พาราสาวะถีอรชุน
เกิดเหตุโศกสลดไปทั่วโลก เมื่อกลุ่มก่อการร้ายที่ไม่ปรากฏว่ามีการแสดงตัวแสดงความรับผิดชอบ ได้ใช้ค่ำคืนของวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก่อเหตุรุนแรงทั้งระเบิดฆ่าตัวตายและยิงกราดเข้าใส่ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตกว่าร้อยศพ กลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สาเหตุของการลงมือครั้งนี้หนีไม่พ้นปมก่อการร้ายอย่างแน่นอน
เกิดเหตุโศกสลดไปทั่วโลก เมื่อกลุ่มก่อการร้ายที่ไม่ปรากฏว่ามีการแสดงตัวแสดงความรับผิดชอบ ได้ใช้ค่ำคืนของวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก่อเหตุรุนแรงทั้งระเบิดฆ่าตัวตายและยิงกราดเข้าใส่ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตกว่าร้อยศพ กลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สาเหตุของการลงมือครั้งนี้หนีไม่พ้นปมก่อการร้ายอย่างแน่นอน
หลังเกิดเหตุกลุ่มไอซิสได้ทวีตข้อความแสดงความชื่นชมต่อกลุ่มคนที่ลงมือทันที เมื่อปะติดปะต่อสถานที่ก่อเหตุ ทำให้เห็นจิ๊กซอว์สำคัญว่าการกระทำดังกล่าว น่าจะเป็นการกระทำในเชิงสัญลักษณ์แสดงความไม่พอใจต่อปฏิบัติการทางทหารกวาดล้างกลุ่มไอซิสในซีเรีย เพราะสถานที่สำคัญสองแห่งนั่นก็คือ สนามสตาร์ด เดอร์ ฟร้องซ์ และโรงละครบาตากล็อง ล้วนแต่มีเหตุการณ์สำคัญ
ที่สนามฟุตบอลมีเกมนัดกระชับมิตรระหว่างทีมตราไก่กับทีมชาติเยอรมัน โดยมีฟรองซัวส์ ออลลองส์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส พร้อมด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีร่วมชมเกมด้วย ส่วนที่โรงละครมีการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินจากประเทศสหรัฐอเมริกา งานนี้เป้าหมายที่ถูกเลือกชัดเจนเหลือเกินว่าเป็นการส่งสัญญาณไปถึงประเทศมหาอำนาจเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ครั้งนี้ที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยคงเป็นคำให้สัมภาษณ์ของ จิลส์ การาชง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ที่บอกว่าการก่อการร้ายนั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งประเทศไทย โดยยกกรณีระเบิดแยกราชประสงค์เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเป็นตัวอย่าง เลยไม่รู้ว่า ผู้มีอำนาจและฝ่ายความมั่นคงจะแฮปปี้กับความเห็นแบบนี้หรือเปล่า
คงต้องเข้าใจเพราะต่างประเทศเขาจะพูดตรงไปตรงมา ไม่กระมิดกระเมี้ยน เพื่อหวังให้ประชาชนตื่นตัวและตระหนักรู้ ขณะที่ประเทศไทยไม่น่าเชื่อว่า ปณิธาน วัฒนายากร นับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งทางการเมืองในยุครัฐบาลเทพประทานมาจนถึงนั่งที่ปรึกษารองนายกฯฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลคสช. ความเห็นทางวิชาการจะเปลี่ยนไปได้ถึงเพียงนี้
มุมวิเคราะห์เรื่องสถานการณ์ก่อการร้ายในฝรั่งเศสนั้นน่าฟัง แต่พอพูดถึงกระบวนการประชาธิปไตยหรือสิทธิเสรีภาพแบบตะวันตกแล้วลากโยงมาถึงประเทศไทย ในทำนองที่ชี้ชวนให้เห็นว่า จำเป็นต้องมีเอกลักษณ์ไม่เลียนแบบอีกซีกโลกหนึ่ง ช่างเป็นอะไรที่แถไถได้ใจจริงๆ เลยต้องตั้งคำถามว่าแล้วที่บินไปเรียนมาและสอนนิสิต นักศึกษานั้นไปเรียนในโลกอิสลามหัวรุนแรงมาหรือว่าประเทศศิวิไลซ์อย่างชาติตะวันตก
ด้วยท่วงทำนองเช่นนี้จึงไม่แปลกใจที่เราจะได้เห็นอาการสีข้างเข้าถูของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.นับตั้งแต่ระบบเลือกตั้งส.ส.จนมาถึงการให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯพรรคละ 5 คนและซ้ำกันได้ จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จาก นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็น “วิธีการวิตถาร” จนทำให้ท่านประธานต้องออกมาตอบโต้ทันควัน
ทั้งที่ความจริงแล้ว การพูดดังกล่าวของนิพิฏฐ์ตั้งใจที่พาดพิงไปถึงพรรคคู่แข่งอย่าง พลังประชาชนเมื่อคราวเสนอชื่อ พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินชิงตำแหน่งนายกฯกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหารมาเสร็จสรรพเรียบร้อย และกรณีเพื่อไทยเสนอชื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 เป็นนายกฯแทนที่จะเป็น ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรค
ทั้งสองกรณีนั้นจะว่าไปแล้วมันก็ไม่มีอะไรเสียหาย เพราะเป็นการเสนอกันตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยและคนที่ได้รับการเสนอชื่อก็เป็นส.ส.ที่ผ่านการเลือกของประชาชน คนของพรรคเก่าแก่ก็ชอบแต่ที่จะสร้างวาทกรรมทำลายคู่แข่งเท่านั้น หนีไม่พ้นเอาดีเข้าตัว หากพูดถึงกรณีการได้เป็นนายกฯของอภิสิทธิ์แล้วต้องถามกลับไปว่านั่นเป็นวิถีที่สง่างามของพรรคประชาธิปัตย์แล้วหรือ
ประเด็นว่าด้วยให้พรรคเสนอชื่อนายกฯก่อนเลือกตั้งเพื่อเปิดทางให้คนนอกเข้ามานั่งเก้าอี้ผู้บริหารประเทศนั้น มีความเห็นจากนักวิชาการหลายรายที่น่าสนใจ โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพามองว่า เป็นความลักลั่นของข้อเสนอแบบนี้ คือถ้าต้องการนายกฯที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็บอกให้ชัดตั้งแต่ต้น
การทำลักษณะนี้เป็นการประนีประนอมกันทั้งสองฝ่าย เมื่อลักลั่น กรธ.ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีวาระซ่อนเร้นในการนำนายกฯคนนอกเข้ามาโดยให้พรรคแต่ละพรรคเสนอชื่อ 5 คน ปัญหาซึ่งสังคมยังไม่ได้คิดต่อคือแล้วถ้าพรรคการเมือง 3-4 พรรคเสนอคนเดียวกัน หรือพรรคเหล่านี้สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลหรือเปล่าซึ่งเป็นเรื่องน่าคิด
แต่ที่พิลึกพิลั่นคือไม่มีประเทศไหนให้พรรคเสนอชื่อทีเดียว 5 คน แล้วกรธ.มีเกณฑ์ไหนว่าถ้าพรรคได้เสียงข้างมาก จะเอาคนที่สามหรือสี่เป็นนายกฯ ปัญหาหลักคือมีชัยพยายามประนีประนอมกับกระแสสังคมและชนชั้นนำที่อยากอยู่ในสนามอำนาจโดยไม่ได้อยู่ในกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งคงสอดรับกับความเห็นของ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
ที่เห็นว่า พรรคการเมืองออกมาตอบโต้หนักเนื่องจาก แนวคิดดังกล่าวไม่เป็นประชาธิปไตยตามสิ่งที่เขายึดถือปฏิบัติกันมาตามหลักสากล เป็นความพยายามให้มีคนที่ไม่ต้องยึดโยงกับประชาชนเข้าไปมีอำนาจเป็นนายกฯ ความคิดเป็นอย่างนี้จึงมีปัญหา ถ้าไม่คิดอย่างนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร คิดอย่างนี้เพราะตั้งเป็นสมมุติฐานแล้วว่าคนที่มาจากนักการเมืองหรือมาจากการเลือกตั้งเป็นคนเลว คนไม่ดี
ทางที่ดีอยากแนะนำให้เปลี่ยนความคิดตรงนี้ นักการเมืองไม่ได้เลวหมดทุกคน ยกเว้นแต่ท่านจะเชื่อว่าเลวทั้งหมดเท่านั้นเอง หรือว่าท้ายที่สุดจะเหมือนอย่างที่ ดุลยภาค ปรีชารัชช สรุปไว้ว่า หากรัฐและสังคมไทยยังมิสามารถหาจุดสมดุลระหว่างสองสมการหลักอันได้แก่ ประชาธิปไตยที่ปราศจากกฎระเบียบ มีค่าเท่ากับอนาธิปไตย และ กฎระเบียบที่ปราศจากประชาธิปไตย มีค่าเท่ากับเผด็จการ วัฏจักรการเมืองไทยยังต้องมีพลังของระบอบอำนาจนิยมหรือกึ่งอำนาจนิยมเป็นส่วนผสมหลักของพัฒนาการทางการเมืองต่อไป