PTT ไม่เอาถ่าน (หิน).!

ในช่วงกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ปตท.พยายามออกไปหาโอกาสทางธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย โดยปักหลักที่สองธุรกิจ คือ ธุรกิจสวนปาล์ม และธุรกิจถ่านหิน..!!


ในช่วงกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT พยายามออกไปหาโอกาสทางธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย โดยปักหลักที่สองธุรกิจ คือ ธุรกิจสวนปาล์ม และธุรกิจถ่านหิน..!! เป็นสองธุรกิจหัวหอกในยุคนั้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานต้นน้ำให้กับกลุ่ม PTT

แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน อะไร ๆ ก็เปลี๊ยนไป๋…ทำให้ในช่วง 4-5 ปีมานี้ เริ่มเห็น PTT ปรับเปลี่ยนทิศทางธุรกิจ เดินไปสู่เมกะเทรนด์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังงานสะอาด ธุรกิจทางการแพทย์และสุขภาพ ธุรกิจอีวี และนอนออยล์ เป็นต้น

ก็เลยเป็นที่มาของการขายธุรกิจสวนปาล์มในอินโดนีเซียไปเมื่อปี 2562…

ส่วนธุรกิจถ่านหินก็มีแนวคิดจะขายเหมือนกัน แต่ที่ผ่านมายังหาคนซื้อไม่ได้…โดยเมื่อครั้งที่ “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” เข้ามานั่งซีอีโอป้ายแดง ก็เคยประกาศลั่น “มีแผนจะขายธุรกิจถ่านหินที่ประเทศอินโดนีเซีย หากมีผู้สนใจเสนอซื้อในราคาที่เหมาะสม”

แถมเมื่อไม่นานมานี้ ยังพูดสำทับอีกว่า “ถ่านหินได้ผ่านยุคที่ใช้สูงสุดมาแล้ว”

ชัดเจนว่า “อรรถพล” ไม่เอาถ่าน (หิน)…อุ๊ย PTT ไม่เอาถ่าน (หิน) นั่นเอง..!!

ล่าสุด PTT ก็เกือบปลดเปลื้องธุรกิจถ่านหินได้แล้ว…โดยเตรียมจะขายเงินลงทุนในบริษัท PTT Mining Limited (PTTML) ซึ่งทำธุรกิจถ่านหิน ให้กับบริษัท PT Astrindo Nusantara Infrastruktur Tbk (Astrindo) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศอินโดนีเซีย หรือบริษัทในเครือของ Astrindo ด้วยมูลค่าประมาณ 471 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.70 หมื่นล้านบาท โดยมีการลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกันเรียบร้อยแล้ว…

แค่รอลุ้นให้ผู้ถือหุ้นของ Astrindo ยกมือโหวตในการเข้าทำธุรกรรม ซึ่งคาดว่าการซื้อขายจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/2565 นี้

ที่จริงถ้าดูผลประกอบการธุรกิจถ่านหินของ PTT ในปี 2564 ก็ปรับตัวดีขึ้นมากนะ มีรายได้จากการขายจำนวน 16,983 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,204 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 57.6% เมื่อเทียบกับปี 2563 สาเหตุหลักมาจากราคาขายถ่านหินเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 29.2 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 54.3% จาก 53.8 เหรียญสหรัฐต่อตันในปี 2563 มาอยู่ที่ 83.0 เหรียญสหรัฐต่อตันในปี 2564 ซึ่งเป็นไปตามราคาอ้างอิง Newcastle ที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาขาดแคลนพลังงานในหลายประเทศ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ขณะที่ปริมาณขายถ่านหินในปี 2564 อยู่ที่ 6.1 ล้านตัน ลดลง 0.3 ล้านตัน หรือลดลง 4.7% จากปี 2563 ที่มีปริมาณขายถ่านหินอยู่ที่ 6.4 ล้านตัน เนื่องจากการหยุดดำเนินการของแหล่ง Sebuku ตั้งแต่ต้นปี 2564 แม้ว่าปริมาณการผลิตจากแหล่ง Jembayan จะเพิ่มขึ้นตามแผนธุรกิจ

ส่งผลให้ปี 2564 ธุรกิจถ่านหินมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) จำนวน 7,158 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,982 ล้านบาท หรือมากกว่า 100% จากปี 2563 โดยหลักจากกําไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นตามราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น แม้ปริมาณขายจะลดลง และกําไรจากการดําเนินงานตามส่วนงานในปี 2564 มีจำนวน 5,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,101 ล้านบาท หรือมากกว่า 100% ตาม EBITDA ที่เพิ่มขึ้น

ทำให้มีคำถามตามมาว่า ทำไมขายทิ้งเสียล่ะ ทั้ง ๆ ที่ตอนนี้ถ่านหินอยู่ในช่วงขาขึ้น..? คำตอบเดียวที่พอจะนึกได้ คือ PTT ไม่ถนัด..!! อย่าลืมว่า PTT โตมาจากสายน้ำมัน…ธุรกิจถ่านหินจึงไม่ใช่ทางของ PTT

ประกอบกับถ่านหินเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ หรือคอมมูนิตี้ ที่มีวัฏจักรขาขึ้น-ขาลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่อยู่เหนือการควบคุม ทำให้ผลประกอบการค่อนข้างสวิงสวาย ก็เลยตัดใจขายไปเลยดีกว่า…แล้วหลังจากนี้มามุ่งเน้นด้านพลังงานสะอาดตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้

ถือเป็นการปลดโซ่ตรวนจากธุรกิจถ่านหินได้สักที..!! พร้อม ๆ กับปิดฉากสองธุรกิจหัวหอกในอินโดนีเซียที่เคยฉาวโฉ่ก่อนหน้านี้ไปด้วย…

…อิ อิ อิ…

Back to top button