BH หุ้นดี มีอัพไซด์ ‘สาธิต’ ขายไม่สะเทือน
กลายเป็น Talk of the town ของวงการตลาดทุน และวงการ Healthcare ชื่อของ “สาธิต วิทยากร” ถูกกล่าวถึงอย่างมากในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
เส้นทางนักลงทุน
กลายเป็น Talk of the town ของวงการตลาดทุน และวงการ Healthcare ชื่อของ “สาธิต วิทยากร” ถูกกล่าวถึงอย่างมากในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลังขายหุ้นบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH ออกเกลี้ยงพอร์ต ด้วยการทำรายการใหญ่ ที่เรียกว่าบิ๊กล็อต (Big Lot) รวมจำนวน 66.89 ล้านหุ้น คิดเป็นกว่า 8.39% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ที่ราคาเฉลี่ย 178 บาทต่อหุ้น ซึ่งต่ำกว่าราคาในกระดานจนกดหุ้น BH ราคาร่วงลง 7 บาท ลบ 3.62% มายืนปิดที่ 186 บาท เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 รับทรัพย์เข้ากระเป๋าเป็นเงินรวม 1.2 หมื่นล้านบาท
“สาธิต วิทยากร” เคยเป็น Talk of the town มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา จากการขายบิ๊กล็อต BH ก้อนแรก จำนวน 71.94 ล้านหุ้น คิดเป็น 9.0412% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ที่ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 151.50 บาท ให้กับธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กำเงินจากการขายไว้ 10,892.85 ล้านบาท
หากรวมยอดจากการขายบิ๊กล็อต BH 2 ครั้ง “สาธิต” ฟันกำไรไปเกือบ 8.5 พันล้านบาท ทีเดียว
“สาธิต” ถือ BH ไม่นาน ใช้เวลาประมาณ 18-21 เดือน โดยเข้ามารับซื้อเมื่อ 25 พฤษจิยายน 2563 จำนวน 180,715,806 หุ้น หรือ 22.71% ในราคาหุ้นละ 103 บาท คิดเป็นมูลค่า 18,613.7 ล้านบาท ต่อจากบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ของ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เป็นการซื้อในนามส่วนตัวเพื่อลงทุนเพราะมองเห็นโอกาส จากการใช้เงินกู้ยืมธนาคาร จนได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ก่อนที่ “สาธิต” จะขายหุ้นออกครั้งล่าสุด โครงสร้างผู้ถือหุ้น 10 อันดับแรกของ BH ประกอบด้วย (ณ วันที่ 14 มี.ค. 2565) 1.สาธิต วิทยากร 140,196,006 หุ้น สัดส่วน 17.64% 2.บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) 106,740,417 หุ้น สัดส่วน 13.43% 3.บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 73,752,750 หุ้น สัดส่วน 9.28% 4.UOB KAY HIAN (HONG KONG) LIMITED-Client Account 72,328,265 หุ้น สัดส่วน 9.10%
5.ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 55,121,844 หุ้น สัดส่วน 6.93% 6.บริษัท วัฒนโสภณพนิช จำกัด 29,138,875 หุ้น สัดส่วน 3.67% 7.สำนักงานประกันสังคม 20,412,200 หุ้น สัดส่วน 2.57% 8.กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว 16,882,800 หุ้น สัดส่วน 2.12% 9.STATE STREET EUROPE LIMITED 14,453,874 หุ้น สัดส่วน 1.82% และ 10.SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED 14,020,222 หุ้น สัดส่วน 1.76%
“สาธิต” คร่ำหวอดในธุรกิจโรงพยาบาลมากว่า 30 ปี เป็นบุตรชายคนเล็ก ของ “นพ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร” อดีตผู้ก่อตั้งและผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งได้ขายหุ้นออกทั้งหมดในปี 2555 จากนั้นตระกูล “วิทยากร” ได้ถอยออกจากธุรกิจโรงพยาบาลไปกว่า 2 ปี
ก่อนจะหวนคืนวงการปลุกปั้นอาณาจักรธุรกิจโรงพยาบาลครั้งใหม่ ผ่านบริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC ซึ่งปัจจุบัน “สาธิต” เป็นประธานกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ กรรมการ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสอง 828.78 ล้านหุ้น สัดส่วน 21.76% รองจาก “สาธิตา วิทยากร” บุตรสาว
PRINC ก็คือ บริษัท เมโทรสตาร์ พร็อพเพอร์ตี้ หรือ METRO ที่ “สาธิต” ได้เข้าซื้อกิจการเมื่อปี 2556 เพราะเล็งเห็นโอกาสในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในการสร้างรายได้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ
จากนั้น METRO ก็กลายร่างเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น PRINC ในปี 2558 โดยเริ่มมีการนำธุรกิจโรงพยาบาลเข้ามาเสริมในพอร์ต ทำให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นสูงกว่า 85% มากกว่าสัดส่วนรายได้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เคยสร้างรายได้หลักให้กับบริษัท นำไปสู่การย้ายเข้าหมวดเฮลท์แคร์อย่างเต็มรูปแบบในปี 2562
เรื่องนี้ “สาธิต” เคยให้สัมภาษณ์ว่า การหวนกลับมาประกอบธุรกิจโรงพยาบาลในครั้งนี้มีความแตกต่างกับในอดีตที่รุ่นพ่อเคยทำโรงพยาบาลกรุงเทพ และอยู่คนละ Segment กับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โดย PRINC อยู่ในช่วงลงทุน ซึ่งจากแผนจะขยายโรงพยาบาลเป็น 20 แห่ง ภายในปี 2566 จากปัจจุบันมีโรงพยาบาลทั้งหมด 13 แห่ง ใน 11 จังหวัด เน้นกระจายการลงทุนไปเมืองรอง รวมทั้งจะต้องติดดัชนี SET100 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ขยับจาก 1.4 หมื่นล้านบาท ขึ้นไปแตะ 2.5-3 หมื่นล้านบาท
มีการพูดกันว่า “สาธิต” ขาย BH แบบพรีวิวและทำการประมูล คนที่เข้ามารับหุ้นเป็นกองทุนจากตะวันออกกลาง ซึ่ง BH มีฐานลูกค้าผู้ป่วยชาวไทย 28.2% กลุ่มผู้ป่วยต่างชาติ 86.8% โดยเฉพาะผู้ป่วยจากภูมิภาคอินโดจีน และผู้ป่วยจากตะวันออกกลาง
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่า “ปริญญ์ จิราธิวัฒน์” กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ BH น่าจะเป็น 1 ในผู้ที่เข้าซื้อหุ้นจากบิ๊กล็อตครั้งนี้ด้วย จำนวน 55,000 หุ้น ราคาเฉลี่ย 178 บาท คิดเป็นมูลค่า 9.79 ล้านบาท แต่ได้แบ่งขายในวันเดียวกัน 27,500 หุ้น ราคาเฉลี่ย 185 บาท รับกำไรไปประมาณ 192,000 บาท ซึ่งยังไม่รวมหุ้นที่มีในมือแล้ว 46,250 หุ้น
หลังโดนบิ๊กล็อตถล่มราคาหุ้นร่วงไป 7 บาท ลบไป 3.62% มายืนปิดที่ 186 บาท แต่ราคา BH ฟื้นตัวเร็ว กลับไปยืนเหนือกว่า 194 บาทได้ชั่วข้ามคืน
บรรดาโบรกเกอร์ยกให้ BH เป็นหุ้นที่ควรทยอยซื้อสะสมจากกำไรไตรมาส 2 ที่ฟื้นตัวชัดเจนตามการฟื้นตัวของผู้ป่วยต่างชาติ ซึ่งเติบโต 15.8% จากปีก่อน ส่วนผู้ป่วยในประเทศเติบโต 11.3% โดยได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรในปีนี้ 30% และเพิ่ม 13% ในปีหน้า เป็น 4,124 ล้านบาท โต 239% จากงวดเดียวกันปีก่อน และโตอีก 20% ในปี 2566
ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน หุ้น BH วิ่งมาแล้วเกือบ 40% การเปิดประเทศทำให้ลูกค้าต่างชาติกลับมา โบรกเกอร์มองว่าจะไปต่อ ให้เป้าหมาย 213 บาท มีอัพไซด์ 9.5% โดย BH เคยขึ้นสู่จุดสูงสุดตลอดกาลที่ 243 บาท ซึ่งทำไว้เมื่อปี 2558