก่อน และทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยไตรมาสนี้จะเห็นการตั้งสำรองหนี้อยู่ในระดับต่ำ เพราะ NPL ยังทรงตัว แต่อาจมีการตั้งสำรองพิเศษเล็กน้อยเพื่อรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง

สอดคล้องกับบล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซึ่งคาดการณ์ว่า 8 แบงก์ (บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY, BBL, KBANK, KKP, KTB, SCB, TISCO, TTB) จะมีกำไรสุทธิรวมกัน 5.35 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 3.4% จากไตรมาสก่อน อันเป็นผลจากสินเชื่อมีการเติบโตขึ้น ขณะที่ลดการตั้งสำรองลง กำไรกลุ่มนี้จึงเป็นบวกอยู่

ส่วนกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 9.8% จากงวดเดียวกันปีก่อน เพราะทุกแบงก์มีแนวโน้มทำกำไรได้ดีขึ้นจากการตั้งสำรองที่ลดลง โดยเฉพาะ KTB และ KKP

เช่นเดียวกับบล.ทิสโก้ ที่มีมุมมองต่องบการเงินกลุ่มแบงก์ (7 แห่ง) คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 48,499 ล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะไม่มีรายการพิเศษของ BAY ซึ่งทำให้ฐานปีก่อนสูง

นอกจากนี้ การที่ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากความวิตกกังวลเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จนปรับตัวลงต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ในส่วนของบล.และบลจ.ปรับตัวลดลงด้วย

ทางด้านภาพรวมผลประกอบการของบจ.ทั้งตลาดฯ งวดไตรมาส 2 ของปี 2565 นั้น บล.เอเซีย พลัส คาดว่า อาจปรับตัวลดลงเป็นตัวเลขหลักเดียว เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2564 ที่มีกำไรรวมกันอยู่ที่ 2.74 แสนล้านบาท (618 บริษัท) และไตรมาส 1 ปี 2565 เนื่องจากรับรู้ผลกระทบเต็ม ๆ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นมากจนกระทบต้นทุนวัตถุดิบ และกระทบมาร์จิ้นธุรกิจแคบลง รวมทั้งไตรมาส 2 ของทุกปีจะเป็นช่วงโลซีซั่น มีวันหยุดค่อนข้างมาก

พร้อมทั้งยังมีปัจจัยเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ตลอดจนมาตรการภาครัฐทยอยหมดลง ดังนั้นจึงมีโอกาสที่กำไรบจ.จะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ซึ่งมีกำไร 2.81 แสนล้านบาท อีกด้วย

โดยหากเปรียบเทียบกับกำไรทุกบริษัทกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน จะเพิ่มขึ้น 9.5% แต่ลดลงเล็กน้อยราว 1.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนประมาณการกำไรบจ.ทั้งปีนี้ ยังคงเป้าหมาย 1.04 แสนล้านบาท คิดเป็น EPS อยู่ที่ 88.9 บาทต่อหุ้น

ด้านบล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองไม่แตกต่างกัน ว่ากำไรบจ.ไตรมาส 2 นี้มีแนวโน้มชะลอตัวลงประมาณ 5-10% จากงวดปีก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ นอกจากกลุ่มพลังงานและกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ มีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงแรง เพราะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้น

ท่ามกลางมรสุมที่รุมเร้า หากมองระยะถัดไปในไตรมาส 3 ปีนี้ กลุ่มแบงก์น่าจะมีปัจจัยบวกเรี่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรออยู่ รวมถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้แบงก์กลับมาจ่ายปันผลได้ตามปกติ แต่สำหรับบจ. โดยทั่วไปผลประกอบการไตรมาส 3 นี้ยังน่าเป็นห่วง

Back to top button