ตลาดหุ้นเฉา โบรกเกอร์กำไรวูบ

ธุรกิจหลักทรัพย์ฟันฝ่าวิกฤตมาหลายระลอก ปีนี้คงจะต้องมาวัดใจกัน หากปัจจัยลบต่าง ๆ คลี่คลาย โบรกเกอร์ก็จะมีกำไรเป็นกอบเป็นกำอีกครั้งหนึ่ง


เส้นทางนักลงทุน

โบรกเกอร์ 2 รายใหญ่ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แจ้งผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2 และงวด 6 เดือนปี 2565 มีกำไรลดลงอย่างมาก สะท้อนภาพธุรกิจหลักทรัพย์โดยรวมว่าโบรกเกอร์ส่วนใหญ่กำไรน่าจะไม่สู้ดีนัก อันเป็นผลมาจากภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากมีปัจจัยลบหลากหลายเข้ามากดดัน

รวมทั้งจะเห็นว่าแม้ในปีนี้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิดจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงปี 2563-2564 ที่สถานการณ์มีความรุนแรงมากกว่า แต่ในช่วง 2 ปีนั้น โบรกเกอร์กับทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะมีนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกันอย่างมาก

บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASP ซึ่งมีรายได้หลักจากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เป็นโบรกเกอร์รายแรก ๆ ที่แจ้งงบกำไรไตรมาส 2 ปีนี้ลดลงเหลือ 35.12 ล้านบาท ลดลงถึง 85% จากงวดเดียวกันปีก่อน ที่ 231.34 ล้านบาท ส่วน 6 เดือน มีกำไร 181.34 ล้านบาท ลดลงจาก 580.92 ล้านบาท จากงวดปีก่อน ลดลงมากถึง 68.55%

เนื่องจากรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหุ้นในไตรมาสนี้ลดลง 38% ตามปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันของตลาดที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายหุ้นของบริษัทลดลงจาก 4,162 ล้านบาท เป็น 2,822 ล้านบาท

นอกจากนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนก็ลดลง 81.32 ล้านบาท หรือ 22% ส่วนใหญ่มาจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมประสานงานการจัดจําหน่ายหลักทรัพย์ รายได้ค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุน และค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนรวม และด้วยภาวะตลาดไม่ดี ราคาหุ้นปรับลดลง จึงมีผลขาดทุน 98.61 ล้านบาท จากเงินลงทุน

ด้านบล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) หรือ MST รายงานภาพรวมผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2 ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 91.73 ล้านบาท ลดลง 79.58 ล้านบาท หรือลดลง 46.45% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 171.30 ล้านบาท

สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2565 มีกำไรสุทธิ 373.33 ล้านบาท ลดลง 74.71 ล้านบาท หรือลดลง 16.67% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีกำไรสุทธิ 448.04 ล้านบาท

โบรกเกอร์รายนี้รายได้ค่านายหน้าลดลง 368.11 ล้านบาท จาก 1,339.14 ล้านบาท เหลือ 971.03 ล้านบาท หรือลดลง 27.49% เนื่องจากรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง 372.49 ล้านบาท จาก 1,263.54 ล้านบาท เหลือ 891.05 ล้านบาท ลดลง 29.48% อันเป็นผลจากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลงจาก 98,327.80 ล้านบาทต่อวัน เหลือ 87,341.78 ล้านบาทต่อวัน ลดลง 11.17%

และสัดส่วนนักลงทุนบุคคลซึ่งเป็นส่วนรายได้หลักของบริษัทลดลงจาก 48.12% เหลือ 40.63% อันเป็นผลให้มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยของนักลงทุนบุคคลลดลงจาก 47,317.71 ล้านบาทต่อวัน เหลือ 35,486.53 ล้านบาทต่อวัน ลดลง 25%

ในขณะที่รายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพิ่มขึ้น 4.38 ล้านบาท จาก 75.60 ล้านบาท เป็น 79.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.79%

สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้น 27 ล้านบาท จาก 64.01 ล้านบาท เป็น 91.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.18% เนื่องมาจากค่าธรรมเนียมจากการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 19.15 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมการขายและการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้น 10.55 ล้านบาท ในส่วนของค่าที่ปรึกษาทางการเงินลดลง 1.51 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมและบริการอื่นลดลง 1.19 ล้านบาท

โดยรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 111.56 ล้านบาท จาก 401.50 ล้านบาท เป็น 513.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.79% จากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 53.67 ล้านบาท กำไรและผลตอบแทนจากเครื่องมือทางการเงินเพิ่มขึ้น 47.58 ล้านบาท รายได้ดอกเบี้ยจากเงินฝากในสถาบันการเงินและพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้น 7.37 ล้านบาท และรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 2.94 ล้านบาท แต่ค่าใช้จ่ายรวมลดลง 136.85 ล้านบาท จาก 1,243.97 ล้านบาท เป็น 1,107.12 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11%

ผลประกอบการของโบรกเกอร์จะสอดคล้องกับสภาวะการตลาดที่กระแสความไม่แน่นอนยังคงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งตลาดหุ้นภายในประเทศและต่างประเทศ ภาพรวมการซื้อขายปรับตัวลดลง จากการระบาดของโควิดเงินเฟ้อทั่วโลก และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

ตลาดหุ้นไทยช่วงที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดรุนแรงเมื่อปี 2563-2564 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันคึกคักอย่างมาก โดยภาพรวมมีนักลงทุนรายย่อยเป็นกลุ่มหลักที่มีสัดส่วนซื้อขายมากสุด 51.59% ของตลาด ส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนเปิดบัญชีใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น และเข้ามาหารายได้จากการลงทุนในตลาดหุ้น

จากข้อมูลสถิติของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า จำนวนนักลงทุนและจำนวนบัญชีที่เปิดซื้อขายทำสถิติสูงสุดอย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นปี 2564 จำนวนนักลงทุนเพิ่มขึ้นไต่สู่ระดับ 3 ล้านราย และจำนวนบัญชีที่เปิดซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทยทำสถิติสูงสุดใหม่ มีจำนวนบัญชีสูงกว่า 5 ล้านบัญชี

โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 จำนวนนักลงทุนที่เปิดบัญชีทำสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) ที่ 3,101,457 ราย หรือเพิ่มขึ้น 946,557 รายจากสิ้นปี 2563 และล่าสุด ณ เดือนมิถุนายน 2565 มีจำนวนผู้ลงทุนที่เปิดบัญชี 3,254,368 ราย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า นักลงทุนที่แอกทีฟ คือมีการซื้อขายสม่ำเสมอในรอบ 1 เดือน ลดจำนวนลงเหลือ 611,524 ราย จากต้นปีนี้ 754,289 ราย สะท้อนว่านักลงทุนชะลอการลงทุนจากสภาพตลาดอยู่ในทิศทางขาลง ขณะที่บางส่วนติดหุ้น

ธุรกิจหลักทรัพย์ฟันฝ่าวิกฤตมาหลายระลอก ปีนี้คงจะต้องมาวัดใจกัน หากปัจจัยลบต่าง ๆ คลี่คลาย โบรกเกอร์ก็จะมีกำไรเป็นกอบเป็นกำอีกครั้งหนึ่ง

Back to top button