KBANK-CBG ร่วมปั้นรายได้ดอกเบี้ย

เอ๊ะ..!! จากงบไตรมาส 2/2565 ของกลุ่มแบงก์ที่เพิ่งประกาศออกมาช่วงปลายสัปดาห์ก่อน จะเห็นว่ารายได้ดอกเบี้ย ซึ่งเป็นรายได้หลักของแบงก์ เติบโตแบบกะปริบกะปรอย บางแบงก์ถึงขั้นติดลบซะด้วยซ้ำ ทำให้ภาพรวมการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยดูไม่ค่อยสู้ดีนัก..!!


เอ๊ะ..!! จากงบไตรมาส 2/2565 ของกลุ่มแบงก์ที่เพิ่งประกาศออกมาช่วงปลายสัปดาห์ก่อน จะเห็นว่ารายได้ดอกเบี้ย ซึ่งเป็นรายได้หลักของแบงก์ เติบโตแบบกะปริบกะปรอย บางแบงก์ถึงขั้นติดลบซะด้วยซ้ำ ทำให้ภาพรวมการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยดูไม่ค่อยสู้ดีนัก..!!

ทำให้แบงก์ต้องหาโมเดลใหม่ ๆ เพื่อเร่งปั๊มรายได้ดอกเบี้ยให้มากขึ้น…

ล่าสุดเห็นการขยับของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK (อีกครั้ง) จากการไปเกี่ยวก้อยกับกลุ่มบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ บริษัท กสิกร คาราบาว จำกัด (KBAO) เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับร้านค้าปลีกในกลุ่มคาราบาว ทั้งที่เป็นเจ้าของร้าน พันธมิตรทางธุรกิจ ผู้เช่าพื้นที่ในร้าน จนไปถึงลูกค้าที่เป็นสมาชิก

บริษัทร่วมทุนดังกล่าวมีทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท โดย KBANK ถือหุ้นมากกว่า 50% ผ่านบริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (KVISION) ส่วนกลุ่มคาราบาวส่งบริษัท ทีดี เวนเจอร์ จำกัด (TDV) เข้าถือหุ้น โดย TDV เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง CBG ถือหุ้น 15%, บริษัท ซี.เจ. เอ็กเพรส กรุ๊ป จำกัด (CJ) ถือหุ้น 15% และบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด (TD) ถือหุ้น 70%…

ไม่เท่านั้น KBANK ยังจะเข้าลงทุนในบริษัท ทีดี ตะวันแดง เพื่อพัฒนาร้านค้าปลีก “ถูกดี มีมาตรฐาน” อีกด้วย

ความน่าสนใจของดีลนี้…นอกจากเป็นดีลใหญ่ในการผนึกกำลังกันของสองยักษ์ใหญ่ระหว่างแบงก์พาณิชย์กับบริษัทค้าปลีกแล้ว ยังถือเป็นมิติใหม่ของแบงก์ในการหารายได้ดอกเบี้ยอีกด้วย…

ในมุมของแบงก์ ที่ผ่านมาอาจมีเงื่อนไขในการปล่อยกู้รายย่อยค่อนข้างเยอะ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้ไม่สามารถปล่อยกู้ให้ได้…ก็เสียโอกาสไปโดยปริยาย ซึ่งทุกแบงก์น่าจะเหมือนกันหมด

แต่เมื่อ KBANK มาจับกับกลุ่มคาราบาว สิ่งที่ KBANK จะได้ มี 3 ขาด้วยกัน…ขาแรก การปล่อยกู้ให้กับกสิกร คาราบาว ก็กินดอกเบี้ยไปพลาง ๆ ก่อน…

ขาที่สอง…เมื่อ กสิกร คาราบาว ไปปล่อยกู้ต่อให้กับร้านค้าปลีกในกลุ่มคาราบาว ซึ่งมีทั้งร้านสะดวกซื้อ “ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต” มีกว่า 800 สาขา, ร้าน “นายน์ บิวตี้” เป็นสินค้ากลุ่มเครื่องสำอาง, ร้าน “บาวคาเฟ่” ขายกาแฟ เครื่องดื่ม, ร้าน “อูโนะ” จำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ เครื่องเขียน และ “เอ-โฮม” กลุ่มเครื่องมือช่าง อุปกรณ์ทำสวน ของใช้ในครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า และร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ที่มีกว่า 5,000 สาขา ก็จะได้ส่วนต่างดอกเบี้ย หรือมี NIM ที่สูงขึ้น ซึ่ง KBANK ก็จะได้ผลตอบแทนเข้ามาจากการไปลงทุนในกสิกร คาราบาว นั่นแหละ…

และขาสุดท้าย เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายในการปล่อยกู้ครั้งนี้ ชัดเจนว่าเป็นร้านค้าปลีกในกลุ่มคาราบาว ซึ่งเป็นการปล่อยกู้เพื่อทำธุรกิจ ไม่ใช่ใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสีย หรือ NPL คงต่ำ ที่สำคัญคาราบาวคงไม่ปล่อยให้ร้านค้าในเครือข่ายเจ๊งง่าย ๆ หรอกมั้ง…เชื่อหัวไอ้เรืองเถอะ

มุม CBG หรือกลุ่มคาราบาว มีโอกาสที่จะเติบโตมากขึ้น จาก 1) รับรู้ผลตอบแทนจากกสิกร คาราบาว ซึ่งมี NIM ค่อนข้างสูง เพราะมี KBANK คอยแบ็กอัพเงินทุนให้อยู่…

2) มียอดขายเพิ่มขึ้นจากการขายสินค้าให้กับร้านค้าปลีกในเครือข่ายมากขึ้น

ส่วนในมุมร้านค้าปลีก จากเดิมมีปัญหาเรื่องเงินทุน…เข้าไม่ถึงเงินทุนจากแบงก์ แต่โมเดลนี้จะช่วยปลดล็อกให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โอเค…แม้ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าการกู้แบงก์ แต่ก็คงดีกว่าการไปกู้หนี้นอกระบบอะนะ…เมื่อร้านค้าปลีกมีเงินทุน ขยายตัวได้ดี ก็จะสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น สุดท้ายจะกลับไปสู่กลุ่มคาราบาวนั่นแหละ

เป็นอีกดีลที่สมประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย..!!

ก็น่าคิด ต่อไปอาจได้เห็นแบงก์อื่น ๆ ก๊อปโมเดลนี้ไปใช้ หรือครีเอตโมเดลใหม่ออกมาหารายได้ดอกเบี้ยก็ได้นะ…

ขณะที่การจับมือของ KBANK และกลุ่มคาราบาวครั้งนี้ น่าจะทำให้ตลาดโชห่วยที่เดิมแข่งขันกันดุเดือดอยู่แล้ว น่าจะกลายเป็นทะเลแดงเดือดมากขึ้น

เป็นอีกช็อตที่น่าจับตา…

…อิ อิ อิ…

Back to top button