พาราสาวะถี
รูปรอยทางการเมืองว่าด้วยการเตรียมความพร้อมเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นภายในต้นปีหน้านั้น
รูปรอยทางการเมืองว่าด้วยการเตรียมความพร้อมเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นภายในต้นปีหน้านั้น วันนี้ (3 ส.ค.) จะมีการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรครวมไทยสร้างชาติ วาระสำคัญ คือ จะมีการเลือกผู้บริหารและกรรมการบริหารพรรค โดยที่ตัวหัวหน้าไม่ใช่ใครอื่น พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีหรือผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั่นเอง ขณะที่ตัวเลขาธิการพรรคคงหนีไม่พ้น เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ลูกติดเมียของ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส.นั่นเอง
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พีระพันธุ์หารือเป็นการส่วนตัวกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจภายในทำเนียบรัฐบาล โดยใช้เวลาคุยกันประมาณ 20 นาที ไม่น่าจะมีเรื่องอื่นนอกเหนือจากการรายงานความพร้อมเรื่องการตั้งพรรคดังว่า ชัดเจนกันเช่นนี้ก็หมายความว่า เลือกตั้งครั้งหน้าพรรคสืบทอดอำนาจจะไม่เสนอชื่ออดีตหัวหน้าเผด็จการ คสช.เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน หรือเสนอก็จะมีตัวเลือกที่สองหรือแคนดิเดตสำรอง ซึ่งผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจรับไม่ได้กับเงื่อนไขแบบนี้
ต้องอย่าลืมเป็นอันขาด เดิมทีรวมไทยสร้างชาตินั้น ผู้ถูกมอบหมายให้มาแผ้วถางทางรอคือ เสกสกล อัตถาวงศ์ แต่โดนคลิปเรื่องหวยเล่นงานสะบักสะบอมเลยต้องคลานกลับไปตายรังพรรคสืบทอดอำนาจเหมือนเดิม แล้วปล่อยให้พีระพันธุ์ที่มีภาพลักษณ์ไฉไลกว่ามาลุยงานแทน ซึ่งมีแนวร่วมสำคัญคือบรรดาหัวขบวนและเหล่าเซเลบของม็อบนกหวีดที่ภักดีต่อผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนครั้งนี้
หลังการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ทุกอย่างเกิดความชัดเจนก็จะเป็นการยืนยันได้ว่า เส้นทางการเมืองสำหรับการเข้าสู่โหมดเลือกตั้งครั้งหน้าของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น เลือกที่จะเดินจากพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. แน่นอนว่า เป็นการตอกย้ำข่าวคราวความขัดแย้งที่พยายามจะสร้างภาพว่ายังรักกันดีของพี่น้องทั้งสามคน ขณะเดียวกัน บรรดาพวกถือหางแบบไม่ลืมหูลืมตา ก็จะพากันมองไปในมุมที่ว่านี่เป็นยุทธวิธีชั้นเซียน คือ การแยกกันเดิน โดยมีเป้าหมายปลายทางคือกลับมาจับมือตั้งรัฐบาลเหมือนเดิม
งานนี้ พรรคการเมืองที่หนักใจมากที่สุดไม่ใช่เพื่อไทย เพราะทิศทางการเมือง แนวนโยบาย การขับเคลื่อน รวมไปถึงการวางตัวผู้สมัครนั้นมีความชัดเจน หรืออาจจะเรียกได้ว่าพร้อมมากกว่าใครเพื่อนอยู่แล้ว ภาระหนักต่อการเกิดขึ้นของพรรคเพื่อรองรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจตกไปอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ เพราะจะเกิดการตกปลาในบ่อเพื่อน ลำพังพรรคสืบทอดอำนาจที่ใช้พลังดูดไปเมื่อคราวเลือกตั้งครั้งหน้าก็ว่าสาหัสแล้ว หนนี้จะหนักข้อมากกว่าเดิม
ทันทีที่เริ่มฉายภาพให้เห็นคณะผู้บริหารของพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็เกิดข่าวคู่ขนานกันมาว่าบรรดาอดีตแกนนำ กปปส.ในพรรคเก่าแก่จะไขก๊อกกันอีกจำนวนไม่น้อย ประเด็นนี้ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรังของพรรค ยอมรับว่า ก่อนจะมีการเลือกตั้งจะมีการไหลเข้าไหลออกของพรรคประชาธิปัตย์ โดยตนเชื่อว่ายังจะมีคนไหลออกอีก แม้จะออกตัวว่าจะเป็นเหมือนกันทุกพรรค แต่กรณีของพรรคเก่าแก่น่าจะหนักหน่วงกว่าเพื่อน เมื่อนักเลือกตั้งมองไปยังกระแสแล้วเห็นว่าน่าจะไม่สู้ดี
เรื่องนี้สาทิตย์เองก็ยอมรับสภาพเหมือนกัน ขนาดในพื้นที่ภาคใต้ที่เคยได้ชื่อว่าส่งใครลงก็ชนะ แต่หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ทุกอย่างเปลี่ยนไป จนถึงเวลานี้กระแสของพรรคเก่าแก่ไม่ได้ดีเหมือนเดิม โจทย์สำคัญสำหรับคนที่ยังจะไปต่อกับพรรค คือ ต้องพยายามทำนโยบายให้โดนใจประชาชนมากที่สุด ตัวผู้สมัครต้องมีการกำหนดแนวทางในการเข้าถึงประชาชน ทำงานหนักให้มากที่สุดให้ประชาชนเห็น และการรวมกลุ่มทำกิจกรรมในเรื่องของพรรคในภาคใต้ต้องเด่นชัด และชัดเจน ให้เห็นว่านี่คือพื้นที่เป้าหมายหลัก ซึ่งพรรคมีความเข้าใจในพื้นที่ดีกว่าพรรคไหน ๆ
เหตุที่สาทิตย์หนักใจ และคงไม่ต่างจากบรรดา ส.ส.รวมไปถึงผู้บริหารพรรคที่ส่วนใหญ่ก็มาจากภาคใต้เป็นกังวล เพราะลำพังพรรคสืบทอดอำนาจก็มี ส.ส.ที่ทำคะแนนในพื้นที่กันต่อเนื่อง รวมไปถึงพรรคภูมิใจไทยที่มุ่งมั่นในการสร้างฐานเสียงในหลายพื้นที่สำคัญภายใต้การนำของ พิพัฒน์-นาที รัชกิจประการ สองสามีภรรยานายทุนใหญ่ของพรรค ยิ่งมีพรรคของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจมาเป็นตัวเลือกอีก ยิ่งทำให้โจทย์ที่มีอยู่กลายเป็นงานใหญ่และยากเข้าไปอีก
ต้องยอมรับความจริงกันว่าภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นมาตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีบวกเข้ากับภาวะความเดือดร้อนของประชาชน และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่เอาไหนของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจพร้อมทีมงาน จะอ้างโควิด-19 หรือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ไม่สามารถที่จะเรียกคะแนนสงสารจากประชาชนได้ ดังนั้น เสียงของคนส่วนใหญ่ที่หวังว่าจะเปลี่ยนใจมาเลือกนั้นจึงเป็นไปได้ยาก ก็ต้องหันมาทุ่มเทกับเสียงสนับสนุนที่มีอยู่ ซึ่งในฐานะคนกันเองก็ต้องแก่งแย่งกันอุตลุด
ขณะเดียวกัน เรื่องที่บางพรรคพยายามจะขายความเป็นพรรคทหาร หรือขายภาพของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น ถ้าลองย้อนกลับไปดูบทสัมภาษณ์ของ สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เคยพูดไว้หลังเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก็จะเห็นภาพชัด ไม่ใช่ชื่อประยุทธ์ขายได้ไหม พวกที่อาศัยบารมีหรืออำนาจที่มีอยู่ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจต้องขายประยุทธ์ให้ได้ แต่ไม่ได้ขายในนามพลังประชารัฐ อาจจะเป็นพรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สุขุมมองก็คือเวลาพูดถึงรัฐบาล ตนหมายถึงกลุ่มทหารที่พยายามสืบทอดอำนาจ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งต่อไป กลุ่มคนเหล่านี้ต้องปล่อยให้การเมืองเป็นของนักการเมืองได้แล้ว ทหารควรจะหยุดแล้ว บรรยากาศอย่างนี้มันเห็นแล้วว่าขายความเป็นทหารยาก เลือกตั้งปี 2562 มันยังขายความสงบได้กับสโลแกนอยากพบความสงบจบที่ลุงตู่ เวลาที่ผ่านมามันได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ดังนั้น ไม่ว่าการเลือก ส.ส.ครั้งต่อไปจะจบที่สูตรหาร 100 หรือ 500 จะกลับไปใช้บัตรใบเดียวหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ได้ตัดสินใจที่จะกำหนดอนาคตของประเทศไว้แล้ว ถ้าไม่มีการใช้วิชาสามานย์อย่างอื่นมาแทรกแซงเสียก่อน