ผู้บริโภครับกรรมกันไป
สาระสำคัญที่ผู้บริหารของบริษัทต่างชาติได้พูดถึงอย่างอื้ออึงในการแถลงผลประกอบการในช่วงนี้ คือ พวกเขากำลัง “ขึ้นราคาสินค้า” หรือ “ลดต้นทุน”
สาระสำคัญที่ผู้บริหารของบริษัทต่างชาติได้พูดถึงอย่างอื้ออึงในการแถลงผลประกอบการในช่วงนี้ คือ พวกเขากำลัง “ขึ้นราคาสินค้า” หรือ “ลดต้นทุน” เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่กำลังทำท่าว่าจะ “ฝังรากลึก”
การรุกรานยูเครนของรัสเซีย ได้เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาซัพพลายเชนที่ทำให้เงินเฟ้อรุนแรงมากขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางทั่วโลก กำลังหาทางคุมเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง จนมีความกังวลว่าจะทำให้เศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัวจากโควิดจะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้
เดวิด โซโลมอน ซีอีโอของโกลด์แมน แซคส์ เป็นคนกำหนดโทนในการแถลงผลประกอบการในสหรัฐฯ ในรอบนี้เมื่อได้กล่าวว่า เงินเฟ้อได้ “ฝังรากลึก” ในเศรษฐกิจสหรัฐฯ แล้ว และจะมีผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน
หลังจากนั้นมาก็มีผู้บริหารของบริษัทสหรัฐฯ คนแล้วคนเล่าได้ออกมาแสดงความรู้สึกในแบบเดียวกัน โดยอีลอน มัสค์ ซีอีโอ เทสล่าก็เป็นหนึ่งในนั้น
ในระหว่างแถลงผลประกอบการ มัสค์ได้ขอโทษว่า บริษัทต้องขึ้นราคารถยนต์เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งที่เทสล่าได้ขึ้นราคามาหลายครั้งแล้ว แต่ด้วยปัญหาซัพพลายเชน ปัญหาเงินเฟ้อ และวิกฤติในการผลิต บริษัทก็ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องขึ้นราคา แต่ได้ให้ความหวังทิ้งท้ายว่า เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง เทสล่าอาจจะลดราคารถลงเล็กน้อย
ซีอีโอส่วนใหญ่บอกว่า พวกเขาต้องฝ่าฟันช่วงเวลาอันยากลำบากที่เกิดจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี ด้วยการขึ้นราคาสินค้าและบริการเป็นหลัก แต่โทนการพูดของผู้บริหารส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ถือโอกาสที่จะใช้ “อำนาจในการกำหนดราคา” ที่มีอยู่ในขณะนี้ เพื่อเพิ่มกำไร เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก
แน่นอนว่าการขึ้นราคาไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท และผลที่ตามมาจนถึงขณะนี้ ยังสามารถต้านมุมมองในด้านลบในตลาดได้อยู่
อย่างไรก็ดี เนื่องจากในขณะนี้ ยังไม่มีอะไรที่ไม่แน่นอนอีกมาก นอกจากเรื่อง “เงินเฟ้อ” เรื่องเดียวที่ยังพุ่งขึ้นไม่หยุด และกำลังเป็นปัญหาที่สร้างความกังวลให้กับทุกคน
จากข้อมูลของแฟกเซ็ต ในบรรดาบริษัทที่อยู่ ในดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ได้รายงานผลประกอบการแล้ว 91 บริษัท ได้พูดถึงปัญหาเงินเฟ้อเสียถึง 85 บริษัท แต่ยังดีที่แม้ว่าจะมีความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ แต่เกือบ 20% ของบริษัทที่อยู่ในดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่รายงานผลประกอบการแล้วในขณะนี้ มี 78% ที่มีกำไรดีกว่าคาด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.3% เมื่อดูตามข้อมูลจากเรฟฟินิทีฟ ขณะเดียวกันมี 72.5% ที่มีรายได้ดีกว่าคาด และมี 11.3% ที่มียอดขายเพิ่มขึ้น
แม้ว่าบริษัทพลังงานจะเป็นแรงหนุนสำคัญให้บริษัทมีกำไรโดยภาพรวม แต่ก็มีความรู้สึกโดยรวมเช่นกันว่า ผู้บริโภคที่มีเงินเท่านั้นที่สามารถรับมือกับภาระราคาที่พุ่งสูงขึ้นในขณะนี้ได้
นักเศรษฐศาสตร์ได้เตือนว่า ภาวะถดถอยที่กำลังตั้งเค้า อาจทำให้ผู้บริโภคต้องรัดเข็มขัดและการใช้จ่ายจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบมากขึ้นต่อความเชื่อมั่นของบริษัท และกิจกรรมของผู้บริโภคในระบบเศรษฐกิจ
แม้ผู้บริหารส่วนใหญ่จะมีความเห็นเหมือนกับมัสค์ว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง เงินเฟ้อจะลดลง แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น ผู้บริโภคต้องรับภาระไปเต็ม ๆ และจากข้อมูลในอดีต เป็นที่รู้กันว่า ราคาสินค้าเมื่อขึ้นแล้วมักขึ้นเลย และไม่ค่อยจะลดลง ผู้บริโภคก็ไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากก้มหน้ารับกรรม หากรัฐบาลไม่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา “ของแพง” อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม