พาราสาวะถี
ผลพวงจากศึกซักฟอกที่ผ่านมา มีหลายเรื่องที่ฝ่ายค้าน และกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองจะได้ดำเนินการเอาผิดผู้ที่ถูกกล่าวหาอย่างต่อเนื่อง
ผลพวงจากศึกซักฟอกที่ผ่านมา มีหลายเรื่องที่ฝ่ายค้าน และกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองจะได้ดำเนินการเอาผิดผู้ที่ถูกกล่าวหาอย่างต่อเนื่อง จากการแฉของ ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ต่อปมการจ่ายเงินรายเดือนให้กับหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคเล็กนั้น วันก่อน ศรีสุวรรณ จรรยา หอบหลักฐานไปยื่นร้องต่อ กกต.ให้เอาผิดผู้ที่อยู่ในข่ายทั้งหมด วันนี้ (5ส.ค.) สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย จะจูงมือ วีระ สมความคิด ประธานยุทธศาสตร์แผนงานต้านคอร์รัปชัน พรรคเสรีรวมไทย จะไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช.
มีประเด็นที่จะเอาผิด คือ ส.ส.พรรคเล็กที่รับเงินรายเดือนจากบุคคลภายนอก มีโทษ จำคุก ปรับ และให้ส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อตัดสิทธิการเมืองของผู้ที่กระทำผิด ตามความผิดมาตรา 128 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. จากนั้น ในวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม สมชัยจะเดินทางไปยังสำนักงาน กกต.พร้อมด้วย เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เพื่อยื่นร้องให้เอาผิดในกรณีเดียวกัน
ในส่วนของการยื่นเอาผิดต่อ กกต.นั้น จะเป็นการยื่นร้องให้เอาผิด ส.ส.พรรคเล็กรับเงินพรรคใหญ่ และเอาผิดพรรคใหญ่ครอบงำพรรคเล็ก โทษ จำคุก ปรับ และส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรค ตามความผิดมาตรา 28 และมาตรา 29 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ถือว่าเป็นไปตามคำขู่ที่มีก่อนหน้านี้ เนื่องจากการปูดข้อมูลของธรรมนัสนั้นไม่ใช่แค่การพูดแบบลอย ๆ แต่มีหลักฐานที่เป็นเอกสารชัดเจน จึงต้องรอดูกันต่อว่าองค์กรอิสระทั้งสองแห่งจะรับและเร่งพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่
ก่อนหน้านี้มีข่าวว่านายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งก็คือเลขาธิการ กกต. รับทราบเรื่องนี้ตามที่ปรากฏเป็นข่าวแล้ว และจะดำเนินการตรวจสอบตามอำนาจและหน้าที่ แต่ก็ตามสไตล์ คือ จะมีการอ้างเหตุอ้างผลสารพัด ที่ฟังกันจนชินก็คือ จะต้องตรวจสอบตามกระบวนการว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายใด และมีโทษอย่างไร ซึ่งต้องใช้เวลาในการพิจารณาให้ได้ข้อเท็จจริงที่ยุติก่อนที่จะพิจารณาต่อไป นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ประชาชนมองว่า มันแล้วแต่พรรคหรือบุคคลที่ถูกกล่าวหาด้วยใช่หรือไม่ว่าเป็นใคร พรรคไหน จึงจะสามารถพิจารณาได้ว่าต้องเร่งด่วนหรือไม่ หลายคดีที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ความไร้มาตรฐานชัดเจน
ขณะเดียวกัน ประเด็นการยื้อเวลาพิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ โดยใช้เรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อมาเป็นปัจจัยหลัก ทำให้กระบวนการพิจารณาล่าช้านั้น ค่อนข้างที่จะแน่นอนแล้วว่า ท้ายที่สุดบรรดาท่านผู้ทรงเกียรติทั้งจากเลือกตั้งและลากตั้ง โดยเฉพาะฝ่ายกุมอำนาจยอมที่จะเสียศักดิ์ศรี ไม่สนใจเกียรติภูมิของความเป็นสมาชิกผู้ทรงเกียรติในสภาหินอ่อน ปล่อยให้กระบวนการพิจารณากฎหมายไม่ทันกรอบเวลา 180 วันที่จะครบในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ เพื่อให้ร่างที่คณะกรรมาธิการพิจารณากันนั้นตกไป
ตามกระบวนการของกฎหมายก็ต้องกลับไปใช้ร่างของ กกต.ที่ใช้สูตรหาร 100 กรณีนี้สมชัยในฐานะที่เคยเป็นอดีต กกต. และปัจจุบันเข้ามามีบทบาทในนามของสมาชิกพรรคเสรีรวมไทย ได้ร่วมพิจารณาในฐานะกรรมาธิการ มองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ เมื่อฝ่ายกุมอำนาจเลือกที่จะใช้วิธีการแบบนี้แล้วเชื่อว่าเป็นชัยชนะในการแก้ปัญหาการกลับกลอกของตัวเอง ก็เท่ากับว่า “เป็นชัยชนะบนราคาที่สูงลิ่ว” โดยต้นทุนที่จะต้องจ่ายนั้น สมชัยแยกแยะให้เห็นภาพชัดเจน
ในแง่ของเม็ดเงินไม่ใช่แค่ค่าใช้จ่ายในการประชุมรัฐสภาที่จะต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าว แต่การประชุมกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 49 คน 19 ครั้ง ที่ต้องจ่ายเบี้ยประชุมครั้งละ 1,500 บาท เป็นเงิน 1.3 ล้านบาท ค่าจัดเลี้ยงอาหารวันละ 250 บาท รวมเป็นเงินเกือบ 300,000 บาท ค่าจัดทำเอกสาร 200,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายเกือบ 2 ล้านบาท ไม่นับราคาของเวลา และการทุ่มเทของกรรมาธิการที่ใช้เวลาเกือบ 4 เดือนถกเถียงเพื่อให้ได้บทสรุปที่เกิดประโยชน์กับส่วนรวม แต่สุดท้ายก็มาหักดิบกันแบบนี้
สิ่งที่น่าเสียดายซึ่ง วิษณุ เครืองาม ก็ให้ความเห็นในมุมที่เสียดายเหมือนกัน แม้จะชี้ว่าการที่พิจารณากฎหมายไม่ทันกรอบเวลาถือเป็นความบกพร่องในการทำหน้าที่ของรัฐสภา แต่มันทำให้สิ่งที่อุตส่าห์พิจารณากันมาทั้งหมดของกรรมาธิการนั้นต้องตกไป ขณะที่สมชัยชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่กรรมาธิการได้ทำกันมานั้น มีการออกแบบวิธีการเลือกตั้ง เอาผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายสารพัด ทั้งจากสภา จากกฤษฎีกา จาก กกต. มาทำงานแบบทุ่มเท แล้วทุกอย่างกลายเป็นศูนย์ ยิ่งประเมินค่าไม่ได้
ไม่นับราคาของโอกาสของประชาชนที่จะได้กฎหมายเลือกตั้งที่กรรมาธิการช่วยกันออกแบบใหม่ในหลายเรื่องที่ไม่ปรากฏในร่างเดิมของ ครม. เช่น ข้อกำหนดให้ กกต.ต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการสังเกตการณ์การนับคะแนนให้โปร่งใส การให้ กกต.ต้องประกาศผลรายหน่วยในอินเทอร์เน็ตภายใน 72 ชั่วโมงหลังปิดหีบเลือกตั้ง การเปิดโอกาสให้มีการนับคะแนนการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่สถานทูต ไม่ต้องส่งบัตรกลับมานับที่ไทย และอื่น ๆ อีกหลายเรื่องจะหายวับไปกับตาหลังจากร่างกฎหมายที่ตกไป
แต่ความเห็นที่เป็นบทสรุปของสมชัยนั้น เป็นสิ่งที่ประชาชนควรต้องขีดเส้นใต้แล้วรอโอกาสในการที่จะให้บทเรียนกับนักเลือกตั้ง เพราะการกระทำเช่นนี้สิ่งที่สูญหายไปและไม่มีทางหวนคืนคือ “เกียรติภูมิของรัฐสภา” การใช้วิชามารจงใจทำกฎหมายให้ไม่เสร็จภายใน 180 วัน อาจจะเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์รัฐสภาไทยที่เกิดเหตุอัปยศเช่นนี้ขึ้น ทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากพวกอยากชนะเลือกตั้งแต่อ่อนคณิตศาสตร์ คิดไม่ตก คำนวณไม่เป็น ตัดสินใจแล้วย้อนกลับไปกลับมา 3 รอบ
การที่บอกว่ามันคือการกลับกลอกนั้นมันจึงไม่ใช่การกล่าวหาที่ไร้เหตุผล สูตรปาร์ตี้ลิสต์ที่สุดท้ายอยากได้หารร้อย จนถึงขนาดยอมลงทุนให้บรรดาผู้ทรงเกียรติยอมเสียศักดิ์ศรี ดูแคลนเกียรติภูมิของตัวเองเช่นนี้ คงต้องบอกว่าเป็นความหน้ามืดของผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะงัดกลยุทธ์ไหนมาใช้ ทำไอโอกันอย่างหนักเพื่อหวังที่จะเรียกคะแนนนิยมให้กลับคืนมา แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไร้ท่าทีว่าจะกระเตื้อง จนตรอกกันถึงขนาดใช้วิธีที่น่าสมเพชกันขนาดนี้ ไม่อยากมองภาพต่อไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าว่ามันจะสามานย์โสมมกันขนาดไหน