6 คริปโต..พาบรรลัย?
ปลายสัปดาห์ก่อนมีเรื่องสั่นสะเทือนวงการคริปโตไทยอีกครั้ง เมื่อบริษัทที่ได้รับอนุญาตทำหน้าที่เป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมีปัญหาเรื่องระบบ
ปลายสัปดาห์ก่อนมีเรื่องสั่นสะเทือนวงการคริปโตไทยอีกครั้ง เมื่อบริษัทที่ได้รับอนุญาตทำหน้าที่เป็น ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) มีปัญหาเรื่องระบบเข้าซื้อขาย และการเบิกถอนเงิน จนทำให้ ก.ล.ต. ต้องรีบออกคำสั่งให้บริษัทเจ้าปัญหาชี้แจงรายละเอียดความเสียหายใหญ่โตขนาดไหน? เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเงินในกระเป๋านักลงทุนหลายราย จึงต้องออกแอคชั่นมากหน่อยพะยะค่ะ
ประเด็นข้างต้นทำให้ “โมนิก้า” ต้องกระโดดลงมาร่วมวง และเล่าถึงรายละเอียดต่าง ๆ ออกมาเป็นฉาก ๆ เพื่อทำให้ทุกคนเห็นภาพชัดขึ้นกว่าเดิม จึงขอเริ่มต้นกันที่ใบอนุญาตประเภทต่าง ๆ ที่ ก.ล.ต. เป็นคนออกให้มีอยู่ด้วยกัน 5 ใบ ไล่เรียงจาก 1.ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) 2.นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) 3.ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer) 4.ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Advisory Service) และ 5.ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Fund Manager) ซึ่งแต่ละใบก็มีชื่อบอกอยู่แล้วว่า มีหน้าที่ทำอะไรนะคะ
สิ่งที่มีปัญหามากสุดก็คือ “ศูนย์ซื้อขาย” (“คริปโต” กับ “โทเคน”) เพราะมีเรื่องระบบล่มเยอะเหลือเกิน และยังมีการประกาศปิดระบบแบบไม่ทันตั้งตัว จนทำให้นักเทรดเหรียญมึนงงกันเป็นแถว “โมนิก้า” จึงต้องออกมาแจกแจงรายชื่อบริษัทที่ได้รับอนุญาตมีทั้งหมด 9 ราย แต่ทำหน้าที่ซื้อขายคริปโต 6 ราย ส่วนอีก 1 รายที่ชื่อ ERX ขอทำแค่โทเคนอย่างเดียว ขณะที่อีก 2 รายอย่าง TDX กับ T-BOX ยังไม่เริ่มประกอบธุรกิจ (ทำโทเคนเท่านั้น) เจ้าค่ะ
สถานการณ์ข้างต้นทำให้ “โมนิก้า” พุ่งเป้าไปที่เจ้าพ่อคริปโต 6 ราย ซึ่งนำโดยดาวดังอย่าง BITKUB และเป็นเจ้าพ่อคอนเทนต์ที่เรียกเสียงฮือฮาได้ตลอดเวลา ถัดมาเป็น Satang Pro ก็ยังทำธุรกิจไปเรื่อย ๆ และตามมาด้วยตัวที่เริ่มมีปัญหามากมายอย่าง Zipmex ขณะที่รายอื่น ๆ อย่าง Upbit และ Z.comEX หรือแม้กระทั่ง SCBS กลับไม่มีปัญหาดังกล่าวที่เอ่ยให้ฟังในตอนต้นนะจะบอกให้
ในเมื่อเข้าใจเรื่องราวแบบพอสังเขปกันแล้ว “โมนิก้า” ขอเดินเรื่องข้ามมาถึงปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้นแบบสด ๆ ร้อน ๆ กับศูนย์ซื้อขายของ ZIPMEX เพื่อทำให้ชาวหุ้นได้เห็นภาพไปพร้อมกันว่า ซิปเม็กซ์ก็เปรียบเสมือนโบรกเกอร์ ส่วนในฝั่งของ ZipUp ก็เปรียบเสมือนอนุพันธ์อย่างหนึ่ง ซึ่งอ้างอิงผลตอบแทนจากการลงทุนอีกทอดหนึ่ง จึงกลายเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เพราะเล่นบนความเชื่อเพียว ๆ (มันนีเกม เงินเข้าเยอะ เหรียญก็ขึ้น เงินออกเยอะ เหรียญก็ลง) นะคะ
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ คนที่เข้าไปลงทุนผ่านโปรแกรม ZipUp รู้จักสินค้าตัวนี้ดีขนาดไหน? และรู้หรือไม่ว่าสินค้าที่ ZipUp เอาเงินไปลงทุนที่ชื่อ Celsius กับ Babel อีกทอดหนึ่ง มีความเสี่ยงขนาดไหน?..และแล้วเรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อรายแรกมีปัญหาเรื่องถอนเงิน จนต้องยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายเสียอย่างนั้น ซึ่งมันหมายความว่า คริปโตดังกล่าวมีค่าเป็นศูนย์ในบัดดลหรือเปล่าคะ
ส่วนรายหลังก็มีสภาพไม่แตกต่างกันนัก เพียงแต่ยังไม่ถึงขั้นล้มละลาย แต่ก็มีปัญหาเรื่องการถอนเงินคริปโตขึ้นมาเสียอย่างนั้น จนนำไปสู่การปิดระบบซื้อขายแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นผลมาจากนักลงทุนพากันแห่ขายแบบไม่ดูดำดูดี และกระทบกระเทือนมาถึงการเทรดบน ZipUp จนทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง ก.ล.ต. ต้องกระโดดลงมาออกคำสั่งระงับการซื้อขายอย่างที่เราเห็นกันอยู่นี่แหละ!
ที่น่าสนใจคือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนักเทรดไทยเที่ยวนี้ปาเข้าไปถึง 1.95 พันล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก ๆ ในช่วงระยะเวลาไม่กี่อึดใจ และทำให้นักเทรดไทยเกิดอาการแหยงในวงกว้าง “โมนิก้า” จึงขอสรุปบทเรียนที่เกิดขึ้นในคราวนี้มาจาก 2 เรื่องเป็นประเด็นสำคัญคือ 1.ราคาคริปโตลดลงอย่างฮวบฮาบ กับ 2.การไถ่ถอนหลังคริปโตทรุดหนัก ซึ่งถ้ามองดี ๆ มันคือ มันนีเกม เมื่อไม่มีเม็ดเงินก้อนใหม่เติมเข้ามา ทุกอย่างก็พังทลายลงอย่างง่ายดายนะคะ
ด้วยเหตุนี้ถึงทำให้ “โมนิก้า” ต้องเอ่ยปากชม ก.ล.ต. แบบไม่เคอะเขินใจ เพราะได้เห็นการออกแอคชั่นเพื่อปกป้องนักลงทุนอย่างเต็มที่ และยังทำให้ความเสียหายถูกตีให้อยู่ในวงจำกัด พร้อมกันนั้นก็อยากให้ทุกคนเข้าใจเจตนาในการจั่วหัวข่าวเที่ยวนี้ด้วยว่า ไม่ได้ต้องการซ้ำเติม และให้ร้ายใครทั้งสิ้น..เพราะต้องการกระตุกสตินักเทรดให้เข้าใจถึงรูปแบบสินค้าที่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนำเสนอก็เท่านั้นเอง!
อ้อ!..อย่าลืมว่า ตลาดคริปโตไม่ล้มหายตายจากอย่างถาวรหรอก! แต่จะไปอยู่ตรงจุดไหนของการลงทุนในอนาคต..ก็มิทราบได้ เพราะที่ทราบแน่ ๆ ตอนนี้คือ นักเทรดต้องไปสอบถามผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายที่เหลือ มันมีอะไรที่ต้องกังวลเหมือนที่เดี๊ยนตั้งคำถามไหม?..อิอิอิ