พาราสาวะถี

การเข้าประชุมอย่างทุ่มเท เถียงกันด้วยเหตุผล หากใครแพ้ก็ใช้ช่องทางตามกฎหมาย เสร็จแล้วจบไปสู้กันตอนเลือกตั้งให้ประชาชนตัดสิน


วันนี้ พลเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย จะไปยื่นร้องต่อ กกต. กล่าวหาพรรคเล็กยอมให้พรรคใหญ่ครอบงำ ชี้นำในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง อันเป็นผลพวงจากการเปิดข้อมูลของ ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ว่าด้วยการดูแลกันรายเดือนระหว่างพรรคการเมืองใหญ่กับพรรคการเมืองเล็ก แน่นอนว่า ผลของการยื่นครั้งนี้ปลายทางย่อมนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ถือเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร และ วีระ สมความคิด ได้ไปยื่นกรณีเดียวกันนี้ต่อ ป.ป.ช.เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยการยื่นต่อ กกต.นั้นเป็นการร้องว่ามีการกระทำผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 28 และ 29 ซึ่งมีโทษถึงยุบพรรค พรรคที่ถูกหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยร้องนั้นมีทั้งหมด 7 พรรคการเมือง เป็นพรรคเล็ก 6 พรรค และพรรคใหญ่ 1 พรรค ส่วนพรรคการเมืองหนึ่งได้ถูกยุบพรรคไปก่อนแล้ว ทั้งนี้ จะมีการยื่นให้มีการดำเนินคดีต่ออดีตหัวหน้าพรรค อดีตรองหัวหน้าพรรค และอดีตกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดด้วย

ต้องดูว่าสิ่งที่พรรคการเมืองไปร้องแบบนี้ ประกอบกับสิ่งที่นายทะเบียนพรรคการเมือง หรือเลขาธิการ กกต.อ้างว่าได้ดำเนินการตรวจสอบไปก่อนหน้านั้น จะส่งผลให้กระบวนการพิจารณารวดเร็ว และมีคำตอบให้กับสังคมโดยเร็วหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าพรรคใหญ่ที่อยู่ในข่าย คือ พรรคสืบทอดอำนาจไม่ได้อินังขังขอบต่อเรื่องนี้ เพราะสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.เพิ่งยกคณะไปจังหวัดหนองคายพร้อมประกาศจะกวาด ส.ส.ยกจังหวัด เรียกได้ว่าเกทับบลัฟแหลกกันอย่างหนักสำหรับพื้นที่ภาคอีสาน

แต่ประเด็นสำคัญทางการเมืองเวลานี้ถูกจับจ้องไปที่กระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ โฟกัสกันเฉพาะร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่พยายามยื้อกันสุดฤทธิ์ เพราะฝ่ายกุมอำนาจเกิดเปลี่ยนใจกลางคันจากที่พลิกลิ้นสูตรหาร 100 เป็นหาร 500 เมื่อมีประกาศิตจากผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ แต่ก็กลับลำจะกลับมาใช้สูตรหาร 100 อีก กลับไปกลับมาจนเสียฟอร์ม สุดท้ายเลยเลือกที่จะเล่นใหญ่ให้รัฐสภา โดยสมาชิกผู้ทรงเกียรติยอมเสียศักดิ์ศรี สูญเสียเกียรติภูมิแทน

ด้วยการพิจารณาร่างกฎหมายไม่ทันกรอบเวลา 180 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ จุดชี้วัดสำคัญอยู่ที่การประชุมรัฐสภาในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ มีการตั้งข้อสังเกตเหตุที่ฝ่ายกุมอำนาจเปลี่ยนท่าทีชนิดที่ไม่สนใจเสียงวิจารณ์ใด ๆ นั้น ถือเป็นปฏิบัติการต้มพรรคเล็กที่ถูกหลอกให้ยกมือโหวตไว้วางใจรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในศึกซักฟอกที่ผ่านมา แต่เรื่องนี้ นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง พรรคเล็กไม่มีการต่อรองใด ๆ ทั้งสิ้น

เป็นธรรมดาใครจะบ้าไปยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง มีหวังได้ถูกร้องให้ยุบพรรคอีกเป็นแน่ สิ่งที่น่าสนใจต่อความเคลื่อนไหวของหมอระวีในฐานะผู้ที่เป็นแกนหลักผลักดันให้มีการผ่านความเห็นชอบในวาระสองด้วยสูตรหาร 500 คือ การเรียกร้องไปยังพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.หัวหน้าพรรคสืบทอดอำนาจต่อการตัดสินใจในเรื่องที่เกิดขึ้น ทั้งยังจี้ให้แสดงความรับผิดชอบในฐานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่สำคัญ ต้องมีท่าทีที่ชัดเจน รวมทั้งการสั่งสอน ส.ส.ของพรรคตัวเองเรื่องมารยาททางการเมืองด้วย

พอจะเข้าใจได้ท่วงทำนองของพรรคเล็กโดยเฉพาะหมอระวีนั้น ยังไงก็ต้องการให้เป็นสูตรหาร 500 โดยมีการขู่ด้วยว่าสงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร เพราะวิธีการที่ทำกันอยู่นั้นเรียกว่า “ต้อนให้หมาจนตรอก” ก็ไม่รู้ว่าจะมีการงัดข้อกฎหมายใดมาใช้เล่นงานกันอีก ที่แน่ ๆ จะมีการไปยื่นร้องให้มีการสอบจริยธรรม ส.ส.ที่ขาดการประชุม หรือร่วมประชุมแต่ไม่แสดงตัวเป็นองค์ประชุม ประเด็นนี้คงไม่สร้างความหวาดวิตกให้กับนักเลือกตั้งทั้งหลายแต่อย่างใด เพราะมีเหตุให้อ้างได้สารพัด

รวมไปถึงเรื่องที่มีการเรียกร้องให้ ส.ส.และ ส.ว.ลากตั้ง ลงมติโดยยึดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 114 ซึ่งก็เป็นเหมือนการเขียนให้ดูสวยหรู หรือเป็นทางออกสำหรับ ส.ส.ที่แหกมติพรรคเหมือนที่มีการแจกกล้วยเลี้ยงงูเห่ากันนั่นแหละ เพราะมาตราดังกล่าวระบุว่า ส.ส.และ ส.ว.ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงําใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

เมื่อคนโดยทั่วไปก็รู้กันอยู่แล้วว่า กระบวนการพิจารณาทางการเมืองที่จะต้องผ่านความเห็นชอบโดยอาศัยเสียงของนักเลือกตั้งนั้น มันเต็มไปด้วยผลประโยชน์และการต่อรอง เห็นกันจะจะมาแล้วจากความเคลื่อนไหวของพวกเคาะกะลาจากศึกซักฟอกที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้วสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์นั้น ไม่ว่าจะเลือกแบบไหนควรที่จะใช้เสียงของสภาเป็นตัวชี้ขาด ไม่จำเป็นต้องใช้กลเกมด้อยค่าทำให้สภาเสียศักดิ์ศรีเช่นที่เตรียมจะกระทำกันอยู่

เรื่องนี้ สมชัย ศรีสุทธิยากร สะกิดเตือนเรียกหาสำเหนียกจากบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายว่า พรรคการเมือง จะเล็กหรือจะใหญ่ จะใหม่หรือจะเก่า ไม่สำคัญเท่าวิธีการที่พรรคใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง หากเปิดเผย โอ่อ่า ตรงไปตรงมา ชนะคะคานโดยใช้เหตุผล คือความสง่างามของพรรคและจะเป็นการยอมรับศรัทธาของประชาชน การไม่เข้าประชุมทำให้สภาล่ม เพียงเพื่อหวังผลการสร้างกติกาการเมืองในแบบที่ตนได้เปรียบ ไม่ใช่ความสง่างาม ไม่ว่าพรรคนั้นจะขนานนามตัวเองว่าอยู่ในซีกฝั่งใดก็ตาม

การเข้าประชุมอย่างทุ่มเท เถียงกันด้วยเหตุผล หากใครแพ้ก็ใช้ช่องทางตามกฎหมาย เสร็จแล้วจบไปสู้กันตอนเลือกตั้งให้ประชาชนตัดสิน ดีกว่าตีรวนไม่เข้าประชุม แล้วมาอ้างเป็นช่องทางที่ทำได้เพราะเขาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ มีสำนึกรับผิดชอบบ้างไหม บอกได้คำเดียวว่า ไม่มี เพราะการเมืองในความหมายของนักเลือกตั้ง คือ ทำทุกทางเพื่อให้พรรคและพวกตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุด ด้วยเหตุนี้มันจึงทำให้ขบวนการสืบทอดอำนาจใช้เป็นข้ออ้างกับประชาชนมาจนถึงทุกวันนี้ ขออยู่กันยาว ๆ เพื่อปฏิรูปการเมืองให้สำเร็จ

Back to top button