ฝรั่งแรลลี่ และ TLI

เหตุผลของการการตั้งข้อสงสัยมาจากตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจขนาดที่ฝรั่งขนเงินมาลงทุนในไทยมากสุดในกลุ่มตลาดหุ้นอาเซียนได้อย่างไร


เมื่อวานนี้นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยอีก 5,701 ล้านบาท

ส่งผลเดือน สิงหาคม 2565 ต่างชาติซื้อหุ้นไทยแล้ว 35,036 ล้านบาท

และหากนับจากต้นปีต่างชาติซื้อสุทธิ 152,387 ล้านบาท

มีคำถาม บวกกับการตั้งข้อสงสัยจากคนในแวดวงตลาดหุ้นว่าต่างชาติที่เข้ามาซื้อหุ้นไทย เป็น “ฝรั่งแท้” หรือ “ฝรั่งเทียม”

เหตุผลของการตั้งข้อสงสัยมาจากตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจขนาดที่ฝรั่งขนเงินมาลงทุนในไทยมากสุดในกลุ่มตลาดหุ้นอาเซียนได้อย่างไร

เพราะหากย้อนดูตัวเลขเศรษฐกิจไทย

ดูเหมือนยังไม่ได้เติบโตแบบร้อนแรง หรือเพียงพอที่จะดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นได้

คำถาม และข้อสงสัยที่เกิดขึ้น

มีคำตอบมาจาก “พี่เทิด” หรือ เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม จาก บล.เอเซีย พลัส หรือ ASPS

คุณเทิดศักดิ์ มั่นใจว่า ต่างชาติที่เข้ามาเป็น “ฝรั่งแท้”

พร้อมกับยกเหตุผลด้านค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น การเข้าไปเล่นในตลาดอนุพันธ์ควบคู่กันไปด้วย

และรวมถึงตลาดหุ้นทางฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป ปรับขึ้นมาเยอะ เริ่มปรับฐาน

ส่วนหุ้นด้านอาเซียน

กำลังมีปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเริ่มค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัว

ตลาดหุ้น (ไทย) ยังแลกการ์ด

หุ้นหลายตัวน่าสนใจ หุ้นบางตัวฝรั่งอาจจะซื้อถือยาวข้ามไปปี 2566–2567 โน่นเลย

“กลุ่มแบงก์” เป็นหุ้นที่พี่เทิดศักดิ์ บอกว่า ต่างชาติสนใจมากสุด และที่เด่นคือ KBANK กับ KTB ซึ่ง ASPS ให้น้ำหนักไว้ถึง 15% และกลุ่มโรงพยาบาลคือ BH และ BDMS

ส่วนกลุ่มเปิดเมืองที่ราคายังน่าสนใจคือ CRC CENTEL รวมถึง BEM

มาฟังความเห็นจาก “พี่ต้น” เผดิมภพ สงเคราะห์ นักวิเคราะห์อาวุโสในตลาดหุ้นไทย

เขาให้ความเห็น (ส่วนตัว) เช่นกันว่า นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้อหุ้นในตลาดไทยเป็น “ของแท้”

พร้อมกับยกเหตุผลด้านค่าเงินเหมือนกับพี่เทิดศักดิ์จาก ASPS ว่าเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางแข็งค่าขึ้น

พี่ต้น มองว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเพิ่มในประเทศไทยปีนี้ จะส่งผลให้ไทยกลับมามีตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดแบบ “เกินดุล” ได้ หลังจากขาดดุลมาก่อนหน้านี้

ต่างชาติไม่ได้เข้าเพียงแค่ตลาดหุ้น

ทว่า ยังเข้าซื้อพันธบัตรในประเทศไทยควบคู่ไปด้วย หลังจากบอนด์ยีลด์ สหรัฐฯ เริ่มปรับลง

พี่ต้น มองว่า ต่างชาติน่าจะยังซื้อหุ้นไทยต่อเนื่องได้อีก

แต่ในช่วงสั้นตลาดอาจจะมีการ “พักฐาน”

หรือการถูกขายทำกำไรออกมาบ้าง เพราะดัชนีไต่ระดับขึ้นมาจากประมาณ 1,533 จุด จากวันที่ 15 ก.ค. มาจนถึงวานนี้ (17 ส.ค.) หรือในรอบ 1 เดือน ดัชนีขึ้นมาแล้วถึง 100 จุด

สุดท้ายมาที่หุ้น “ไทยประกันชีวิต” หรือ TLI ที่นักลงทุนให้ความสนใจ

ประกอบกับมีการถามเข้ามายังในรายการที่ผมจัดอยู่แทบจะทุกวัน

ล่าสุดวานนี้ราคาขึ้นมาปิด 15.90 บาท

ถือว่าปิดสูงสุดหรือเท่ากับวันแรกที่เริ่มเทรด (25 ก.ค.)

ราคาหุ้น TLI เริ่มมีการเข้ามาไล่เก็บในช่วงที่ราคาลงไปแตะบริเวณ 14.50 บาท (+/-)

หลังจากนั้น ราคาค่อย ๆ ขยับขึ้นมา และมาทำแรลลี่ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นมาจนถึงวานนี้ (17 ส.ค.) 4 วันติดต่อกัน หรือบวก 8.90% ในช่วง 4 วัน

แถมมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันกว่า 1.5 พันล้านบาท

เมื่อวานนี้ต่อสายคุยกับนักลงทุนรายใหญ่ 2 ราย พอร์ตลงทุนระดับหลักพันล้านบาท

ต่างยอมรับว่าได้เข้าไปลงทุนในหุ้น TLI ในช่วงที่ราคาลงมาก่อนหน้านี้ (14.50–14.60)

เหตุผล แม้ว่าจะไม่ได้เติบโตแบบหวือหวา แต่เป็นหุ้นพื้นฐานดี มีความมั่นคงทางการเงินที่สูงมาก

นอกจากการเข้ามาซื้อของนักลงทุนรายใหญ่

อีกด้าน น่าจะมาจากกองทุนต่างประเทศที่อาจจะเข้ามาทยอยเก็บ ซื้อถือยาว เพราะปี 2566 ยังไงก็ได้เข้า SET50 แน่ ๆ และอาจจะรวมไปถึงการเข้าคำนวณดัชนี MSCI และ FTSE (หากเข้า SET50)

วันก่อนเขียนบอกไปแล้วว่า TLI มีแนวต้านใหญ่ที่ 16.00 บาท

มาลุ้นกันว่า 1-2 วันนี้ จะดันแบบ “ไม้เดียว” ทะลุราคาดังกล่าวขึ้นมาเลยหรือเปล่า

หรืออาจจะพักตัวก่อน

ส่วนช่วงนี้ที่ยังไม่ค่อยเห็นบทวิเคราะห์ของโบรกฯ เกี่ยวกับหุ้น TLI เพราะหลายโบรกฯ ที่เป็น Underwriter ยังไม่สามารถแสดงความเห็นได้จนกว่าจะพ้นช่วงเวลาของการห้าม

หากเลยเวลาแล้ว น่าจะเห็นบทวิเคราะห์ออกมาแนะนำ TLI กันมากขึ้น

ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่ผู้บริหาร TLI จะมีประชุมนักวิเคราะห์ในวันที่ 18-19 ก.ย.นี้

Back to top button