การผูกขาดและมายาคติของธุรกิจโทรคมนาคม

เพิ่งจะมีการตื่นตัวถึงขั้นล่ารายชื่อกันอุตลุดผ่านทางช่องทางประท้วงออนไลน์ เรื่องการผูกขาดทางธุรกิจในธุรกิจโทรคมนาคม ภายใต้การกำกับดูแลของกสทช.


เพิ่งจะมีการตื่นตัวถึงขั้นล่ารายชื่อกันอุตลุดผ่านทางช่องทางประท้วงออนไลน์ เรื่องการผูกขาดทางธุรกิจในธุรกิจโทรคมนาคม ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ที่ควบคุมคลื่นอยู่

เริ่มต้นนับแต่ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ออกมาพูดถึงเรื่องของการควบรวมกิจการไว-ไฟทางอินเทอร์เน็ต ระหว่างค่ายแอดวานซ์-จัสมิน และเลยพาดพิงไปถึงกรณีของควบรวมระหว่างค่ายทรู-ดีแทค โดยไม่ยอมพูดถึงประสิทธิภาพของการที่ผู้บริโภคได้รับจากการควบรวมกิจการ และข้อมูลที่เอามาอ้างในเชิงวิชาการดังกล่าวก็ผิดฝาผิดตัวและอย่างชนิดมั่วซั่วกันไปหมด

จริงอยู่โดยสภาพของการควบรวมกิจการคือการลดความเป็นคู่แข่งขันในตลาดลง แต่นั่นไม่ได้หมายความเสมอไปว่า การควบรวมจะทำให้เกิดการผูกขาดตัดตอนในลักษณะที่ทำให้เกิดค่าเช่าส่วนเกินทางเศรษฐกิจ (economic rent) เสมอไป

ข้อเท็จจริงจากธุรกิจให้บริการไว-ไฟ ในปัจจุบันคือ มีผู้ประกอบการหลายค่าย ได้แก่จัสมิน (ในนามของ 3BB) ที่มีทั้งไว-ไฟผ่านคลื่น และไฟเบอร์ (หรือระบบ fixed line) ค่ายเอไอเอส (ที่มีแต่ระบบคลื่นอย่างเดียว) และค่ายทรูที่ลงทุนไปก่อนหน้ากับรับไฟเบอร์ทั่วประเทศ) แล้วค่ายยักษ์รัฐวิสาหกิจอย่าง ทีโอทีที่มีบริการไม่เอาไหน จนลูกค้าเอือมระอา

เป็นที่ทราบกันดีว่าการตลาดของแต่ละค่ายนั้นทำให้โอกาสของการแข่งขันต่างกันออกไป ยิ่งอนาคตของการสื่อสารผ่านระบบวิดีโอและนอนวอยซ์นั้นกระจายตัวมากขึ้นเท่าใด ค่ายที่มีความพร้อมมากกว่าย่อยมีโอกาสช่วงชิงลูกค้าได้มากกว่า

กลยุทธ์ของค่ายทรู ที่ลงทุนหนักในหลายปีด้วยการสร้างเครือข่ายไว-ไฟแบบไฟเบอร์ที่มีต้นทุนสูงกว่าเพื่อครองความเป็นเจ้าใหญ่เหนือธุรกิจไว-ไฟทั่วประเทศทำให้ค่ายนี้เริ่มได้รับความนิยมมากกว่าค่ายอื่นโดยเฉพาะ ทีโอที (มหาชน) ที่มีโครงการอินเทอร์เน็ตโรงเรียนสร้างเครือข่ายไฟเบอร์ล่วงหน้าเอาไว้อย่างดี แต่บริการเฮง ๆ ซวย ๆ ทำให้คนที่เป็นผู้ใช้บริการไว-ไฟในต่างจังหวัดพากันย้ายค่ายไปทางค่ายทรูมากขึ้น

ผู้เขียนเอง ก็เป็นหนึ่งในผู้เคยใช้บริการไว-ไฟแบบไฟเบอร์ของทีโอทีมาหลายปี ต้องทนทรมานกับบริการที่ไม่เอาไหน เช่นเกิดเหตุขัดข้องที่กาญจนบุรี โทรไปตามช่างมาซ่อม ใช้เวลานานมากเพราะจุดที่ให้บริการอยู่ที่อยุธยา บางครั้งก็ไม่มาเอาเสียเลยต้องรอเป็นเดือนก็เคย

ครั้นจะย้ายไปใช้บริการยังค่าย 3BB ก็ไม่มีระบบไฟเบอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า เพราะค่ายนี้เวลาสั่งซื้อบริการไว-ไฟ จะได้ขนาดต่ำเกินไปไม่ถึงครึ่ง และไม่เสถียรเอาเสียเลย

หลังจากทนใช้มายาวนานกว่า 5 ปี ก็สบช่องเมื่อไว-ไฟ ไฟเบอร์ที่ดีกว่าของทรูโผล่ผ่านบ้านไป ผมจึงไม่รีรอหันมาย้ายใช้ค่ายทรูที่นอกจากจะได้ใช้เกินพิกัดแล้ว ยังเสถียรกว่าด้วย ใช้มา 2 ปีเศษแล้ว มีปัญหาบ้าง ก็ยังพอทนไว้

แถมเมื่อตอนที่ไปยื่นขอยกเลิกการใช้ของทีโอทีนั้น เจ้าหน้าที่ของทีโอทีก็ไม่ทักท้วงอะไรเลย ยอมรับสภาพอย่างเฉยเมยสิ้นดี

ครั้นได้ข่าวว่าต่อมามีไฟเบอร์ไว-ไฟ ของเอไอเอส ความอยากจะย้ายค่ายไปใช้บริการของเอไอเอสไฟเบอร์บ้าง ก็ได้ทราบว่าไม่ยอมเดินสายลงทุนมา เพราะเอไอเอสนั้นเน้นไปที่ชุมชนขนาดหนาแน่นก่อน ทำให้ผู้ใช้บริการกลางทุ่งอย่างบ้านของผู้เขียน เลยจำต้องทนใช้ค่ายทรูไปก่อน ไม่ว่าจะแย่แค่ไหนก็ยังดีกว่าค่ายอื่น ๆ

ทีนี้ ถ้าหากว่าค่ายเอไอเอสจะซื้อกิจการของ 3BB ไปจะเกิดอะไรขึ้น

สำหรับผู้บริโภคบริการไว-ไฟอย่างผู้เขียนที่นั่งอยู่ที่บ้านกลางทุ่ง ในบริเวณกาญจนบุรี-ราชบุรี คงต้องการให้ค่ายเอไอเอสลงทุนทำไฟเบอร์ไว-ไฟมาแข่งกับค่ายทรู เพราะถ้าเอไอเอสไม่ลงทุนใหม่อีกหลายพันล้านบาท คงสูญเงินลงทุนที่ 3BBเปล่า ๆ เพราะคนคงไม่ยอมย้ายจากของค่ายทรูแน่นอน ถ้าไม่มีข้อเสนอที่ดีกว่ามาแข่ง

การแข่งขันด้วยการควบรวมกิจการให้กระชับ ของเอไอเอส-3BB จึงไม่ใช่เรื่องการผูกขาดแน่นอนครับ ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน เพราะมันเข้าข่าย “การร่วมมือของผู้แพ้” ที่มีความเสี่ยงไม่น้อย

เฉกเช่นเดียวกันกับการควบรวมกิจการของทรู-ดีแทค เพราะเป็นปฏิบัติการ “การร่วมมือของผู้แพ้” ที่มองไม่เห็นทางเอาเปรียบทางการตลาดได้เลย

ปฏิบัติการ “ร่วมมือกันของผู้แพ้นี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วในธุรกิจมือถือของ “โนเกีย-ไมโครซอฟท์” ที่ลงเอยด้วยการที่โนเกียถอนตัวจากธุรกิจมือถืออย่างสิ้นเชิง

ทั้งไมโครซอฟท์ และโนเกียล้วนไม่มีโอกาสจะผูกขาดอะไรได้เลย

การล่าลายเซ็นเพื่อต่อต้านการควบรวมกิจการไว-ไฟ และมือถือของทั้งสองกรณี อาจจะเข้าข่ายความ “หลงผิดของนักวิชาการจอมปลอม” ก็ได้นะครับ ลองใคร่ครวญกันให้มาก ๆ

ผมคนหนึ่งละที่ไม่ขอร่วมวงด้วยครับ

ทางที่ดี ผมว่าไปเรียกร้องให้ทางทีโอที (มหาชน) ปรับแรงบริการที่มีเครือข่ายเยอะแยะ แต่บริการห่วยแตกจนลูกค้าเข็ดขยาดมาแล้ว อันนี้น่าทำมากกว่าความกังวลเรื่องผูกขาดอะไรเยอะเลยนะครับ

Back to top button