พาราสาวะถี

เสียเวลาเปล่าๆ ปลี้ๆ ที่ใครต่อใครพากันไปหยิบยกเอาความเห็นของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จากการประชุมครั้งที่ 500 ซึ่งประชุมเมื่อ 7 กันยายน 2561


เสียเวลาเปล่า ๆ ปลี้ ๆ ที่ใครต่อใครพากันไปหยิบยกเอาความเห็นของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จากการประชุมครั้งที่ 500 ซึ่งประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 โดย สุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ.คนที่ 1 ให้ความเห็นต่อที่ประชุมว่า หากนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ เมื่อประเทศไทยยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวรวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย

มันไม่มีประโยชน์อะไรกับสิ่งที่ก็รู้กันอยู่แล้วว่า เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างมันสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ และก็ง่ายมากแทบจะไม่ต้องคิดกับสิ่งที่นำมาตีเป็นประเด็นกันนั้น จะถูกตีความว่าเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับมติของ กรธ. แล้วก็เป็นเช่นนั้นเมื่อสุพจน์ให้สัมภาษณ์ย้ำว่า ที่ปรากฏเป็นข่าวเป็นเพียงความเห็นเริ่มต้นไม่ใช่มติของที่ประชุม มิหนำซ้ำ ยังประชดประชันคนที่นำมาโจมตีด้วยว่าเป็นการฟังไม่ได้ศัพท์จับเอามากระเดียด

เมื่อฟังจากสิ่งที่สุพจน์อธิบายชี้แจงก็ชัดเจนว่า การนับอายุ 8 ปีในการดำรงตำแหน่งของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็คือให้เริ่มตั้งแต่วันโปรดเกล้าฯ หลังจากการได้รับเลือกจากที่ประชุมรัฐสภาหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 อันจะเป็นผลทำให้ท่านผู้นำสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ยาวนานไปจนถึงปี 2570 แม้จะออกตัวว่าอย่าเอาความเห็นของตัวเองเป็นหลัก ทุกอย่างต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องถามต่อว่าแล้วก่อนหน้านั้นสุพจน์เคยเป็นอะไรมาก่อนที่จะเป็นร่วมร่างรัฐธรรมนูญ

อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ที่สร้างความจดจำอันหดหู่ให้กับคนไทยทั้งประเทศ และทำให้คนทั้งโลกตะลึงกันนั่นไง กับคำวินิจฉัยปมรถไฟความเร็วสูงยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่คนผู้นี้ระบุว่า “เอาถนนลูกรังให้หมดไปจากประเทศไทยก่อน ทำสิ่งต่าง ๆ ให้เสร็จก่อนไปคิดถึงระบบความเร็วสูง ความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า ความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทย และเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทนี่ คุณชัชชาติ (สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขณะนั้น) ตายไปเกิดใหม่มารุ่นลูกรุ่นหลานก็ยังใช้หนี้ไม่หมดเลย”

ไม่รู้จะเรียกความเห็นแบบนี้ว่าอะไร แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ปรากฏภาพของสุพจน์ไปนั่งรถไฟความเร็วสูงที่ไต้หวันตามสื่อต่าง ๆ ขณะที่รัฐบาลเผด็จการ คสช.และรัฐบาลสืบทอดอำนาจก็เดินหน้าสร้างรถไฟความเร็วสูง โดยที่คนอย่างสุพจน์ไม่มีปากมีเสียงแม้แต่นิดเดียว หรือเป็นเพราะได้ร่วมในขบวนการสืบทอดอำนาจ มันจึงซึมซับเอาความอย่างหนาเข้าไปในตัว ความจริงอาจจะมีมาก่อนที่จะโดดร่วมขบวนเสียด้วยซ้ำไปกับนิสัยแบบนี้

ความจริงเรื่องคำวินิจฉัยต่อการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทสร้างรถไฟความเร็วสูงยุคยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่มีแค่ประเด็นถนนลูกรังเท่านั้น หากแต่ผลพวงจากการตีความครั้งนั้น ยังมีประเด็นที่ถูกหยิบยกมาเทียบเคียงถึงมาตรฐานหรือบรรทัดฐานในการวินิจฉัยขององค์กรอิสระแห่งนี้ด้วย เนื่องจากครั้งนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีอีกหนึ่งเหตุผลที่ชี้ชัดว่าร่าง พ.ร.ก.กู้เงินดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ คือ มี ส.ส.บางคนกดบัตรลงคะแนนแทนกัน จึงนำไปสู่การชี้ว่าการตราร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ความเห็นอันสวยหรูของผู้ทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเวลานั้นก็คือ หลักการสำคัญในระบบรัฐสภา ส.ส. 1 คนควรจะมี 1 เสียง ประการสำคัญผู้เป็น ส.ส.ต้องไม่อยู่ในอาณัติหรือถูกครอบงำใด ๆ ดังนั้น มติที่ออกมาจึงเป็นมติที่ไม่ชอบ กรณีนี้น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญ แต่ก็มีเหตุ ส.ส.เสียบบัตรแทนกันเกิดขึ้นอีกในยุคของรัฐบาลสืบทอดอำนาจ และเป็นการพิจารณากฎหมายสำคัญคือร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 วาระสอง ตั้งแต่มาตรา 31 เป็นต้นไป และวาระสาม เห็นชอบทั้งฉบับ

เหตุการณ์นั้น นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้น ร้องว่า “มีส.ส.ในพรรคฝ่ายรัฐบาลกดบัตรลงคะแนนแทนกัน” โดยที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรก็ยอมรับว่าเป็นความจริง ทำให้ประธานสภาฯ ส่งความเห็นของ ส.ส.ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ดังกล่าว ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 เสียงว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

โดยคำวินิจฉัยนั้นระบุว่า ส.ส.ที่เสียบบัตรแทนนั้น เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตใช้สิทธิออกเสียงลงมติแทนผู้ที่ไม่ได้อยู่ร่วมประชุม เป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็น ส.ส. ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ทั้งสมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 วรรคสาม การออกเสียงลงคะแนนจะกระทำแทนกันมิได้ตามข้อบังคับการประชุมสภา พ.ศ. 2560 ข้อ 80 วรรคสาม

แต่ผลจากการกระทำดังกล่าวของ ส.ส.ที่ถูกกล่าวหานั้น มีความเห็นว่าคดีนี้ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับข้อความอันเป็นสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่มีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการตราร่าง พ.ร.บ. เท่านั้น ข้อเท็จจริงในทางคดีก็ปรากฏชัดว่าการพิจารณาออกเสียงของสภาในวาระ 1 รับหลักการ และการพิจารณาของคณะกรรมาธิการก่อนเสนอสภาพิจารณาวาระ 2 ได้ดำเนินการโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ ถือได้ว่าเป็นขั้นตอนที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ก่อนแล้ว

สุดท้ายคือ มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศชาติจะต้องได้กฎหมายฉบับนี้ไปช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าและอุปสรรคในการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดิน จึงอาศัยอำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74 ให้สภาดำเนินการให้ถูกต้องเฉพาะในวาระที่ 2 และ 3 จากนั้นให้เสนอร่างที่แก้ไขแล้วให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญต่อไป ความไม่คงเส้นคงวาในมาตรฐานการวินิจฉัยนั้น มีผลต่อความน่าเชื่อถือขององค์กร และนำมาซึ่งความเสื่อม จนกระทั่งจากที่เคยวิจารณ์กันได้ก็ต้องใช้กฎหมายปิดปาก จากที่เคยก้าวหน้ากลายเป็นถอยหลังลงคลองไปเสียฉิบ

Back to top button