พาราสาวะถี

ทอดเวลาออกไปอีกไม่ถึงสัปดาห์ตามคาด หลังการประชุมนัดพิเศษของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถกปม 8 ปีนายกรัฐมนตรีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ


ทอดเวลาออกไปอีกไม่ถึงสัปดาห์ตามคาด หลังการประชุมนัดพิเศษของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถกปม 8 ปีนายกรัฐมนตรีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ โดยมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 501 วันอังคารที่ 11 กันยายน 2561 ซึ่งมีวาระการประชุมรับรองการบันทึกประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมตรวจทานแล้วโดยไม่มีการแก้ไข

จากเดิมที่คาดหมายกันว่าเมื่อได้รับคำชี้แจงของ 3 คนคือ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. และ ปกรณ์ นิลประพันธ์ อดีตเลขานุการ กรธ.แล้ว จะไม่มีการเรียกเอกสารเพิ่มอีก เหมือนอย่างที่ วิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมไม่ว่าครั้งไหนของ กรธ.จะมีน้ำหนักน้อยในกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่การเรียกเอกสารการประชุมครั้งที่ 501 เพิ่ม ก็น่าสนใจเพราะมันเป็นการหักล้างสิ่งที่มีชัยทำคำชี้แจงไปอย่างสิ้นเชิง

หากไม่ใช่แค่พิธีกรรมก็น่าสนใจต่อผลที่จะออกมา แต่ว่าเล่ห์เหลี่ยมของบรรดาเนติบริกรศรีธนญชัยทั้งหลายนั้นไม่ธรรมดา ถ้าการหลุดของเอกสารไม่ใช่ภาพฟ้องการแตกกันภายในของขบวนการสืบทอดอำนาจ อีกด้านก็จะเป็นการตีไพ่ของฝ่ายกุมอำนาจที่หวังจะให้ศาลรัฐธรรมนูญเก็บน็อค ทว่าเมื่อสังคมจับตากันอย่างใกล้ชิด มีการขุดหลักฐานต่าง ๆ มาหักล้าง การอ้างเอาแต่ได้ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะ กลับยิ่งทำให้เรื่องนี้มัดตัวแน่นขึ้น จะปฏิเสธยังไงว่าตัวเองไม่ได้เป็นนายกฯ มาแล้ว 8 ปี

สิ่งที่น่าสนใจจากถ้อยคำสัมภาษณ์ของวิษณุเพื่อที่จะด้อยค่าการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 และ 501 ที่ว่าเป็นการประชุมหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ไปแล้ว 1 ปีนั้น แล้วสิ่งที่นักกฎหมายศรีธนญชัยอ้างว่าคำชี้แจงของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจฟังขึ้น ปมที่ยกเอามติคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษมาอ้างว่า การนับเวลา 8 ปีให้นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ ในฐานะเนติบริกรชั้นครูไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจต่อการอ้างในข้อนี้บ้างหรืออย่างไร

มีข้อสังเกตมาจาก ไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษาพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ยุค คสช.เรืองอำนาจ ต่อประเด็นนี้ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษนี้มีจำนวน 7 คนที่เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีมีชัยเป็นประธาน กรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษนี้เคยร่วมประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 ในปี 2561 และร่วมมีมติว่าการนับเวลา 8 ปีต้องนับเวลาตั้งแต่ดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ นั่นคือการดำรงตำแหน่งตามพระบรมราชโองการ 24 สิงหาคม 2557 ซึ่งได้มีการรับรองรายงานการประชุมดังกล่าวในการประชุมครั้งที่ 501

การประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2565 ในช่วงที่ฝ่ายค้านจะร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงทำให้สงสัยว่าเป็นการเตรียมการสร้างหลักฐานเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการชี้แจงนั่นเอง ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษดังกล่าว กับมติของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 ซึ่งเป็นชุดเดียวกัน อย่างไหนจะน่าเชื่อถือกว่ากัน การสั่งให้เลขาฯ สภาผู้แทนราษฎรส่งสำเนาบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 501 จึงน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

ขณะเดียวกัน ก็ต้องตั้งคำถามกับเนติบริกรศรีธนญชัยระหว่างการประชุม กรธ.หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ไป 1 ปี เพื่อจัดทำคู่มือตีความรัฐธรรมนูญ กับการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษที่ประชุมให้ความเห็นเรื่องวาระ 8 ปี หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ไป 5 ปีแล้วนั้น อย่างไหนที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่ากัน มากไปกว่านั้นการอ้างความเป็นนายกฯ เมื่อปี 2557 สิ้นสุดลงหลังรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้นั้น ลองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเมืองไทยเป็นเช่นนั้นหรือไม่

รัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมทั้งฉบับ 2560 ไม่เคยบัญญัติให้นายกฯ พ้นตำแหน่งเพราะการใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ทุกฉบับมีบทบัญญัติเหมือนกันให้นายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ เป็น นายกฯ ตามรัฐธรรมนูญใหม่ต่อเนื่องกันไป ความเป็นนายกฯ นั้น รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เคยประกาศใช้มาแล้วในประเทศไทย บัญญัติตรงกันว่า ความเป็นนายกฯ ตั้งแต่เวลาที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้ง จะสิ้นสุดลงต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

ความเป็นนายกฯ จะสิ้นสุดลงตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัตินั้น คือ ตาย ครบวาระการดำรงตำแหน่ง ลาออก ถูกสภาอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือ ถูกศาลพิพากษาให้พ้นจากตำแหน่ง และขาดคุณสมบัติ ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใดให้พ้นจากตำแหน่งเพราะการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ เพราะการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันเช่นนี้ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งจึงไม่ขาดตอน จึงได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย ป.ป.ช.ว่าไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินในกรณีพ้นจากตำแหน่งและในกรณีเข้ารับตำแหน่งใหม่

ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่อดีตกุนซือพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ตั้งข้อสังเกตคือ การปฏิเสธว่าความเป็นนายกฯ เมื่อปี 2557 ไม่ถูกนำมานับรวม 8 ปีตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ก็เท่ากับว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและทีมกฎหมาย จะต้องปฏิเสธพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ด้วย ซึ่งก็ไม่มีรัฐธรรมนูญหรือบทบัญญัติใดให้พระบรมราชโองการฯ สิ้นสุดโดยการใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ไม่มีใครมีอำนาจหรือมีสิทธิ์ชี้เอาตามอำเภอใจว่าพระบรมราชโองการฯ สิ้นสุดเมื่อนั้นเมื่อนี้ ต้องมีรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนในเรื่องนี้

นั่นหมายความว่า คนที่ชอบอ้างว่าทุกคนต้องเคารพกฎหมาย กำลังใช้กระบวนการตีความตามอำเภอใจ ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปก็ไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายแล้ว ยิ่งพิจารณาจากอาการของทีมงานผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่มั่นใจว่ารอดแล้ว ก็อดที่จะสงสารประเทศชาติไม่ได้ เพราะการรอดของตัวเองมันจะทำให้บ้านเมืองไม่รอด คงไม่ต้องบอกว่าเพราะอะไรประชาชนส่วนใหญ่รู้กันดี ฝ่ายกุมอำนาจก็รู้ แต่ยังไม่สำเหนียก ไร้สำนึก คำว่าเสียสละไม่เคยอยู่ในหัว อยู่ต่อไปในอำนาจแต่คุณภาพชีวิตประชาชนย่ำแย่จะมีประโยชน์อะไร ถ้ารู้จักพอยอมหยุดตามที่เที่ยวโพนทะนาประเทศจะเดินไปข้างหน้าจะเป็นจริงได้เสียที

Back to top button