ช่างดราม่าอะไรเช่นนี้ขี่พายุ ทะลุฟ้า
แข่งดุ แข่งโหดเข้าไส้เชียวล่ะ การประมูลคลื่น 4 จี 1800 MHz จำนวนใบอนุญาต 2 ใบ ผู้เข้าประมูลจาก 4 ค่าย ซึ่งใช้เวลาประมูลกันเลยข้าม 24 ชั่วโมง
แข่งดุ แข่งโหดเข้าไส้เชียวล่ะ การประมูลคลื่น 4 จี 1800 MHz จำนวนใบอนุญาต 2 ใบ ผู้เข้าประมูลจาก 4 ค่าย ซึ่งใช้เวลาประมูลกันเลยข้าม 24 ชั่วโมง
ทีมงานผู้เข้าประมูลแต่ละค่าย ซึ่งเป็นระดับบิ๊กหมายเลข 1 ทั้งนั้น ต้องกินนอนในห้องหับที่กสทช.จัดไว้ให้ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกสู่โลกภายนอกเลย
ใครเข้าไปแล้วก็ออกมาไม่ได้ ต้องกินนอนกันอยู่ในนั้นจนกว่าการประมูลจะสิ้นสุดลง อาจจะเรียกว่าเป็นโมเดลประมูลที่นี่ที่เดียวเป็นแห่งแรกในโลกก็ได้
ผิดกับการประมูลคลื่น 3 จี ซึ่งหวยค่อนข้างจะล็อกล่วงหน้าให้แค่ 3 เจ้า และการประมูลก็ไม่เข้มข้น ได้เงินจากการประมูลไปแค่ 41,625 ล้านบาท หรือสูงกว่าราคาตั้งต้นเพียงร้อยละ 2.78 เท่านั้น
แต่คราวนี้ ใบอนุญาตคลื่น 1800 MHz. มีแค่ 2 ใบ แต่ผู้เข้าร่วมประมูลมีถึง 4 ราย จึงเคาะตัวเลขราคากันไฟแลบ
จากราคาเริ่มต้นของใบอนุญาตแต่ละใบที่ 15,912 ล้านบาท แต่การประมูลรอบที่ 84 อันเป็นรอบสุดท้ายในช่วงเย็นวานนี้ ราคาใบอนุญาตใบแรก วิ่งมาที่ 39,792 ล้านบาท และราคาใบอนุญาตใบที่ 2 วิ่งมาที่ 40,588 ล้านบาท
ราคารวมใบอนุญาต 2 ใบ ทะลุเกิน 8 หมื่นล้านบาทเข้าไปแล้ว จากราคาตั้งต้นรวมอยู่แค่ 31,824 ล้านบาทเท่านั้น หรือคิดเป็นสูงกว่าราคาตั้งต้นถึง 152%
ซึ่งการประมูลก็ยังไม่เป็นที่ยุติ ผมว่ามีแนวโน้มที่ใบอนุญาตคราวนี้ อาจจะถึงใบละ 5 หมื่นล้านบาทเอาน่ะนะ
มีความเป็นไปได้สูงอยู่มากเอานะครับ ลองคิดเล่นๆ กันดู ถ้าใบอนุญาตใบหนึ่งซึ่งมีอายุ 18 ปี ตก 5 หมื่นล้านบาท ก็เท่ากับเฉลี่ยจ่ายแค่ปีละประมาณ 2.7 พันล้านบาทเท่านั้น
ขณะอดีตในยุคสัมปทาน เอไอเอสหรือดีแทค ต้องจ่ายค่าสัมปทานเป็นส่วนแบ่งรายได้ไม่น้อยกว่าปีละ 1 หมื่นล้านบาท
ฉะนั้น ราคาใบอนุญาตแค่ 5 หมื่นล้านบาทในอายุ 15 ปีแค่นี้ เอกชนน่าจะรับได้สบายมาก
แต่ถึงอย่างไร ผมก็ว่าเป็นเรื่องดีนะครับ ที่ราคาประมูลไม่ตกต่ำจนเกินไปนัก เพราะรัฐก็จะมีรายได้เข้ารัฐ และเอกชนก็ยังพอรับได้ ที่ไม่ต้องแบกต้นทุนสูงเกินไปจนต้องไปผ่องถ่ายให้ประชาชนแบกรับค่าบริการราคาแพงแทน
กติกาของกสทช.ก็ได้มีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า ค่าบริการ 4 จีจะต้องถูกกว่า 3 จี
เกณฑ์มาตรฐานอัตราค่าบริการของโทรศัพท์เคลื่อนที่ในคลื่นความถี่ 3 จีนั้น ค่าเฉลี่ยในประเภทเสียง ตกอยู่ในราว 0.67-0.72 บาท/นาที ส่วนค่าเฉลี่ยบริการอินเทอร์เน็ตในอัตรา 0.26 บาท/1 Mb
มันก็คงต้องอย่างนี้แหละครับ เพราะถ้ากสทช.มุ่งประสงค์ นำรายได้เข้ารัฐเกินไป ประชาชนก็ต้องใช้บริการโมบายล์ อินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงในราคาแพง
บทเรียนในอดีตก็เคยมีกันมาแล้ว อัตราค่าโทรศัพท์มือถือระบบ 2 จี ในประเทศ มีค่าโทรถึงนาทีละ 7-8 บาท แถมยังมีค่ารักษาเครื่องอีกเดือนละ 500 บาท
คนใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นโบราณ ยังจดจำกันได้เป็นอันดี
การแข่งประมูลอย่างดุเดือดเอาเป็นเอาตายเช่นที่เห็นกันในวันนี้ ก็น่าจะเป็นหลักประกันอันดีว่า ไม่น่าจะมีรายการฮั้วประมูล อันจะเป็นสาเหตุให้เกิดการฟ้องร้อง และทำให้การเปิดบริการ 4 จี ต้องล่าช้าเพราะคดีความอีกเป็นแน่
4 จี คือระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเน้นการใช้งานด้านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นหลัก ประมาณว่ามีความรวดเร็วในการใช้งานด้านข้อความมากกว่า 3 จี เป็น 10 เท่า
หวังว่า คงไม่เกิดฟ้าผ่า ทำให้ 4 จี ต้องเลื่อนการแจ้งเกิดใดๆ อีกต่อไปแล้วนะ