PSG ‘เทิร์นอะราวด์’ ตามนัด

หลังจาก “เทิร์นอะราวด์” สิ่งที่ต้องจับตามองสเต็ปต่อไปก็คือ PSG จะ “ล้างขาดทุน” สะสมราว ๆ 1,500 ล้านบาท ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้หรือไม่


เส้นทางนักลงทุน

หุ้นบริษัท พีเอสจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PSG ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมีชื่อเดิมคือ บริษัท ที เอ็นจิเนียร์ริ่ง คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ชื่อย่อเดิม T ซึ่งแปลงร่างมาจาก บริษัท ไทยบริการอุตสาหกรรมและวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ TIES เมื่อปี 2558 อีกทอดหนึ่ง ได้กลับมาอยู่ในโฟกัสของนักลงทุนอีกครั้ง ภายหลังตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลดเครื่องหมาย C (Caution) บนหลักทรัพย์ เพื่อเตือนผู้ลงทุนกรณีบริษัทจดทะเบียนมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินธุรกิจ โดยจะต้องซื้อหุ้นดังกล่าวด้วยบัญชีแคชบาลานซ์ (Cash Balance) หรือบัญชีเงินสดเท่านั้น

ทันทีที่หุ้นตัวนี้ถูกปลดเครื่องหมาย C เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ราคาหุ้นเปิดตลาดที่ 1.24 บาท จากนั้นวิ่งขึ้นไประดับสูงสุด 1.29 บาท แล้วทิ้งไปต่ำสุด 1.20 บาท ก่อนจะกลับมาทรง ๆ แถว 1.22-1.24 บาท และปิดตลาดที่ 1.22 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง

ขณะที่ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้น PSG ยืนเขียวติดต่อกัน 3 วันทำการ (8-10 สิงหาคม) จาก 1.17 บาท ไป 1.27 บาท แต่เจอแรงขายวันทำการสุดท้ายของสัปดาห์ก่อนที่จะหยุดยาว

PSG เคยเป็นหุ้นร้อนแรงต้อนรับศักราชใหม่ปี 2565 เพราะแค่เพียง 5-6 วันแรกของการซื้อขายในปีนี้ ราคาหุ้นก็ใส่เกียร์เดินหน้าวิ่งทะยานขึ้นไปมากกว่า 103% เมื่อเดือนมกราคม เป็นผลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตัดสินใจใช้มาตรการกำกับการซื้อขายกำราบหุ้นตัวนี้เป็นตัวแรกของปี

เฉพาะในครึ่งแรกปี 2565 นี้ PSG ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้มาตรการกำกับการซื้อขายทั้งในลักษณะของการขยายระยะเวลามาตรการ และการยกระดับมาตรการให้เข้มข้นมากขึ้นถึง 3 ครั้ง

และหากยังจำกันได้ จะเห็นว่าหุ้น PSG ในช่วงที่ยังใช้ชื่อย่อ T ราคาหุ้นก็เคยวิ่งขึ้นเกือบชนซิลลิ่งติดต่อกัน 3 วันซ้อนมาแล้วในเดือนกันยายน 2564 และร้อนแรงต่อเนื่องมาในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน อันเป็นผลมาจากนักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น ภายหลังบริษัทมีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ โดยมี “ปณิชา ดาว” ภรรยาของ “เดวิด แวน ดาว” เศรษฐีชาวลาว นักธุรกิจที่เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 80% หรือถือหุ้น 51.994 ล้านหุ้น โดยกลุ่ม ”ดาว” ระบุว่า จะทำให้ PSG “เทิร์นอะราวด์”

ขณะที่ PSG ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย C เนื่องจากมีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ของทุนชำระแล้วหลังหักส่วนต่างมูลค่าหุ้น ตั้งแต่งบการเงินไตรมาสที่ 3 ปี 2564 อันมีสาเหตุจากก่อนหน้านี้บริษัทประสบกับปัญหาหนี้สินและการขาดทุนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีภาระที่ต้องชำระหนี้เพื่อลดสัดส่วนหนี้สินมาโดยตลอด

นอกจากนี้ ยังต้องตั้งประมาณการสำหรับลูกหนี้ที่ค้างนาน ประมาณการค่าความเสียหายจากคดีความ ซึ่งตัวเลขทยอยลดลง จากการระงับข้อพิพาทคดีความ และการชนะคดีที่สำคัญในช่วงปี 2563

รวมทั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทไม่สามารถแข่งขันในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่ได้รับวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพราะมีคดีความเกี่ยวกับงานรับเหมาก่อสร้าง ท่ามกลางการแข่งขันรุนแรงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ราคาของวัสดุก่อสร้างและค่าแรงที่สูงขึ้น จนอัตรากำไรขั้นต้นตกต่ำลง และรายรับไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์

แต่หากสังเกตให้ดี หนี้ทุกประเภทของ PSG ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากปี 2557-2564 ที่ 994.785 ล้านบาท, 526.41 ล้านบาท, 313.82 ล้านบาท, 206.58 ล้านบาท, 124.54 ล้านบาท, 114.51 ล้านบาท, 32 ล้านบาท และ 23.08 ล้านบาท ณ ไตรมาส 3 ปี 2564 ตามลำดับ

PSG แก้ไขปัญหาเครื่องหมาย C ด้วยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อบุคคลในวงจำกัด รวมทั้งสิ้น 1,080.88 ล้านบาท หรือจำนวน 54,044,000,000 หุ้น ในราคาเสนอขาย 0.02 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นมีการปรับตัวสูงขึ้น

การเพิ่มทุนดังกล่าวเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทำให้บริษัทสามารถนำเงินมาใช้ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง รวมถึงเป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัท เป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทางการเงิน และยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของบริษัทได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

เงินทุนนี้จะช่วยให้ PSG ยกระดับให้ทำงานรับเหมาก่อสร้างและวิศวกรรมทั้งในประเทศไทยและในกลุ่มประเทศ CLMV และการเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับให้พร้อมที่จะเข้าแข่งขันในโครงการระดับภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

ณ ไตรมาส 2 ของปีนี้ PSG มีรายได้รวม 483.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากจาก 3.60 ล้านบาทงวดปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิ 267.68 ล้านบาท จากผลขาดทุน 16.09 ล้านบาท

ส่วน 6 เดือน มีรายได้รวม 498.50 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 248.67 ล้านบาท จากเดิมขาดทุน 31.37 ล้านบาท เพราะรายได้จากการรับเหมาก่อสร้างเพิ่มขึ้น แม้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วยก็ตาม

“ศราวุธ เตโชชวลิต” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อาร์เอชบี (ประเทศไทย) มองว่า PSG เทิร์นอะราวด์ภายหลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ และมีการรับรู้งานโครงการในลาว ทำให้จากผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง 4 ปี ที่ขาดทุน 186.72 ล้านบาท, 91.01 ล้านบาท, 22.67 ล้านบาท และ 63.13 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วน ณ สิ้นไตรมาส 1 ปีนี้ มีผลขาดทุน 19.01 ล้านบาท แต่สามารถพลิกมามีกำไรในไตรมาส 2 ได้

จากการทยอยรับรู้รายได้โครงการ XPPL Expansion Phase 1 ของ Xekong Power Plant Company Limited มูลค่าโครงการ USD 263,955,452.33 ดอลลาร์สหรัฐ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือคิดเป็น 8,895.30 ล้านบาท ทำให้ผลการดำเนินงานมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

รวมทั้งบริษัทและรัฐบาลของสปป.ลาว โดยกระทรวงแผนการและการลงทุน กรมส่งเสริมการลงทุน (Ministry of Planning and Investment, Investment Promotion Department) ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจแบบมีผลผูกพัน เกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าน้ำตกแบบสูบหมุนเวียน (Pumped Storage Hydroelectric Power) ในสปป.ลาว น่าจะทำให้ PSG มีพัฒนาการที่ดีต่อเนื่อง

ส่วนบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ให้ราคาเป้าหมาย 2.06 บาท คาดว่าการรับรู้รายได้โครงการก่อสร้างจะเร่งตัวในปี 2565 และสูงขึ้นในปี 2566 ที่ 3.4 พันล้านบาท

หลังจาก “เทิร์นอะราวด์” สิ่งที่ต้องจับตามองสเต็ปต่อไปก็คือ PSG จะ “ล้างขาดทุน” สะสมราว ๆ 1,500 ล้านบาท (ณ ไตรมาส 3 ปี 2564) ได้หมดภายในปี 2566 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้หรือไม่

Back to top button