พาราสาวะถี
ส่งสัญญาณสร้างความมั่นใจกันจนวินาทีสุดท้าย ก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันนี้
ส่งสัญญาณสร้างความมั่นใจกันจนวินาทีสุดท้าย ก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันนี้ (10 ส.ค.) ที่สังคมจับตามอง คือ องค์ประชุมจะครบหรือไม่ วิษณุ เครืองาม เนติบริกรศรีธนญชัยข้างกายผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและขบวนการสืบทอดอำนาจ การันตีอีกครั้งเรื่องที่บรรดา ส.ส.ทั้งพรรคสืบทอดอำนาจและพรรคเพื่อไทยจะไม่ร่วมประชุม หรือประชุมแต่ไม่แสดงตัวเป็นองค์ประชุมนั้น ยังไม่ถึงขั้นที่จะบอกว่าเป็นการผิดจริยธรรม
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เพราะมันเป็นอาวุธของสภาที่จะใช้ในการคัดค้านสิ่งที่ตนไม่เห็นด้วย เหมือนกับเดินออกหรือวอล์กเอาท์ หรือการนั่งอยู่แต่ไม่ยอมยกมือ เพราะฉะนั้นในเรื่องขององค์ประชุมคงจะถือว่าเป็นเรื่องจริยธรรมยาก “แม้ว่าจะน่าตำหนิก็ตาม” ผู้ช่ำชองยืนยันมาแบบนี้ ก็คงไม่ต้องไปคาดเดาต่อว่าการประชุมในวันนี้จะมีบทสรุปออกมาเช่นไร เหมือนที่ได้ยกเอาไทม์ไลน์มาบอกกันไปวันก่อน ทุกอย่างมีสตอรี่รองรับ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างกับประชาชนเรียบร้อย
ทั้งที่ความจริงประเด็นของร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เกี่ยวกับสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ไม่ว่าจะหาร 100 หรือ 500 นั้น สิ่งที่นักเลือกตั้งโดยเฉพาะฝ่ายกุมอำนาจเป็นห่วงนั้นหาใช่เรื่องระบบที่ว่าแบบไหนจะดีกว่ากัน หากแต่เป็นเรื่องการกำหนดแบบไหนแล้วพรรคใดจะได้เปรียบ พวกไหนจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน มันเป็นความน่าเศร้า น่าสมเพช ซึ่งประชาชนจำนวนหนึ่งหรือจะพูดให้ชัด คือ พวกไปร่วมเป่านกหวีดควรที่จะเขกกบาลตัวเอง โทษฐานที่ถูกหลอกว่าไล่พวกหนึ่งแล้วจะได้การปฏิรูปที่งดงาม อย่างที่เห็นภาพการเมืองเวลานี้ฟอนเฟะมากกว่าในอดีตเสียอีก
นั่นเป็นเพราะผู้มีอำนาจต้องการที่จะอยู่ในตำแหน่งให้นานที่สุด โดยไม่สนใจว่าทิศทางของประเทศจะเดินกันอย่างไร ลืมสิ่งที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ไปหมดสิ้น จะว่าไปแล้วมันก็มีสัญญาณเด่นชัดอยู่แล้วเรื่องเราจะไม่ทำตามสัญญา ทั้งขอเวลาอีกไม่นาน และการจะคืนความสุขให้คนไทย ทั้งสองอย่างล้วนแต่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง จะมีเพียงก็แต่พวกหลับหูหลับตาเชียร์เท่านั้น ที่มืดบอดมองเห็นสิ่งที่คนในชาติส่วนใหญ่กำลังเผชิญอยู่เวลานี้เป็นความสำเร็จในการทำหน้าที่ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะ
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่เมื่อไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จทันกรอบเวลา 180 วันตามกฎหมายกำหนดแล้ว มีอันต้องตกไป โดยจะไปใช้ร่างเดิมของรัฐบาลที่ กกต.เป็นผู้เสนอ ซึ่งมีการระบุสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ชัดเจนคือหาร 100 แต่ใช่ว่าการจบลงด้วยวิธีนี้ทุกอย่างจะราบรื่น เรียบร้อย ท้ายที่สุดคงหนีไม่พ้นที่จะมีการไปยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยช่องทางหนึ่งช่องทางใดอย่างแน่นอน
คำถามที่จะตามมาคือ ปลายทางของเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร การเลือกตั้งครั้งหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านการแก้ไขให้มีการเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ รูปแบบจะเป็นอย่างไร สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.เขียนบทความนำเสนอต่อกรณีที่จะมีการยื่นเรื่องให้ตีความร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งต่อศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะมีทางออก 4 ทาง คือ ช่องทางแรกศาลไม่รับคำร้องเนื่องจากช่องทางตามมาตรา 148(1) มีไว้ให้กับการตีความร่างพระราชบัญญัติทั่วไป แต่ที่มีการยื่นให้มานั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจพิจารณาได้ เพราะขัดต่อกฎหมาย
ช่องทางที่สอง ศาลรับเรื่องไว้พิจารณาและมีความเห็นว่าประเด็นเนื้อหาที่ร้องนั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงยกคำร้อง วินิจฉัยว่าไม่มีอะไรขัด ช่องทางที่สามศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา และมีความเห็นว่ามีบางส่วนของร่างพระราชบัญญัติที่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญ จึงวินิจฉัยให้ข้อความส่วนดังกล่าวตกไป และให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นผู้ทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป
ช่องทางสุดท้าย ศาลรับเรื่องไว้พิจารณาและมีความเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้น “ถือเป็นสาระสำคัญ” ของกฎหมาย ในกรณีนี้ร่างพระราชบัญญัติก็จะตกไปทั้งฉบับ ต้องไปนับหนึ่งในกระบวนการในการออกกฎหมายใหม่ ซึ่งหากประเมินจากช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันน่าจะไม่ทันกับการแก้ไข ความน่าสนใจมันจึงอยู่กับสิ่งที่จะตามมาหลังจากกฎหมายลูกสำคัญตกไป
หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงที่กฎหมายลูกยังไม่มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ได้แก้ไขไปแล้วในประเด็นระบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนจากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ และเปลี่ยนสัดส่วนของ ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จาก 350 : 150 เป็น 400 : 100 จะกลายเป็นเรื่องที่ ครม.และ กกต.ต้องหาทางออกในการให้มีกฎหมายเพื่อใช้เป็นหลักในการจัดการเลือกตั้งให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้ว ซึ่ง กกต.อาจเป็นผู้ออกประกาศ คำสั่ง เกี่ยวกับกติกาการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมเอง
แต่หากเป็นแนวทางนี้ กกต.จะต้องเป็นผู้รับผิดโดยตรงหากมีการร้องภายหลังว่า ประกาศหรือคำสั่งนั้นเป็นการออกโดยมีสาระที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ถ้าเช่นนั้น กกต.คงไม่เลือกใช้วิธีนี้ อีกวิธีคือ ให้คณะรัฐมนตรีใช้มติ ครม.ในการออกพระราชกำหนดหรือ พ.ร.ก.ที่มีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ แต่เกิดขึ้นในกรณีจำเป็นฉุกเฉิน เนื่องจากจะเลือกตั้งแต่ยังไม่มีกฎหมายลูก โดย พ.ร.ก.ดังกล่าวอาจจะมาจากการเสนอของ กกต.และเป็นไปตามความต้องการของคณะรัฐมนตรี
ฉายภาพให้เห็นกันอย่างนี้ ย่อมมองออกว่าถ้าเช่นนั้นเลือกตั้งครั้งหน้ากระบวนการจะออกมาเป็นอย่างไร หนีไม่พ้นการดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและลิ่วล้อสอพลอทั้งหลาย แต่มันคงไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนที่ผ่านมา เพราะประชาชนผ่านการเรียนรู้ รับรู้และสัมผัสกับผลของการอยู่ในอำนาจมากว่า 8 ปีของขบวนการสืบทอดอำนาจแล้ว คอยดูกันว่าระหว่างความจัดเจนในการใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อกุมความได้เปรียบ กับเสียงของประชาชนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงนั้นบทสรุปจะเป็นอย่างไร