นายกฯ ขาดตอน
ถึงศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติให้ “บิ๊กตู่” หยุดปฏิบัติหน้าที่ 5:4 แต่ความคาดหมายทั่วไป ก็ยังเชื่อว่า “บิ๊กตู่” จะรอด ได้ “ไปต่อ”
ถึงศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติให้ “บิ๊กตู่” หยุดปฏิบัติหน้าที่ 5:4 แต่ความคาดหมายทั่วไป ก็ยังเชื่อว่า “บิ๊กตู่” จะรอด ได้ “ไปต่อ” เพียงแต่จะรอดด้วยหลักกฎหมายหรืออภินิหารกฎหมายเท่านั้น
ข้อเท็จจริงแบบชั้นเดียวเชิงเดียวที่สุดก็คือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557
ฉะนั้นก็จะครบ 8 ปีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาแล้ว
แต่กฎหมายไทยก็ยังดิ้นได้ด้วยการตีความ ฉะนั้นการนับวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ “ลุงตู่” จึงอาจเฉไฉไปเริ่มต้นที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งสามารถ “ไปต่อ” ได้ถึงปี 2568
และ/หรือจะนับอายุ 8 ปี “ลุงตู่” ตั้งแต่หลังเลือกตั้งปี 2562 ก็อาจจะ “ไปต่อ” ได้ถึงปี 2570 ซึ่งตอนนั้นลุงตู่ก็จะมีอายุ 82 ปี แก่น้อง ๆ มหาเธร์ตอนเข้ารับตำแหน่งรอบ 2 เลยทีเดียว
ก่อนถึงวันประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 ก.ย. ก็ปรากฏว่า มีเอกสารสำคัญหลุดโดยพร้อมเพรียง ทั้งคำให้การของนายมีชัย ฤชุพันธุ์อดีตประธานกรธ.ร่างรัฐธรรมนูญ และคำให้การของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
คำให้การของพล.อ.ประยุทธ์ ใช้ข้อต่อสู้ว่า เป็น “นายกฯ ขาดตอน” แบ่งออกได้ถึง 3 ตอน คือ ตอนรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ตอนรัฐธรรมนูญ 2560 และตอนหลังเลือกตั้งปี 2562
“รัฐธรรมนูญชั่วคราวสิ้นสุดการบังคับใช้ไปแล้ว เมื่อมีรัฐธรรมนูญ 60 ฉะนั้นจะนำอายุตอนเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมานับรวมมิได้”
ความเป็นนายกรัฐมนตรีจึงไม่สิ้นสุดลง
คำให้การนายกฯ ตู่ ยังอ้างถึงการตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิเศษตอนต้นปี 2565 ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็น “คนหน้าเดิม” เดียว ๆ กับกรธ.ร่างรัฐธรรมนูญ และเห็นตรงกันว่า จะนับอายุตอนเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมิได้ (2557-2560)
คำให้การของนายมีชัยนี่สิ น่าสนใจ เพราะก่อนหน้านั้นมีการเผยแพร่บันทึกกรธ.ฉบับที่ 500 ลงวันที่ 7ก.ย. 2561 ปรากฏความเห็นของนายมีชัยและนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ระบุวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ ต้องนับรวมก่อนปี 2560 ด้วย
นายมีชัยจะพลิกลิ้นกลับคำหรือไม่
และก็เป็นไปตามคาดครับ นั่นคือ นายมีชัย “ด้อยค่า” ความเห็นตัวเองในบันทึก โดยอ้าง “เป็นการจดรายงานที่ไม่ครบถ้วน กรธ.ยังไม่ได้ตรวจรับรองการประชุมนั้น เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และกรธ.ได้ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 12 ก.ย. 64”
สุดยอดจริง ๆ ครับ ผู้อาวุโสท่านนี้ ถ้าเป็นภาษาของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็ต้องเรียกว่า “ฮ้อแร่ด” เขี้ยวลากดินอะไรประมาณนั้น
ใครล่ะครับ จดรายงานการประชุม มิใช่เลขานุการนายปกรณ์ นิลประพันธ์ คนระดับเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาดอกหรือ ไม่ใช่เด็กปวส.จบวิชาเลขานุการิณีนะครับ
คำให้การนายมีชัยระบุว่า การนับเริ่มต้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ เริ่มต้นแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้
การด้อยค่าความเห็นตนเองของนายมีชัย กลับถูกเปิดโปงต่อมาว่า ยังมีการประชุมกรธ.ครั้งที่ 501 ลงวันที่ 11 ก.ย. 2561 ขึ้นอีก เป็นการรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 500 และไม่ตรงกับเอกสารคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญของนายมีชัย “ที่ระบุการประชุมครั้งที่ 500 เป็นการประชุมครั้งสุดท้าย”
อาจจะแก่แล้วก็เลยหลง ๆ ลืม ๆ
เช่นเดียวกับการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ก็คงจะเอาไว้ป้องกันทักษิณนั่นแหละ และก็ไม่นึกว่าพล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ยาวและต้องการจะอยู่ต่อไปถึงเพียงนี้ จึงร่างกฎหมายออกมา “รัดคอ” ตัวเองเช่นนี้
อย่างไรก็ดี พล.อ.ประยุทธ์มีประกาศนียบัตรการรอดเงื้อมมือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาได้ 3 ครั้ง 3 คราแล้ว ทั้งการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ การไม่เป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” และการอาศัยบ้านหลวงฟรี ยังไงก็รอด!
เพียงแต่จะรอดด้วยหลักกฎหมายหรืออภินิหารกฎหมาย สง่างามหรือไม่สง่างามเท่านั้น