พาราสาวะถี
22 ส.ค. เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งหนังสือคำร้องของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านที่เข้าชื่อยื่นต่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร
วานนี้ (22ส.ค.) เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งหนังสือคำร้องของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านที่เข้าชื่อยื่นต่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนี้ต้องติดตามว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาในวันที่ 24 สิงหาคมนี้หรือไม่
เพราะวันดังกล่าวจะถือเป็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ถ้านับจากปี 2557 อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการยื่นร้องซึ่งเป็นไปตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ไม่สามารถจะขีดเส้นว่าต้องเสร็จภายในวันนั้นวันนี้ ส่วนสถานะของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจขณะนี้ก็ถือว่ายังคงปฏิบัติหน้าที่ไปตามปกติ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติรับเรื่องไว้พิจารณาและมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด
ตามที่เนติบริกรศรีธนญชัย วิษณุ เครืองาม ยกข้อกฎหมายมายืนยันว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอยู่ครบวาระ 8 ปีไปแล้ว และต้องพ้นสภาพความเป็นนายกฯ ไป แต่ยังคงต้องรักษาการไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ท่ามกลางข้อถกเถียงของนักวิชาการทั้งหลายที่มองต่างมุมกันอยู่ขณะนี้ ทั้งนี้ สิ่งที่จะต้องติดตามและรอกัน คือ กระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญหลังจากรับเรื่องไว้แล้วนั้นจะใช้ระยะเวลาดำเนินการเร็วหรือช้าอย่างไร
หากเป็นไปตามกลไกข้อกฎหมาย หลังจากมีการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยแล้ว หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลจะส่งเรื่องให้คณะตุลาการซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้แต่งตั้งไว้ เพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ โดยมีจำนวน 2 คณะคือ คณะ 1 และคณะ 2 แต่ละคณะจะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คน ทั้งนี้ คณะตุลาการดังกล่าวจะเป็นผู้พิจารณาภายใน 2 วันนับแต่วันที่หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลได้รับคำร้องตามข้อกำหนดศาลฯ
โดยให้ถือว่าวันที่หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลรับเข้าสารบบคดีเป็นวันที่ได้รับคำร้อง ในกรณีคำร้องของฝ่ายค้านเรื่องวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ก็จะนับวันที่เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ไปยื่นหนังสือและมีการรับเรื่องไว้โดยฝ่ายธุรการศาลนั่นก็คือ 22 สิงหาคม หากเข้าสู่กระบวนการตามที่กล่าวมาก็จะครบกรอบเวลา 2 วันที่คณะตุลาการคณะเล็กจะต้องพิจารณาในวันที่ 24 สิงหาคมพอดี
แต่กรณีที่เข้าสู่กระบวนการที่ผ่านคณะตุลาการคณะเล็กนั้น จะมีกรอบเวลาพิจารณาอีก 5 วันเพื่อพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับเรื่องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม ปมวาระการดำรงตำแหน่งของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน ดังนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนอาจจะเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ แทนที่จะเป็นคณะตุลาการคณะเล็กเป็นผู้พิจารณา ในกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาและมีคำสั่งว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ภายใน 5 วัน
อย่างไรก็ตาม เรื่องระยะเวลาในการพิจารณาคดี หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย คดีที่วินิจฉัยเรื่องความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 170 วรรคสอง หรือไม่นั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาคดีไว้ แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้คนส่วนใหญ่มองว่ากรณีนี้ศาลไม่น่าที่จะใช้เวลาในการพิจารณานาน แม้กฎหมายไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้ก็ตาม
เรื่องนี้ ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า คดีตามคำร้องนี้เป็นคดีที่มีคู่กรณีคือ ส.ส.พรรคการเมืองฝ่ายค้าน เป็นผู้ร้อง และ พลเอก ประยุทธ์ เป็นผู้ถูกร้อง จึงต้องมีการส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้ถูกร้อง และเมื่อผู้ถูกร้องได้รับสำเนาคำร้อง จะมีระยะเวลาในการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด
ในคดีที่มีความสำคัญเร่งด่วน ศาลอาจจะกำหนดระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาให้น้อยกว่า 15 วัน เพื่อให้การพิจารณาคดีรวดเร็วขึ้นก็ได้ การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจพิจารณาพยานหลักฐานได้อย่างกว้างขวาง และหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีโดยไม่ทำการไต่สวนก็ได้
ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ประเด็นระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่ “เป็นปัญหาข้อกฎหมายหรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้” ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีได้โดยไม่ต้องทำการไต่สวน ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนในกระบวนพิจารณาคดีหลายอย่างถูกตัดออกไป และส่งผลให้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีสั้นและรวดเร็วกว่าคดีที่ต้องมีการไต่สวนตามขั้นตอนปกติ
แม้ไม่อาจจะชี้นำกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ด้วยปัจจัยของสถานการณ์ทางการเมือง รวมถึงการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของบ้านเมืองและประชาชน จึงเป็นที่คาดหมายกันว่าการพิจารณาเรื่องนี้ของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ล่าช้า ส่วนผลที่จะออกมานั้น ถ้าพิจารณาจากท่าทีของผู้ที่ถูกร้อง และความเห็นของลิ่วล้อที่ได้รับการปูนบำเหน็จทางการเมืองทั้งหลาย มีความโน้มเอียงที่จะออกไปในมุมที่ว่า วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อคราวสวมหัวโขนหัวหน้าเผด็จการ คสช.ตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557 นั้นไม่ถูกนับเป็นเงื่อนเวลาตามข้อห้ามในรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย