พาราสาวะถี
ถามว่ามีอะไรน่าตื่นเต้นหรือไม่ต่อกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ยื่นผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร
ถามว่ามีอะไรน่าตื่นเต้นหรือไม่ต่อกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ยื่นผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจครบ 8 ปีหรือไม่ หลังจากศาลมีมติรับคำร้องไว้พิจารณา และมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 สั่งให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจหยุดการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย โดยคณะรัฐมนตรียังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไป มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ คนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ
ทั้งหมดไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย ทุกอย่างว่ากันไปตามขั้นตอน สิ่งที่ต้องติดตามกัน คือ เงื่อนเวลาในการพิจารณาเรื่องนี้ของศาลรัฐธรรมนูญที่คาดว่าน่าจะได้บทสรุปภายในเดือนกันยายนนี้ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงก่อนที่จะปรากฏข่าวว่าศาลมีมติเสียงข้างมากให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน พอมีข่าวหลุดออกมา ทางฝ่ายประชาสัมพันธ์ของศาล จึงแจ้งยกเลิกแถลงข่าว และแจกเป็นเอกสารแทน
ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการหลังการประชุมมาหลายปีดีดักแล้ว ต้องตามกันต่อกระบวนการเรื่องนี้หลังจากที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา ก็จะส่งสำเนาให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจชี้แจง ส่วนการหยุดปฏิบัติหน้าที่ที่มีพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.รักษาการแทนนั้น ถือว่ามีอำนาจเต็ม รวมทั้งการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ขณะเดียวกันอย่าลืมว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจยังมีอีกหนึ่งตำแหน่ง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วย นั่นหมายความว่า ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ยังสามารถเข้าร่วมประชุม ครม.ได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องเปลี่ยนเก้าอี้ที่นั่งจากหัวโต๊ะไปให้พี่ใหญ่ทำหน้าที่แทนก็เท่านั้น นี่อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้นักข่าวสังเกตอาการของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ทั้งก่อนและหลังประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีสีหน้ายิ้มแย้ม อารมณ์ดี แม้เป็นเพียงรักษาการนายกฯ แต่ก็มีอำนาจเต็ม ถือเป็นการลองงาน ซักซ้อมการเป็นนายกฯ ไปในตัว การเมืองข้างหน้าไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง
สำหรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจในฐานะผู้เคารพต่อกฎหมาย คงไม่มีอะไรที่จะหลุดออกมาจากปาก ไม่เพียงเท่านั้น เจ้าตัวก็ชอบยกเอาธรรมะมาสอนคนอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะล่าสุดเรื่องอริยสัจ 4 กับปมค่าไฟแพง หนนี้ก็น่าจะหยิบยกเอามาใช้กับตัวเองได้เหมือนกับที่ พระพยอม กัลยาโณ พูดไว้ก่อนหน้านี้ ท่านผู้นำกำลังจะรู้ทุกข์และเห็นทุกข์ ขณะที่ล่าสุด วันชัย สอนศิริ ก็ยกเอาธรรมะดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับปม 8 ปีนายกฯ เหมือนกัน
โดยชี้ให้เห็น ทุกข์ คือ ความไม่สบายอกไม่สบายใจ ทุรนทุราย เนื้อเต้นเส้นกระตุก หัวใจสั่น วิตกกังวล กระวนกระวาย มันไม่โล่งไม่โปร่ง หงุดหงิด ทั้งกายวาจาใจก็ไม่สงบ ส่วนสมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์ มาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 158 และ 264 ทำไมเขียนแบบนี้ ไม่ชัดเจน 8 ปีมันแค่ไหนอย่างไร ทำไมต้องมาตีความกัน จะยกเว้นก็ยกเว้นเสีย มันก้ำ ๆ กึ่ง ๆ กำ ๆ กวม ๆ ก็เลยเป็นเหตุแห่งทุกข์ ทีเรื่องอื่นละชัด แต่เรื่องนี้ทำไมเป็นอย่างนี้
โดยเรื่องของ นิโรธ กับ มรรค นั้น วันชัยเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า การดับทุกข์ ไม่มีใครดับทุกข์ใครได้หรอก ทุกข์เกิดจากเราต้องดับได้ด้วยตัวของเรา เป็นเหตุเฉพาะตัว ต้องเห็นทุกข์จึงจะเห็นธรรม ทุกข์ไม่มี บารมีไม่เกิด การลด ละ เลิก ไม่ยึดมั่น ถือมั่น อันเป็นอุปาทานนั่นก็คือการดับทุกข์ ตราบใดที่ยึดว่าตัวกู ของกู ไม่มีทางหรอกที่ดวงตาจะเห็นธรรมได้ ส่วนหนทางนำไปสู่ความดับทุกข์ ที่เราเรียกกันว่ามรรคมีองค์ 8 เหมือนนายกฯ 8 ปี
เริ่มจากสัมมาทิฐิมีความเห็นชอบและจบลงด้วยสัมมาสมาธิมีจิตตั้งมั่นโดยชอบ กอปรด้วยความระลึกดีว่าอะไรควรไม่ควร อะไรใช่ไม่ใช่ ในที่สุดก็จะบรรลุธรรมหลุดพ้นจากกิเลส โลภ โกรธ หลง “ไม่ต้องรอให้ใครมาตัดสิน” หากเขาคิดได้เช่นนี้คงไม่มีขบวนการสืบทอดอำนาจเกิดขึ้น ซึ่งความจริงวันชัยก็เป็นส่วนหนึ่งในขบวนการ อย่าลืมด้วยว่าใครที่ตีอกชกตัวแสดงผลงานชิ้นโบว์ดำว่าเป็นผู้ชงคำถามพ่วงในการทำประชามติ จนทำให้ ส.ว.ลากตั้งสามารถมีอำนาจเข้ามาร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้
ปมอำนาจของ ส.ว.นี่เองที่ทำให้คอการเมืองหลายรายนำมาตีความว่า ถ้าฝ่ายหัวชนฝาเรื่องวาระ 8 ปีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะต้องเริ่มนับจากวันที่ 9 มิถุนายน 2562 วันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเป็นนายกฯ สมัยที่สอง โดยอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 158 บังคับเฉพาะช่วงที่เป็นนายกฯ จากการเลือกตั้ง และต้องได้รับเลือกจากที่ประชุมสภาตามมาตรา 159 ซึ่ง สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ก็ตีมุมตรงนี้ว่า ถ้าจะยึดแบบนั้นก็ต้องเอากันให้สุด
ถ้าอ้างกันแบบนี้หมายความว่า เวลานี้อายุความเป็นนายกฯ ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจยังไม่เริ่มนับ 8 ปี เพราะการเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เป็นการเลือกโดยมี ส.ว.ร่วมโหวต ตามมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาล เช่นเดียวกัน หลังการเลือกตั้งครั้งหน้าคือปี 2566 ก็ยังไม่เริ่มนับ 8 ปีเหมือนกัน เพราะมาตรา 272 ที่ให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ยังใช้อยู่ เนื่องจากยังอยู่ในช่วง 5 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญ ทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจยังไม่ใช่นายกฯ ที่มาจากการเลือกของ ส.ส.ตามมาตรา 159
ถ้าเช่นนั้นจะเริ่มนับกันเมื่อไหร่ หากยึดสูตรนี้ปี 2570 หลังจากหมดสมัยของสภาอีกวาระหนึ่ง จึงจะเริ่มนับ 8 ปีได้ เพราะตอนนั้นสภาผู้แทนจะเป็นผู้เลือกนายกฯ ตามมาตรา 159 อย่างจริง หากยึดแบบนั้นผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะครบ 8 ปี ในปี 2578 หรืออีก 13 ปีนับจากนี้ ยิ่งถ้านับจากยึดอำนาจปี 2557 พี่แกก็จะอยู่ในอำนาจ 21 ปีพอดี สมความมุ่งมาดปรารถนาตามยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ 20 ปี ไหน ๆ ก็จะอ้างว่านับเฉพาะเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งครั้งแรกในรัฐธรรมนูญก็ต้องแถกันแบบนี้ถึงจะสุดจริง นี่ไม่ใช่การดักคอการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ชี้ให้พวกหลับหูหลับตาเชียร์อย่าชงช่องทางเอาแต่ได้อย่างเดียว