พาราสาวะถี
“การกำหนดระยะเวลา แปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้”
ปมความเป็นนายกรัฐมนตรีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ว่าครบ 8 ปีแล้วหรือยัง หากไม่ต้องคิดอะไรมากอย่างที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ตั้งคำถามกับท่านผู้นำว่าบอกหน่อยได้ไหมว่าเป็นนายกฯมาแล้วกี่ปีแล้ว ง่าย ๆ แต่ได้ใจความ อย่างไรก็ตาม ประสาพวกอยากอยู่ยาวที่รายล้อมไปด้วยเนติบริกรศรีธนญชัยย่อมหาหนทางที่จะทำให้หัวขบวนการสืบทอดอำนาจได้ไปต่อ แต่งานนี้ต้องอาศัยมือขององค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด
กรณีที่อาจารย์นิติศาสตร์ 51 คน จาก 15 มหาวิทยาลัย ทำหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ เสนอความเห็นข้อกฏหมาย เรื่องการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น หากเป็นการยึดหลักการโดยเคร่งครัดมันย่อมมองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ แต่อย่าลืมว่าเคยมีปมที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเคยถูกร้องขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ เพราะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ อันเป็นข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ออกมาก็ทำให้บรรดากูรูกฎหมายทั้งหลายต่างส่ายหน้าไปตาม ๆ กัน
ผลแห่งการวินิจฉัยครั้งนั้นคงมองกันเพียงแค่ว่าเอาให้รอดกันไปก่อน โดยลืมมองไปถึงปัญหาเหมืองทองอัคราที่ถูกทางเอกชนฟ้องร้อง จนมีการเรียกร้องว่าถ้าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ หากจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้เอกชน ก็ให้ใช้เงินส่วนตัวจ่ายแทน เพราะคำสั่งที่ออกมานั้นเป็นเรื่องหัวหน้า คสช. จนทำให้ต้องเกิดการต่อรอง ยื้อกันมาถึงทุกวันนี้ นี่เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า เนติบริกรศรีธนญชัยทั้งหลายนั้นใช้เล่ห์กลทางกฎหมายทุกเม็ด โดยไม่แยแสว่าผลกระทบในแง่บรรทัดฐานในอนาคตจะเป็นอย่างไร
ขณะเดียวกันข้อถกเถียงเรื่องบันทึกของ กรธ.ต่อประเด็นการนับระยะเวลาความเป็นนายกฯ ที่กลายเป็นเชือกมัดคอผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น มันก็มีคำอธิบายในตัวรัฐธรรมนูญเอง ต่อเนื่องจากสิ่งที่ณัฐวุฒิชวนถามท่านผู้นำว่าเป็นนายกฯ มาแล้วกี่ปี พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ชี้ว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอันเป็นที่มาของการบัญญัติเช่นนี้ได้รับการเขียนไว้ในหนังสือ “คำมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” หน้า 275 ย่อหน้าสุดท้าย
ความว่า “การกำหนดระยะเวลา แปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้” คำถามคือ นานเกินไปนั้นกี่ปี คำตอบก็ปรากฏในบทบัญญัติมาตรา 158 อย่างชัดเจนแล้วคือ หากเกิน 8 ปี ก็ถือว่านานเกินไป ความเป็นจริงที่ไม่มีใครสามารถบิดเบือนได้ คือ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ดำรงตำแหน่งนายกฯ อย่างต่อเนื่องกันครบ 8 ปี ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 อย่างแน่นอน ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใด หรือการตีความแบบใดที่ล้มล้างความจริงประการนี้ได้
นั่นหมายความว่า ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจใกล้จะเข้าข่ายผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวนานเกินไปตามที่ระบุเอาไว้ในเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันมีร่องรอยหลักฐานการปรากฏตัวของวิกฤตทางการเมือง อันเนื่องมาจากการผูกขาดอำนาจที่ยาวนานเกินไปของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ด้วยเหตุนี้การดำรงตำแหน่งต่อไปของท่านผู้นำโดยไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจมีโอกาสกลายเป็นต้นเหตุของการเกิดวิกฤตทางการเมืองครั้งใหม่ในสังคมได้
การตัดสินใจของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะหลีกเลี่ยงการเกิดวิกฤตการเมือง หรือเร่งเร้าให้เกิดวิกฤตทางการเมือง หากตัดสินใจยุติการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ วิกฤตทางการเมืองที่กำลังก่อตัวก็อาจบรรเทาลงและสลายไปได้ แต่หากตัดสินใจอยู่ในอำนาจต่อไป โดยไม่ให้ความสำคัญกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ วิกฤตการเมืองครั้งใหม่ในอนาคตอันใกล้ก็มีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะเกิดขึ้น
สิ่งที่กังวลกันนั้นไม่ใช่เป็นความรู้สึก เพราะในจดหมายที่ 51 อาจารย์กฎหมายจาก 15 สถาบันส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญนั้น ระบุไว้ว่า จะต้องวินิจฉัยตัดสินปัญหาโดยยึดถือตัวบทกฎหมาย และใช้กฎหมายกับทุกฝ่ายอย่างเสมอกัน ที่สำคัญที่สุดจะต้องเป็นอิสระจากผู้มีอำนาจที่ฝ่ายตุลาการต้องใช้อำนาจตุลาการในการควบคุม ซึ่งในกรณีนี้ คือ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ หากปราศจากความอิสระ ไม่มีความเสมอภาค ย่อมหมายถึงความอยุติธรรม หากสิ่งนี้เกิดขึ้นก็ยากที่จะแก้ไขและคลี่คลายความขัดแย้งใด ๆ ได้เหมือนที่ทำกันมากว่า 8 ปีแล้วไม่สำเร็จ
แต่ช้าก่อนอย่าลืมเป็นอันขาดมุกประจำของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่งัดเอามาใช้ทั้งปกป้องตัวเอง และเล่นงานฝ่ายเห็นต่างก็คือ ทุกอย่างต้องยึดตามกฎหมาย ซึ่งคงลืมไปว่าตัวบทกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นล้วนแล้วแต่ถูกออกแบบมาจากองคาพยพที่ตัวเองแต่งตั้งมากับมือ โดยเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเป็นไปเพื่อการอยู่ยาวทั้งสิ้น จะมีเพียงก็แต่พวกกองเชียร์ไม่ลืมหูลืมตาเท่านั้นที่เชื่อกันหัวปักหัวปำ ไม่ต่างจากการเล่นลิ้นต่อปมจะยุบสภาเพื่อเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นหรือไม่
การเลือกที่จะไม่ตอบโดยโยนให้โฆษกรัฐบาลตอบคำถามสื่อแทน และสิ่งที่ได้คือไม่มีการยุบสภาแต่จะขอใช้เวลาที่เหลืออยู่ทำประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ หากเป็นเมื่อ 7-8 ปีก่อนคนฟังอาจคล้อยตาม แต่นาทีนี้ในภาวะที่คนส่วนใหญ่ตาสว่างกันหมดแล้ว กับความเดือดร้อนถ้วนหน้าที่ได้รับ การไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงาน ขาดวิสัยทัศน์และการแก้ปัญหาให้ทันต่อสถานการณ์ ล้วนแต่นำมาซึ่งความเบื่อหน่ายไม่เว้นแม้กระทั่งคนที่เคยถือหางต่างก็เอือมระอากันเต็มทน
ปัจจัยอยู่ในตำแหน่งครบ 8 ปีหรือไม่ อาจเป็นตัวเร่งและบีบคั้นให้คนที่เป็นโรคเครียดอย่างผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเครียดหนักเข้าไปอีกก็จริง แต่ยังพอมองเห็นทางออกเมื่อปลายทางที่จะชี้เป็นชี้ตายอยู่ในข่ายที่ถูกมองว่าสั่งได้ สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้บรรดากุนซือหัวหมอทั้งหลายต้องชงให้ผู้นำตัดสินใจชิงความได้เปรียบก็คือ ร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในเวลานี้ และแรงกระเพื่อมจากพรรคสืบทอดอำนาจที่ส่งสัญญาณชัด เลือกตั้งครั้งหน้าคงต้องเลิกกระเตงผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจกันอีกต่อไป