กลยุทธ์ลงทุนช่วงสั้นเน้นหุ้นมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว

SCBS มองภาพทิศทางเศรษฐกิจการลงทุนในปัจจุบันอยู่ในสภาวะ Goldilock คือ เศรษฐกิจกำลังเริ่มชะลอตัว โดยเฉพาะภาคการผลิต


SCBS มองภาพทิศทางเศรษฐกิจการลงทุนในปัจจุบันอยู่ในสภาวะ Goldilock คือ เศรษฐกิจกำลังเริ่มชะลอตัวโดยเฉพาะภาคการผลิต ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการซื้อสินค้าหลังการเปิดเมืองเริ่มลดลง ขณะที่ภาคบริการเริ่มชะลอลงเช่นกัน แต่ยังมีความต้องการเดินทางหลังเปิดเมืองอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจในยุโรปน่ากังวลที่สุด เนื่องจากปัญหาขาดแคลนพลังงานที่จะมีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้สะท้อนมายังตัวเลขเศรษฐกิจจริงแล้ว ซึ่งด้วยภาพเช่นนี้ บ่งชี้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะเริ่มลดลง ทำให้ธนาคารกลางต่าง ๆ โดยเฉพาะ Fed สามารถลดระดับการขึ้นดอกเบี้ยได้

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามากขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ในไต้หวันซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการกระทำของทางการสหรัฐฯ เองเพื่อให้ได้แต้มต่อในเชิงการเมือง ขณะที่ประเด็นการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน ทางฝั่ง OPEC+ อาจไม่สามารถและไม่ต้องการเพิ่มกำลังการผลิตมากนัก เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับสูงท่ามกลางความต้องการโลกที่เริ่มลดลง ทั้งนี้ในเดือน มิ.ย. OPEC เพิ่มกำลังการผลิตจริงเพียง 2.34 แสนบาร์เรล/วัน ต่ำกว่าเป้าที่ 4.32 แสนบาร์เรล/วัน โดยความต้องการที่เริ่มชะลอลงตามสภาพเศรษฐกิจ ขณะที่การผลิตไม่อาจเพิ่มขึ้นได้มากนักทำให้เรามองว่า ราคาน้ำมันน่าจะทรงตัวในระดับปัจจุบันหรือปรับขึ้นเล็กน้อยในช่วงต่อไป

ส่วนตลาดหุ้นไทยนั้น SCBS มองว่าแม้ตลาดการเงินโลกจะผ่อนคลายขึ้นหลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เงินเฟ้อพื้นฐาน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ชะลอตัวลง ทำให้มีความคาดหวังว่าเฟดมีโอกาสจะเปลี่ยนท่าทีต่อนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น แต่ยังมีปัจจัยความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจโลกเกิดภาวะถดถอยและความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังต้องระมัดระวังต่อไป ทำให้การปรับขึ้นของ SET Index จะยังถูกจำกัด ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนช่วงสั้นนี้จึงยังเป็นไปอย่างระมัดระวังและเลือกกลุ่มลงทุน โดยแนะนำ Selective Buy” ในหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวดังนี้

1) หุ้น Big Cap. ที่คาดได้อานิสงส์จาก Fund Flow ที่มีแนวโน้มไหลเข้าและ Valuation ยังไม่แพง เลือก KBANK, BDMS

2) หุ้นที่ได้ประโยชน์จากจำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวหลังหลายประเทศมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์และเปิดประเทศ ช่วยหนุนโมเมนตัมกำไรเติบโตดีเลือก ERW, MINT, CRC และ AOT

3) หุ้นที่คาดผลการดำเนินงานครึ่งหลังปี 65 มีแนวโน้มเติบโตดี และยังมีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในช่วง ส.ค.-ก.ย. เลือก PTT, BCP, LH  และ SPALI

ในทางกลับกันช่วงสั้นแนะนำให้หลีกเลี่ยงหรือเพิ่มความระมัดระวังการลงทุน สำหรับกลุ่มที่มีปัจจัยลบกดดันผลประกอบการและ/หรือ ราคาหุ้น ดังนี้

1) หุ้นที่คาดได้ผลกระทบลบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดจะได้รับผลกระทบเชิงลบมากสุด นำโดย กลุ่มขนส่งพัสดุ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (กระทบกำไรลงราว 6-12%) และกลุ่มอาหาร (กระทบกำไรลงราว 10%)

2) หุ้นที่คาดได้รับ Sentiment ลบจาก ส.อ.ท. เตรียมปรับลดเป้าหมายการผลิตและส่งออกรถยนต์ เนื่องจากผู้ประกอบการประสบปัญหาขาดแคลนชิป อาทิ NYT, SAT, AH และ STANLY

3) หุ้นอิเล็กทรอนิกส์อย่าง DELTA, KCE หลังราคาหุ้นปรับขึ้นแรงแล้ว อีกทั้งล่าสุด guidance ของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีชั้นนำของโลกไม่สดใสและเริ่มเห็นสัญญาณคำสั่งซื้อชะลอตัว

4) หุ้นกลุ่มเดินเรือเทกอง อาทิ PSL, TTA ซึ่งคาดได้ Sentiment ลบจากการปรับตัวลงต่อเนื่องของดัชนี BDI ซึ่งล่าสุด BDI Index ปรับตัวลงทำจุดต่ำสุดในรอบ 6 เดือน

สุกิจ อุดมศิริกุล

กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด

Back to top button