พาราสาวะถี
จุดสำคัญที่ทำให้ ส.ว.ลากตั้งส่วนใหญ่ตัดสินใจเทสูตรหาร 500 ก็เพราะต้องการตัดวงจรอุบาทว์เรื่องการแจกกล้วย ไม่ใช่ความต้องการให้การเมืองใสสะอาด
ต้องชื่นชมในความพยายามของ ชวน หลีกภัย ต่อการประชุมรัฐสภาเมื่อวานนี้ ด้วยความหวังว่าองค์ประชุมจะครบ และสามารถเดินหน้าพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ผ่านพ้นไปได้ สุดท้ายแล้วเมื่อทุกอย่างมันผ่านกระบวนการอันเป็นบทสรุปของพรรคการเมืองฝ่ายแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคสืบทอดอำนาจมาแล้ว ความพยายามของจอมหลักการจึงล้มเหลวหลังจากใช้เวลาลากยาวพอรอองค์ประชุมครบนานเกือบชั่วโมงครึ่ง
ทั้งที่ในการประชุมร่วมวิป 3 ฝ่ายเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ประธานรัฐสภายืนยันแล้วว่า หลังจากเริ่มประชุมในเวลา 9 โมงเช้าแล้ว รอสมาชิกไปจนถึง 10 โมงถ้าองค์ประชุมไม่ครบก็จะสั่งปิดการประชุมทันที ท้ายที่สุดเมื่อถึงเวลาตามที่ตกลงเจ้าตัวก็บอกว่า ตนพูดแบบนั้นจริง แต่วันนี้ยังไม่ได้ตกลงกันเรื่องเวลา ขอโอกาสให้สมาชิกทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ นี่คือชั้นเชิงของคนที่คร่ำหวอดอยู่ในการเมือง และชี้ให้เห็นว่าอย่าได้ยึดถือข้อตกลงอะไรที่เป็นเพียงคำพูด
วันนั้นตกลงกันไว้อย่างนี้จริง แต่วันนี้ยังไม่ได้ตกลงเรื่องของเวลากัน สรุปคือต่อไปจะประชุมพิจารณาอะไรกัน ต้องเรียกประชุมวิป 3 ฝ่ายให้มีบทสรุปจนถึงวันประชุม ไม่ต้องสัญญาอะไรกันไว้ล่วงหน้าอย่างนั้นใช่หรือไม่ พอจะเข้าใจได้ในฐานะจอมหลักการก็ต้องเดินหน้าให้การประชุมเป็นไปตามครรลองให้ได้มากที่สุด เมื่อยื้อไม่ได้ก็ต้องปล่อยไปตามนั้น เป็นอันว่าร่างกฎหมายลูกที่มีสูตรหาร 500 เป็นตัวสร้างปัญหา ก็มีอันต้องตกไป และหันกลับไปใช้ร่างแรกที่เสนอโดย ครม.จากการยกร่างของ กกต.ที่ใช้สูตรหาร 100 นั่นเอง
สำหรับกระบวนการหลังจากนี้ ประธานรัฐสภาต้องส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้ กกต.ในฐานะองค์กรอิสระให้ความเห็นกลับมาภายใน 10 วัน โดยเชื่อว่า กกต.จะไม่มีความเห็นแย้ง จากนั้นก็จะส่งให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ 5 วัน เพื่อดูว่าจะมีใครไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้ ไทม์ไลน์ที่ชัดเจนในกระบวนการนี้ สมชัย ศรีสุทธิยากร ได้อธิบายให้เห็นภาพโดยชัดเจนว่า วันนี้ (16ส.ค.) ประธานรัฐสภานำส่งร่างของ ครม.ให้ กกต. โดย กกต.มีเวลาให้ความเห็น 10 วันนับแต่ได้รับร่าง
เมื่อครบกรอบเวลา 10 วันแล้ว วันที่ 26 สิงหาคม ประธานรัฐสภาต้องนำส่งร่างให้นายกรัฐมนตรี และต้องพักรอ 5 วันก่อนนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย กรณีที่ไม่มีใครไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในที่นี้ก็หมายถึง ส.ส.และ ส.ว.ที่สามารถเข้าชื่อยื่นร้องได้นั้น นายกฯ จะต้องนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันที่ 1 กันยายน แต่เชื่อว่าจะมีการเข้าชื่อเพื่อยื่นให้ตีความอย่างแน่นอน โดยจะต้องมี ส.ส.และ ส.ว.ร่วมลงชื่อกัน 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่
ปัจจุบันจะต้องรวบรวมรายชื่อให้ได้ 73 รายชื่อขึ้นไป ที่จะขับเคลื่อนแน่ ๆ คงเป็น นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะคนที่ผลักดันให้ที่ประชุมรัฐสภาผ่านการใช้สูตรหาร 500 แต่สุดท้ายเหมือนถูกหลอกให้เฮเก้อในที่สุด สิ่งที่ตามมาหลังจากรัฐสภาตีตกร่างกฎหมายดังกล่าวคงเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อท่าทีของพรรคสืบทอดอำนาจ โดยเฉพาะกับพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ที่ถูกมองว่ามีบทบาทอย่างสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกทางเดินแบบนี้
เสียงครหาที่หนักหน่วงรุนแรงต่อพฤติกรรมของพรรคแกนนำรัฐบาลนั้นมาจากทั้งสมชัย และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ จนถึงขนาดที่พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ไฟเขียวให้ ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคสืบทอดอำนาจ ฐานะซามูไรกฎหมายเดินหน้าฟ้องร้องกับสองคนที่วิจารณ์ให้ร้ายพรรคไปในทางเสื่อมเสีย เป็นธรรมดาเมื่อทั้งคู่ที่ถูกหมายหัวมีพรรคการเมืองสังกัด ย่อมถูกมองได้ว่าการกล่าวหาทั้งหลายนั้นเป็นไปโดยไม่สุจริตเพื่อหวังผลต่อพรรคต้นสังกัดของตัวเอง
รายของสมชัยนั้นพอเข้าใจได้ เพราะแสดงท่าทีที่ชัดเจนอยู่แล้วในทางการเคลื่อนไหว ถือเป็นฝ่ายตรงข้ามพรรคสืบทอดอำนาจและผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจชัดเจน แต่รายของพีระพันธุ์ที่เพิ่งรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคหมาด ๆ โดยถูกมองว่าเป็นพรรคที่ตั้งมาเพื่อรองรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจโดยตรง ย่อมหวังผลต่อสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ 500 เป็นด้านหลัก ฐานะพรรคเกิดใหม่เป้าหมาย ส.ส.เขตจะมีได้ก็ต่อเมื่อบรรดาอดีต ส.ส.ทั้งหลายได้ประกาศความชัดเจนที่จะย้ายคอกมาสังกัดแล้วเท่านั้น
แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าการตัดสินใจพลิกเกมเช่นนี้ คงไม่ใช่เรื่องของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.เพียงลำพัง แม้ข่าวคราวเรื่องการไม่ลงรอยกับน้องทั้งสองจะหนักหน่วงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการทำให้สภาล่มแล้วร่างกฎหมายมีอันต้องตกไปนั้นสัญญาณชัดเริ่มมาจากทำเนียบรัฐบาลก่อน ตั้งแต่คราวการให้สัมภาษณ์ของ วิษณุ เครืองาม ขณะเดียวกัน ถ้ามองว่าฝ่ายน้องทั้งสองไม่เอาด้วยกับพี่ใหญ่ก็แค่สั่งการผ่าน ส.ว.ให้ระดมคนไปร่วมประชุมให้พร้อมเพรียง ทุกอย่างก็ราบรื่น เรียบร้อย ได้ดั่งใจอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม มีการมองต่อไปอีกว่าการจบลงของร่างกฎหมายลูกแบบนี้โดยที่ ส.ว.เอาด้วยนั้น เป็นผลสะท้อนให้เห็นว่า อำนาจในการสั่งการ หรือต้องการให้พวกลากตั้งซ้ายหันขวาหันเหมือนก่อนหน้านั้น ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ตามที่เคยบอกไปก่อนหน้าการเมืองเมื่อต้องเข้าสู่โหมดที่ประชาชนเริ่มเบื่อหน่ายอำนาจสืบทอด และคะแนนนิยมของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเสื่อมทรุด พวกรู้งาน อยู่เป็นย่อมมองหาที่หมายใหม่ การตัดสินใจต้องเด็ดขาด มิเช่นนั้น จะตกขบวนของอำนาจที่จะกลับมาหลังเลือกตั้งครั้งต่อไป
จุดสำคัญที่ทำให้ ส.ว.ลากตั้งส่วนใหญ่ตัดสินใจเทสูตรหาร 500 ก็เพราะต้องการตัดวงจรอุบาทว์เรื่องการแจกกล้วย ไม่ใช่ความต้องการให้การเมืองใสสะอาด แต่เป็นความไม่พอใจในฐานะที่ตัวเองมีบทบาทอย่างสำคัญต่อการยกมือโหวตให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้ไปต่อ ทว่าการดูแลกลับแตกต่างจากพวกนักเลือกตั้งโดยสิ้นเชิง จะอิ่มหมีพีมันกันเฉพาะพวกใกล้ชิด สายตรงและคนที่อยู่เป็นเท่านั้น รัฐธรรมนูญที่เขียนสวยหรูว่าให้ ส.ว.มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ 5 ปีแรกเพื่อแก้วิกฤต แท้จริงแล้วกลับวิกฤตหนักกว่าเดิม มิหนำซ้ำ ยังมีปมวาระนายกฯ 8 ปีที่เป็นปัญหา เดิมทีคิดว่าไม่น่ามีอะไร แต่นาทีนี้ไม่รู้จะหมู่หรือจ่า