การเมืองเข้าแทรกค่า Ft
นี่กำลังจะกลายเป็นอีกปมปัญหาที่ฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซงองค์กรอิสระและกลไกตลาดอีกครั้งเพื่อหวังผลประโยชน์ด้านฐานเสียงของฝ่ายรัฐบาล
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติปรับขึ้นค่า Ft (ค่าไฟฟ้าผันแปร) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 เพิ่มขึ้นอีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วยเป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย (จากเดิม 24.77 สตางค์ต่อหน่วย) เพื่อสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงเมื่อรวมค่าไฟฐานเฉลี่ย จะอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย นับเป็นอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดของประเทศไทย
การประกาศค่า Ft ใหม่เป็นไปตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานที่เมื่อคณะกรรมการกกพ.เห็นชอบค่า Ft แล้ว ต้องประกาศล่วงหน้าก่อนจัดเก็บ 1 เดือน หลังกกพ.มีมติ 27 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา
โดยอัตรานี้เป็นการสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงเท่านั้น แต่นี่ยังไม่มีการชำระหนี้ค่าเชื้อเพลิงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ประมาณ 83,000 ล้านบาท
จึงมีประเด็นข้อกังวลว่าหากกกพ.ไม่สามารถปรับขึ้นค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.ได้ ยิ่งเป็นการพอกพูนภาระหนี้ให้กฟผ.เพิ่มขึ้นเป็น 120,000-130,000 ล้านบาท (ปัจจุบันประมาณ 100,000 ล้านบาท) ช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า นั่นทำให้ต้องกู้เงินที่สูงเกิน 100,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง ทำให้กระทบต่อการก่อหนี้สาธารณะและกระทบต่ออันดับเครดิตเรตติ้งประเทศ เพราะเป็นวงเงินเกินเพดานการกู้ ที่กฟผ.เคยกำหนดไว้ในฐานะที่กฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดี
เบื้องหลังการถ่ายทำครั้งนี้ ดูเหมือนว่าฝ่ายการเมืองจะไม่เห็นด้วย ถึงขึ้นสั่งการให้กกพ.เลื่อนกำหนดแถลงข่าวจากเดิม 1 ส.ค. 65 ออกไปก่อน หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เรียก “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงกกพ.ร่วมหารือเพื่อพิจารณาให้มีการตรึงค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. เอาไว้ก่อน โดยให้กฟผ.เข้ามาช่วยแบกรับภาระต้นทุนเชื้อเพลิง ที่เพิ่มขึ้นแทนประชาชนต่อเนื่องอีกงวด..!!
นี่กำลังจะกลายเป็นอีกปมปัญหาที่ฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซงองค์กรอิสระและกลไกตลาดอีกครั้งเพื่อหวังผลประโยชน์ด้านฐานเสียงของฝ่ายรัฐบาล เฉกเช่นแนวคิดเดียวกับความพยายาม “รีดกำไรค่ากกลั่น” จากโรงกลั่นทั้ง 6 แห่ง อันถือเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด และการค้าเสรี เพื่อนำเงินไปชดเชยกองทุนน้ำมันเชื้องเพลิงที่ติดลบกว่า 100,000 ล้านบาท
กรณีการปรับขึ้นค่า Ft หากมองผิวเผินแน่นอนว่า “กระทบต่อภาระประชาชน” แต่เนื่องด้วยต้นทุนพลังงานมีการผันแปรตามตลาดโลก รัฐบาลควรสะท้อนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับรู้สภาพความเป็นจริง เพื่อให้เกิดการตระหนักและใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
แนวคิดการตรึงค่า Ft จึงไม่ต่างอะไรกับการ “ขายผ้าเอาหน้ารอด” เพื่อรักษาฐานเสียงทางการเมือง แต่กลับเป็นการบั่นทอนศักยภาพของรัฐวิสาหกิจอย่างกฟผ. ที่ต้องแบกรับหนี้กว่า 100,000 ล้านบาท จนเกิดภาวะขาดสภาพคล่องอย่างหนัก จนสุดท้ายไม่สามารถบริหารจัดการไฟฟ้าของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพได้
บทเรียนนี้เราได้เห็นกันมาแล้วจากรัฐวิสาหกิจอย่างองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หรือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีสภาพไม่ต่างจากบริษัทที่กำลังล้มละลาย..ทำให้ไร้ประสิทธิภาพด้านการบริการอยู่ได้จากการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปีไป
และหากรัฐบาลยังทู่ซี้ตรึงค่า Ft กันไป..นั่นคือการ “ผิดพลาดเชิงนโยบายซ้ำซาก” อีกครั้ง..!?