ยุคใหม่โทรคมนาคมไทยพลวัต2015
เทคโนแครตไทย ชอบพูดแบบพล่อยๆ เสมอมาว่า ปรากฏการณ์ที่ก้าวหน้าของสังคมไทย จะเกิดขึ้นได้ง่ายในช่วงที่อำนาจรัฐเผด็จการ มากกว่าอำนาจรัฐประชาธิปไตย
เทคโนแครตไทย ชอบพูดแบบพล่อยๆ เสมอมาว่า ปรากฏการณ์ที่ก้าวหน้าของสังคมไทย จะเกิดขึ้นได้ง่ายในช่วงที่อำนาจรัฐเผด็จการ มากกว่าอำนาจรัฐประชาธิปไตย
การประมูลคลื่นโทรคมนาคม 4G ในย่านความถี่ 1800 MHz ที่จบลงไปเมื่อวานนี้ ด้วยผู้ชนะ 2 รายสำหรับใบอนุญาต 2 ใบ คือ บทพิสูจน์อีกครั้งว่า คำพูดของเทคโนแครตเก่าแก่นั้น ยังคงใช้การได้ แม้จะยังไม่พิสูจน์ได้เลยว่าเป็นสัจธรรมสัมบูรณ์หรือไม่
ผลการประมูลดังกล่าว ตอกย้ำอีกครั้งว่า การประมูลเพื่อหาผู้ชนะในการสร้างโอกาสทางธุรกิจภายใต้ขีดจำกัดของใบอนุญาตตามกติกาที่ตั้งขึ้นมาครั้งนี้ พิสูจน์ว่าหลักการเศรษฐกิจที่เน้นการได้เพิ่มโดยไม่ต้องเสียอะไรเลยของ อี เอฟ ชูมักเกอร์ นักคิดเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษเชื้อสายเยอรมัน เป็นเพียงแค่ยูโตเปียเชิงปรัชญาอันเพ้อเจ้อ ไปกันไม่ได้อย่างสิ้นเชิงกับชุดความคิดทางวิทยาศาสตร์ร่วมสมัย
ปรัชญาในโลกของความเป็นจริงที่ปฏิบัติได้นั้น จะต้องมีลักษณะ “ได้อย่างเสียอย่าง” หรือ “มีคนได้ ต้องมีคนเสีย” ซึ่งเป็นแนวการทางเศรษฐศาสตร์แบบพาเรโต้ หรือน้ำกับน้ำมัน หรือปรัชญาตรรกะนิยม (จินตนิยม) ของพลาโต้ กับประสบการณ์นิยม (สสารนิยม) ของอริสโตเติล
หลังจาก พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) แถลงผลการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz หลังจากดำเนินการมาเป็นเวลา 33 ชั่วโมง ชุดที่ 1 บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะประมูล ที่ราคา 39,792 ล้านบาท และชุดที่ 2 บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ชนะการประมูลในราคาสุดท้าย 40,986 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้ง 2 ใบอนุญาตทั้งสิ้นสูงถึง 80,778 ล้านบาท
ตัวเลขใบอนุญาตเพียงแค่ 2 ใบดังกล่าว สูงกว่ายอดรวมของการประมูล 9 ใบอนุญาตในการประมูล 3G รวมมูลค่าทั้งหมดที่ 41,625 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ การประมูลครั้งนี้ ได้รับฉันทานุมัติอย่างไม่เป็นทางการจากนักวิชาการที่มักจะออกมาแสดงท่าทีเป็นวีรชนหลังสงคราม ”อยู่บ่อยครั้งนั่นคือ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ยอมรับว่า มีการแข่งขันกันในการประมูล มากกว่าความคาดหมายพอสมควร และ ”ไม่ปรากฏการสมคบกันด้านราคาในการประมูลครั้งนี้ ซึ่งแตกต่างจากการประมูล 3G ที่ผ่านมาที่แทบไม่มีการแข่งขันด้านราคา”
เพียงแค่นี้ ความชอบธรรมของการประมูลก็เกิดขึ้นโดยปริยาย และอาจจะทำให้เสียงครหาหมดไปได้ง่าย แม้จะมีคนบางคนออกมาแสดงความกังวลแบบคิดเอาเองแบบ ”ตีปลาหน้าไซ” ว่า อาจจะทำให้ราคาค่าบริการ 4G แพงขึ้นกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น
ประเด็นเรื่องการประมูลที่ราคาค่อนข้างสูงอย่างมากนั้น หากคิดจากมุมมองของอำนาจรัฐไทย ถือว่าเป็นไปตามสูตร “รัฐได้ประโยชน์สูงสุด ประชาชนได้รับค่าบริการที่ต่ำสุด” ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าบางครั้งอาจจะจริงหรือไม่จริง แต่หากคิดจากมุมมองของผู้ประกอบการ จะพบว่าความจริงแล้วไม่ได้มากมายอะไร เมื่อคิดจากระยะเวลาของใบอนุญาตระยะเวลา 18 ปี
ในอดีตที่ผ่านมา มีตัวอย่างชัดเจนว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เคยจ่ายค่าสัมปทานให้กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย หรือบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นระยะเวลามากกว่า 25 ปี ในอัตราค่าเฉลี่ยปีละ 6-8 พันล้านบาท ขณะที่หากคิดจากค่าใบอนุญาตที่ประมูลไปคราวนี้ จะตกอยู่ที่เฉลี่ยปีละ 2.2-2.3 พันล้านบาทต่อปี (รวมดอกเบี้ยหรือต้นทุนทางการเงิน) เท่ากับว่า ค่าใบอนุญาตยังมีราคาต่ำกว่าค่าสัมปทานหลายเท่า และหากคิดจากรายได้ หรือกำไรตอบแทนการลงทุนต่อระยะเวลาในแต่ละปี จะพบว่า มีสัดส่วนต่อรายได้ และกำไรของผู้ประกอบการค่อนข้างต่ำ อันเป็นไปตามหลักการของการเงินโครงการ หรือ project finance
ในแง่มุมนี้ นักวิชาการหลายคน อาจจะมองว่า ราคาตั้งต้นของ กทค.นั้นต่ำเกินไปมาก ซึ่งจะเกิดความเสียหายได้ หากไม่มีการแข่งขันด้านราคา แต่ในกรณีนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นปัญหา เนื่องจากมีการแข่งขันอย่างเพียงพอในเวลาที่ค่อนข้างยาวนาน ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าเสียเวลาโดยไม่จำเป็น ก็จะทำให้ข้อครหาว่าตั้งราคาตั้งต้นต่ำเกินไป หมดไปได้
ที่สำคัญ หากคิดจากระยะเวลาของใบอนุญาต จะพบว่ามูลค่าประมูลที่สูง ในเชิงตัวเลขระยะสั้น เอาเข้าจริงแล้ว จะไม่มีผลกระทบต่อราคาค่าบริการที่ผู้บริโภคจะได้รับอย่างแน่นอน เพราะในทางปฏิบัติ การแข่งขันของผู้ประกอบการในการแย่งส่วนแบ่งการตลาด จะทำให้ค่าบริการจะขึ้นกับความเต็มใจที่จะจ่ายของผู้บริโภค และการแข่งขันในตลาด ไม่ได้ขึ้นกับมูลค่าประมูล
มูลค่าประมูลเป็นเพียงการแบ่งกำไรของผู้ประกอบการมาให้รัฐเท่านั้น ทั้งนี้ กำไรของผู้ประกอบการที่ได้น้อยกว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้สะท้อนออกมาในราคาหุ้นของผู้เข้าประมูลที่ปรับตัวลดลง
ที่แน่นอนกว่านั้นคือ ผลการประมูล จะเท่ากับเปิดโอกาสสำหรับธุรกิจให้กับผู้ชนะอย่างมีนัยสำคัญ
กลุ่มอินทัช ซึ่งชนะการประมูลใบอนุญาตใบที่สอง ถือเป็นชัยชนะของตนเองอย่างขาวสะอาด เพราะกลุ่มนี้ถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรมมาตลอดหลายปีว่าอาศัยอภิสิทธิ์จากกลุ่มของทักษิณ ชินวัตร ที่เอื้อประโยชน์ในอำนาจรัฐหากำไรโดยมิชอบ จะได้ปลอดพ้นจากข้อกล่าวหาเสียที และมุ่งมั่นคิดสร้างนวัตกรรมทางการตลาดและผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม 4G อย่างจริงจังในฐานะผู้นำตลาดอย่างเต็มภาคภูมิ
ส่วนกลุ่มทรู ซึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นอีแอบลักหลับกับการดัดแปลงสัมปทานของฮัทชิสันในอดีต จากกสท.โทรคมนาคมมาทำการตลาด 4G ดัดแปลงก่อนใครอื่น และพยายามขัดขวางการประมูล 4G มาโดยตลอด ก็จะได้ปลอดพ้นข้อกล่าวหานี้เช่นเดียวกัน
ส่วนใครได้ใบอนุญาตไปแล้ว จะมีปัญหาการเงิน หรือการระดมเงินมาจ่ายค่าใบอนุญาตและดำเนินการต่อไป ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในระยะนี้
สำหรับนักลงทุนแล้ว วันนี้คือวันซื้อหุ้น TRUE และ ADVANC ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต แล้วเป็นวันขายหุ้น DTAC และ JAS เช่นกัน