8 ปี 8 ความเคลื่อนไหว KBANK

จาก 8 ปี 8 ดีลความเคลื่อนไหวดังกล่าวเห็นได้ชัดว่ากลยุทธ์ KBANK เดินหน้าควบคู่ระหว่างการ “ทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้ง”


ตลอดช่วงทศวรรษปีที่ผ่านมา “ธนาคารพาณิชย์ไทย” เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเนื่อง ทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มจากบุคลากรที่มีอยู่..การแตกไลน์การให้บริการที่หลากหลาย และการทรานส์ฟอร์มสู่โลกการเงินยุคใหม่ จึงได้เห็นภาพการขยายการลงทุนของกลุ่มธนาคารพาณิชย์หลากหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือจับมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงการให้บริการทางการเงินแบบเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

หนึ่งในธนาคารที่มีความเคลื่อนไหวมากสุด คือ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) โดยรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ “8 ปี 8 ความเคลื่อนไหว” ในลักษณะ Strategic Moves หรือการปรับตัวเชิงกลยุทธ์ด้วยการสร้างพันธมิตรจากหลายธุรกิจ เริ่มจากปี 2557 มีการจับมืออาลีบาบา (Alibaba) ผู้นำตลาดอีคอมเมิร์ซโลก เพื่อต่อยอดช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย นำสินค้าเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ สร้างโอกาสการขายสินค้าและขยายตลาดส่งออก เพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ด้วยประสิทธิภาพสูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนต่ำลง

ถัดมาปี 2559 จับมือกับ IBM เพื่อนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้สร้างระบบต่าง ๆ ในการทำธุรกิจ ด้วยการเปิดตัวระบบแรก OriginCert API สำหรับใช้ Blockchain ในการจัดการเอกสารแทนกระดาษทั้งหมด โดย IBM มีการลงทุนเพื่อนำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน Blockchain จากเมืองนอกเข้ามาสู่เมืองไทย

ปี 2561 มีการร่วมมือกับ “แกร็บ” พัฒนานวัตกรรมร่วมกัน เพื่อร่วมสร้างประสบการณ์ใหม่ ของการใช้บริการแกร็บ เชื่อมโยงผู้คนที่ใช้บริการทั้งระบบ ทั้งลูกค้าที่ใช้บริการ, ผู้ขับขี่, ร้านค้าและตัวแทนของแกร็บ โดยให้บริการทางการเงินแกร็บเพย์ บาย เคแบงก์ แอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน รวมถึงขยายการให้บริการทางการเงินอื่น ๆ

ช่วงปีเดียวกันนั่นเองได้จับมือกับ LINE จัดตั้งบริษัท กสิกรไลน์ จำกัด ผู้ใช้งาน LINE ในประเทศไทยให้เข้าถึงบริการทางการเงินที่ใช้งานง่ายสะดวกมากยิ่งขึ้น จนเกิดบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ในประเทศไทย และลูกค้าสามารถใช้บริการของธนาคารบน LINE ได้ทันที

ต่อยอดปี 2562 จับมือบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR พัฒนาแอปพลิเคชัน Blue connect รายแรกในไทย โดยใช้เป็นกระเป๋าเงินออนไลน์ เพื่อใช้บริการปั๊มปตท.และร้านในเครือ OR ด้วยฟังก์ชันหลักคือ e-wallet ลูกค้าไม่ต้องพกเงินสด เพื่อตอบสนองผู้บริโภคยุคดิจิทัล สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้เงินสดมากขึ้น

แต่การขยายเข้าสู่ความเป็น “ดิจิทัลแบงก์กิ้ง” ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มาถึงปี 2564 ร่วมกับฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส ขยายจุดให้บริการเคแบงก์เซอร์วิส (KBank Service) ด้วยบริการถอนเงินที่ตู้บุญเติมผ่าน K PLUS ได้เป็นครั้งแรก สามารถทำธุรกรรมทั้งฝาก-โอน-ถอนได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ปีเดียวกันด้วยเงื่อนไขการแก้ปัญหา NPL อันเกิดจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ KBANK เข้าร่วมทุนกับบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JKAMC) เพื่อประกอบธุรกิจให้บริการติดตามหนี้และธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ

ล่าสุดช่วงกลางเดือน ก.ค. 65 ที่ผ่านมา มีการร่วมทุนกับบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG เพื่อจัดตั้งบริษัท บริษัท กสิกร คาราบาว จำกัด (KBAO) เพื่อให้บริการด้านการเงินในกลุ่มธุรกิจของ CBG ทั้งการใช้ข้อมูลในการพิจารณาสินเชื่อเงินกู้ยืมแก่เจ้าของร้านค้าปลีก พันธมิตรทางธุรกิจในร้านสะดวกซื้อ ภายใต้เครือข่าย CJ ด้วยเม็ดเงินเบื้องต้นกว่า 15,000 ล้านบาท

จาก 8 ปี 8 ดีลความเคลื่อนไหวดังกล่าวเห็นได้ชัดว่ากลยุทธ์ KBANK เดินหน้าควบคู่ระหว่างการ “ทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้ง” พร้อม ๆ กับรูปแบบ “สินเชื่อ” ที่หลากหลายมากขึ้นที่สำคัญการร่วมพันธมิตรจาก AMC ทำให้ช่วยตอบโจทย์ปัญหา “หนี้เสีย” ไปพร้อมกัน..!!

Back to top button