KBANK ก้าวสู่ Challenger Bank
การประกาศเปลี่ยนตัวเองเป็น Challenger Bank ของ KBANK ครั้งนี้ ถือเป็นการตอบโจทย์การก้าวสู่ Financial Technology (FinTech) อย่างเต็มตัว
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ประกาศเดินหน้าโครงการลงทุนเชิงกลยุทธ์ มูลค่า 100,000 ล้านบาท เพื่อเปลี่ยนตัวเองเป็น Challenger Bank (ชาเลนเจอร์แบงก์) แห่งแรกในไทย ขยายโอกาสการเข้าถึงบริการธนาคารทั้งบุคคลทั่วไปและธุรกิจขนาดเล็กที่ยังเข้าไม่ถึงหรือการเข้าถึงยังไม่เต็มประสิทธิภาพโครงการนี้ประกอบด้วยการเร่งลงทุนด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ การซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี การผนึกกำลังพาร์ทเนอร์เชิงพาณิชย์ เพื่อการยกระดับองค์กรอีกขั้น
“ขัตติยา อินทรวิชัย” แม่ทัพใหญ่ KBANK ระบุว่า ช่วง 2 ปีข้างหน้า KBANK จะลงทุนประมาณ 22,000 ล้านบาท ในระบบและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มเติมจากที่มีการลงทุน 12,700 ล้านบาท ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และเตรียมใช้เงินลงทุน 30,000 ล้านบาท เพื่อปิดดีลซื้อกิจการและความร่วมมือเชิงพาณิชย์กับกิจการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ประมาณ 2-5 ดีล
KBANK กำลังบุกเบิกการปล่อยสินเชื่อเฉพาะทาง ที่เรียกว่า buy-now-pay-later ให้ผู้ที่ทำงานอิสระหรือไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ โดยจะพิจารณาอนุมัติจากข้อมูลอื่นแทน ที่ผ่านมามีการอนุมัติสินเชื่อเฉลี่ย 1,600 รายต่อวัน มีวงเงินสินเชื่อเฉลี่ยประมาณ 1,500 บาทและสูงสุด 20,000 บาท
พร้อมกับบริการ LINE BK ที่เกิดจากความร่วมมือกับ LINE เปิดโอกาสให้สมัครขอสินเชื่อได้ที่รู้ผลอนุมัติภายใน 24 ชั่วโมง และหากผู้ที่มีบัญชีเงินฝากกับ KBANK อยู่แล้ว สามารถสมัครขอสินเชื่อและรู้ผลการอนุมัติภายใน 5 นาทีเพียงเท่านั้น
ปัจจุบันจำนวนผู้ขอสินเชื่อผ่านบริการ LINE BK ในแอปพลิเคชัน LINE ทั้งหมด มีถึง 1 ใน 3 เป็นผู้ที่เพิ่งเคยได้รับเงินกู้จากธนาคารเป็นครั้งแรกในชีวิต โดยภายในปีนี้ KBANK ตั้งเป้ามีลูกค้ารายย่อยรวมถึงธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับสินเชื่อกว่า 600,000 ราย รวมวงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท
จากกรณี KBANK ถือเป็นการสร้างเทคโนโลยี เพื่อให้บริการทางการเงินตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้มีต้นทุนดำเนินการที่ถูกกว่าผู้เล่นรายเดิม แถมให้บริการมีประสิทธิภาพที่ดีด้วย ผู้เล่นใหม่กลุ่มนี้เรียกว่า Challenger Bank นั่นเอง..
นิยามของ Challenger Bank นั่นคือบริษัทหรือ startup ผู้ให้บริการทางการเงินด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ มีเป้าหมายเพื่อให้บริการด้วยต้นทุนต่ำ บริการรวดเร็ว มีบริการทางการเงินทั้งเปิดบัญชี การให้บริการเงินกู้ จนถึงการชำระเงินและบัตรเครดิต โดยหันมาใช้ช่องทางดิจิทัล (Digital Channel) ร่วมกับเทคโนโลยีชั้นสูงอย่าง AI และ Big Data ที่สำคัญ Challenger Bank มีศักยภาพด้านบริการที่อาจ Disrupt ธุรกิจธนาคารได้เลยทีเดียว
โดย Challenger Bank เริ่มต้นอย่างชัดเจนที่ประเทศอังกฤษ เริ่มจากการให้บริการทางการเงินของธนาคารผ่านอินเทอร์เน็ต จนถึงยุคปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจ Challenger Bank แพร่ขยายไปทั่วโลก และมี Challenger Bank ทั้งจากธนาคารและบริษัทเทคโนโลยีที่หันมาสนใจด้านการเงินมากขึ้น
การประกาศเปลี่ยนตัวเองเป็น Challenger Bank ของ KBANK ครั้งนี้ ถือเป็นการตอบโจทย์การก้าวสู่ Financial Technology (FinTech) อย่างเต็มตัว เพื่อปรับการบริการให้เข้ากับผู้บริโภคยุคใหม่ ที่สำคัญเป็นการลบภาพลักษณ์ความเป็นธนาคารโลกเก่าไปอย่างสิ้นเชิง..!!