ข่าวร้ายกับแนวต้านดัชนี 1,650 จุด

SCB ได้แจ้งกับ SET อย่างเป็นทางการว่า SCBS ซึ่งเป็นบ.ลูกของ SCB ได้ทำการยกเลิกการเข้าซื้อ BITKUB ที่ทาง SCBS จะเข้าซื้อหุ้น 51%


ข่าวร้ายชนิดย้อนศร ของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ที่ยกเลิกการเข้าถือหุ้นในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ นอกจากกระทบกับเป้าหมายการทำกำไรเฉพาะหน้าของราคาหุ้นแล้วยังมีคำถามตามมาอีกว่าผลสะเทือนจากความไม่แน่นอนทางยุทธศาสตร์ของการเข้าสู่ตลาดดิจิทัลของธนาคารที่เคยทำกำไรสูงสุด (แล้วถูกแซงหน้าโดย KBANK) จะเป็นเช่นไร

SCB ได้แจ้งกับ SET อย่างเป็นทางการในเช้าวานนี้ ว่า บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) ซึ่งเป็นบ.ลูกของ SCB ได้ทำการยกเลิกการเข้าซื้อ BITKUB ที่ทาง SCBS จะเข้าซื้อหุ้น 51% ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 17,850 ลบ. เนื่องจาก BITKUB มีประเด็นคงค้างดำเนินการหาข้อสรุปตามคำแนะนำและสั่งการจาก ก.ล.ต.

แม้ว่าการคาดเดาดีลล้มดังกล่าว จะไม่ได้นอกเหนือความคาดหมาย แต่มุมมองที่เบาที่สุดที่เกิดขึ้นคือ มองว่าถึงแม้ว่าการเข้าซื้อดังกล่าวจะทำให้ SCB ไม่ได้รับรู้กำไรจาก BITKUB แต่ก็จะลดความกังวลจากนักลงทุนในช่วงที่ตลาด crypto currency มีความผันผวนมากไปได้ อย่างไรก็ตามทางฝ่ายยังไม่ได้รวมกำไรของ BITKUB ไว้ในประมาณการกำไรของ SCB อยู่แล้ว

นักวิเคราะห์ที่ “โลกสวย” ยังคงมีมุมมองว่า ยังคงประมาณการกำไรปี 65 ของ SCB ไว้ที่ 41 พันลบ. เพิ่มขึ้น 16.4% เทียบกับปีก่อนและยังคงราคาพื้นฐานไว้ที่ 141 บาท แต่การเสียศูนย์โดยปฏิเสธช่องทางใหม่ที่เคยวาดไว้สวยงามเกินจริง น่าจะส่งผลสะเทือนทางจิตวิทยาถึงขั้นสะเทือนเก้าอี้ผู้บริหารอย่างนายอาทิตย์ นันทวิทยา บ้างไม่มากก็น้อย

โดยเฉพาะหลังจากวันที่ 28 เมษายนปีนี้ที่ผ่านมา ที่หุ้นใหม่ SCBX เข้าเทรด แทนหุ้นของ SCB ที่จะถอนจากตลาดหุ้นไทยไปอย่างเป็นทางการ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างครึกโครมดังกล่าว ในมุมของประวัติศาสตร์ของทุนนิยมแล้วถือว่า คือการปฏิวัติที่เรียกว่าการตีโต้กลับหรือ counter revolution การปฏิวัติย้อนศรที่ของทุนอนุรักษ์นิยมทางการเงินอีกครั้งหนึ่ง ถัดจากที่เมื่อเกือบ 40 ปีก่อนกลุ่มผู้บริหารนำโดยนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ นำการเปลี่ยนแปลงจากธนาคารที่อยู่บน “หอคอยงาช้าง” มาเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ร้อนแรงสุด ด้วยเทคโนโลยีเช่นเครื่องถอนเงินหรือเอทีเอ็ม และกิจกรรมอื่น ๆ

จากวันนั้นเป็นต้นมา นักลงทุนต่างคาดหมายว่า ภายใต้การนำของดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร และนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCBX กำลังจะทำให้ธุรกิจการเงินที่เกินกว่าธนาคารพาณิชย์แบบจารีต ก้าวสู่ทิศทางใหม่ที่มาจากแหล่งรายได้หลากหลายช่องทาง

การปรับตัวครั้งใหญ่นี้ ที่ผู้บริหารของ SCB แถลงข่าวใหญ่ไปแล้วในไตรมาสสามปีก่อน (แม้ว่าจะต้องใช้เวลาดำเนินการในอีก 1 ปีข้างหน้า) ถือเป็นภาพสะท้อนแนวโน้มระบบทุนนิยมโลกดังที่นักเขียนฝรั่งเศสเจ้าของงานเขียนระดับโลกเรื่องทุนในคริสต์ศตวรรษที่ 20 อย่าง นายพิเกตตี้ ได้กล่าวเอาไว้ นั้นคือธุรกิจการเงิน มีเส้นทางที่เปิดกว้างให้ทำกำไรมากกว่าธุรกิจอื่น ๆ เพียงแต่เส้นทางที่จะเดินต่อไปนั้นคดเคี้ยวยิ่งนัก

การจัดตั้งบริษัท SCBX ขึ้นมา แล้วเอาเข้าตลาดแทนธนาคารพาณิชย์ตามระบบเดิม มีเหตุผลคือ เคลื่อนย้ายไปหาแหล่งรายได้ใหม่ที่กว้างกว่าเดิม และแน่นอน…มีความเสี่ยงมากกว่าเดิม

เหตุผลคือหลังจากโครงสร้างใหม่แล้วมีการระบุว่า การจัดตั้ง SCBX ขึ้น เพื่อทำให้ธุรกิจยังคงมีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้ โดยกำหนดว่า SCBX ว่าเป็น Mothership หรือ “ยานแม่” ทำนองเดียวกันกับ INTUCH หรือ PTT ที่เป็นโฮลดิ้ง มีรายได้ลดลงแต่มีอัตรากำไรสุทธิมากขึ้น และบริษัทใต้ร่มธงจะมีความคล่องตัวในการบริหารงานดีขึ้น โดยเฉพาะการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ทั้ง VC และ FIN-TECH

การเตรียมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับหุ้นส่วนที่มีธุรกิจอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากสถาบันการเงิน เช่น SCB10X ที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี (แต่ด้วยความที่ยังอยู่ภายใต้โครงสร้างของแบงก์ จึงทำให้มีข้อจำกัดและดำเนินกิจการได้ไม่เต็มที่) เท่ากับเปิดช่องในการหารายได้จากแหล่งใหม่ ๆ ได้

โครงสร้างของโฮลดิ้งใหม่ ที่ชื่อ SCBX จะทำให้บริษัทในอนาคต สามารถแบ่งรูปแบบของธุรกิจได้เป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ก็คือ

-ธุรกิจ Cash Cow ซึ่งก็คือ ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจประกัน อันเป็นธุรกิจสร้างรายได้ตามจารีต แต่ไม่มีความคืบหน้ากับยุคสมัยเพราะขีดจำกัดในการควบคุมความเสี่ยงของหน่วยงานกำกับดูแลเช่น แบงก์ชาติ หรือ คปภ.

-ธุรกิจ New Growth ที่อาจจะมีความเสี่ยงขาดทุนในระยะแรก แต่มีอนาคตในฐานะดาวรุ่งหรือ star (ตามหลักการบริหารแบบ BCG)

จากการแบ่งกลุ่มธุรกิจ จะเห็นได้ว่า SCBX จะแยกธุรกิจแบงก์กับธุรกิจอื่นออกจากกัน ซึ่งก็จะทำให้ธุรกิจใหม่ ไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบและกฎเกณฑ์ของธุรกิจธนาคารเดิม

ระบบจัดการคือ  SCBX จะปรับเปลี่ยน เป็นการแยกย่อยแต่ละธุรกิจออกเป็นบริษัทย่อย ซึ่งแต่ละบริษัท ก็จะมีทีมและมีผู้บริหาร ซึ่งแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง เป็นการบริหารงานแบบกระจายอำนาจ แตกต่างจากระบบรวมศูนย์เหมือนเดิม

การเติบโตเหล่านี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมรับการแข่งขันในธุรกิจที่การเติบโตด้วยการรุกธุรกิจไปยังต่างประเทศในระดับภูมิภาค เช่น อินโดนีเซียและเวียดนาม เพื่อสร้างการเติบโตให้กับฐานลูกค้า ที่ปัจจุบันมีอยู่ 14 ล้านราย ให้เป็น 200 ล้านราย

เมื่อความคาดหวังเกิดขึ้นแล้วตามมาด้วยความเงียบนานหลายเดือน ก่อนจะมีการแจ้งตลาดฯ ว่า ดีลล้ม ก็สะท้อนให้เห็นว่าวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร SCB ไม่มีความแน่นอน…แม้ข้อแก้ต่างว่า การตัดความเสียหายแต่เนิ่น ๆ อาจจะเป็นความกล้าหาญ แต่เหตุผลที่แจ้งวานนี้กลับสั้นชนิดน่าขายหน้าและเป็นความ “อัปยศ” อย่างสิ้นเชิง เพราะการตัดทิ้ง star ออกไป เท่ากับ เห็นอนาคตไม่สำคัญต่อไป

การฝ่าแนวต้านของดัชนีที่ระดับ 1,650 จุด จึงน่าจะเกิดแม้ว่าจะยังไม่เกิดในทันที แต่น่าจะเป็นผลสืบเนื่องที่ลึกซึ้ง 

ไม่เชื่อก็โปรดติดตาม

Back to top button