พาราสาวะถี
เป็นไปตามนั้น ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปม 8 ปีความเป็นนายกรัฐมนตรีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ไม่เรียกเอกสารเพิ่ม จึงกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา
เป็นไปตามนั้น ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปม 8 ปีความเป็นนายกรัฐมนตรีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ไม่เรียกเอกสารเพิ่ม จึงกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติและอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในวันศุกร์ที่ 30 กันยายน เวลา 15.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี ชั้น 3 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เหลือแค่ต้องลุ้นกันว่าผลจะออกมาอย่างไร จะได้ไปต่อหรือพอแค่นี้ แนวโน้มของคำวินิจฉัยที่จะออกมานั้น ก็เห็นเหมือนกันหมดแล้วว่าจะเป็นแบบไหน คงไม่มีอะไรที่พลิกแพลงมากไปกว่าที่ปรากฏเป็นข่าว
ขณะที่ความสำคัญของเอกสารคำชี้แจงที่ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้ในกระบวนการพิจารณานั้น สมชัย ศรีสุทธิยากร ได้จัดวางน้ำหนักของความน่าเชื่อถือไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งต้องย้ำตรงนี้ว่า ไม่ใช่การชี้นำศาลและไม่เกี่ยวว่าศาลจะต้องตัดสินไปในแนวทางนี้ สิ่งที่สมชัยมองก็คือ อย่างแรกมาตรา 158 วรรคสี่ของรัฐธรรมนูญ ระบุชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีไม่สามารถดำรงตำแหน่งเกินแปดปี ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ตรงนี้ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา เจตนาของผู้ร่างก็ต้องการที่จะให้ครอบคลุมไปถึงคนที่เป็นนายกฯ อยู่ก่อนหน้านี้
ในความหมายคงหนีไม่พ้น ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง ขณะเดียวกันเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จากเอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของมาตรา 158 วรรคสี่ ที่อยู่ในหน้า 275 ย่อหน้าสุดท้าย ที่ระบุเหตุผลว่า “ต้องการมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองยาวนานเกินไป อันนำไปสู่ความวิกฤตทางการเมือง” ยิ่งประเด็นนี้เมื่อย้อนกลับมาสู่คำถามว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเป็นนายกฯ มากี่ปีแล้ว ก็จะยิ่งชัดเจนว่าผูกขาดอำนาจนานเกินไปแล้วหรือไม่ และมีโอกาสจะนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองหรือเปล่า
ประเด็นสำคัญที่เป็นหัวใจของกรณีนี้ แต่ถูกอดีตประธาน กรธ.อย่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ ด้อยค่าสิ่งที่ตัวเองพูดและร่วมกันทำมากับมือ นั่นก็คือ บันทึกการประชุมของ กรธ. ครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 ที่มีประเด็นพิจารณาเรื่อง มาตรา 158 วรรคสี่ ซึ่งได้มีการพูดชัดเจนว่า หมายความรวมถึงนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งก่อนหน้าที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ด้วย คงไม่ได้ต้องการจะบอกว่าหมายถึงนายกฯ คนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีหัวโขนหัวหน้า คสช.ด้วยกระมัง
นอกจากนั้น บันทึกการประชุมของ กรธ.ครั้งที่ 501 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 ที่ในวาระการรับรองบันทึกการประชุม ระบุว่า มีการตั้งอนุกรรมการตรวจบันทึกการประชุม และ กรธ.รับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 โดยไม่มีการแก้ไข แม้จะอ้างว่าเจ้าหน้าที่บันทึกไม่หมด ไม่รอบคอบ แต่ก็ถูกหักล้างจากการที่ระบุในบันทึกการประชุมครั้งที่ 501 ว่ามีอนุกรรมการตรวจบันทึกการประชุมและที่ประชุม กรธ.มีการรับรองโดยไม่มีการแก้ไข ถ้ายึดตามหัวข้อทั้ง 4 นี้เป็นหลักพิจารณา ก็จะได้คำตอบว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจควรจะได้ไปต่อหรือไม่
ส่วนเอกสารคำชี้แจงของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจในฐานะผู้ถูกร้องนั้น สมชัยให้น้ำหนักปานกลาง เนื่องจากเป็นคำชี้แจงที่ต้องอ่านและพิจารณาแยกแยะในส่วนที่พอมีเหตุผล แต่ไม่ใช่เชื่อตามทั้งหมด เพราะผู้ถูกร้อง จะใช้เหตุผลเข้าข้างตัวเองอยู่แล้ว ขณะที่คำชี้แจงของมีชัย สมชัยไม่ได้มองว่ามีน้ำหนักน้อย แต่ไม่ให้ราคาเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากการให้เหตุผลขัดกับข้อเท็จจริงที่เป็นเอกสารการประชุมของ กรธ. หากไม่จงใจถือเป็นความจำที่แย่ตามวัยที่สูงขึ้น แต่หากจงใจถือเป็นการให้ข้อมูลเท็จต่อศาลรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม กูรูกฎหมายบางรายวิเคราะห์อีกว่า แนวโน้มคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจจะออกมาเพียงแค่ว่า ความเป็นนายกฯ ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจสิ้นสุดลง เนื่องจากครบ 8 ปีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 หรือไม่ ไม่น่าจะมีการชี้ไปถึงว่าควรจะเริ่มนับอายุความเป็นนายกฯ ตั้งแต่ปี 2560 หรือ 2562 เนื่องจากไม่ได้มีการร้องขอให้วินิจฉัยในกรณีนี้ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็น่าลุ้นในแง่ของคะแนนโหวตที่จะออกมา ต้องตัดสินกันเหมือนคดีซุกหุ้นของทักษิณหรือไม่
เห็นเค้าลางจากมติ 5 ต่อ 4 ที่สั่งให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจหยุดการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ก็พอจะทำให้เห็นทิศทางของการวินิจฉัยที่จะเกิดขึ้นได้ ถ้ายึดเอาสถานการณ์เป็นตัวตั้งประกอบกับข้อเท็จจริงตามกฎหมาย หากปมไม่ให้ใครเป็นนายกฯ เกิน 8 ปี เพราะเกรงจะผูกขาดอำนาจและทำให้เกิดวิกฤตทางการเมือง หมายถึงการห้ามนายกฯ ในอดีตที่ยังมีชีวิตอยู่ในเวลานี้ด้วย มันย่อมไม่มีข้อยกเว้นในกรณีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจด้วยเช่นกัน
ถ้าไม่โกหกตัวเอง และใช้เล่ห์กลทางกฎหมายเพื่อหวังให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจรอดจากกับดักที่วางกันไว้เองนั้น การเขียนกฎหมายที่ห้ามการดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปีไม่ว่าจะต่อเนื่องหรือไม่ก็ตาม ควรระบุให้ชัดในรัฐธรรมนูญไปเลยว่า ให้นับระยะเวลา 8 ปีของความเป็นนายกฯ ตามข้อบังคับของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับ ไม่ครอบคลุมไปถึงนายกฯ ที่เคยดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ ทำอย่างนี้ตั้งแต่ต้นคงไม่มีปัญหาให้ต้องมาตีความกันให้เมื่อยตุ้ม
ขณะเดียวกัน หากไปถามความเข้าใจของประชาชนต่อข้อกฎหมายนี้ เชื่อโดยสุจริตใจว่า คนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดก็จะเข้าใจว่า เป็นการบังคับใช้กับอดีตนายกฯ ทุกคน ความจริงอีกเรื่องที่ทำให้เห็นถึงความพยายามเอาตัวรอด และชี้ให้เห็นว่า กรธ.ชุดมีชัยวางแผนพลาด คือ การที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจตั้งกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ เพื่อให้ความเห็นเรื่องดังกล่าว โดยมีชัยนั่งเป็นประธานพร้อมด้วยอดีต กรธ.อีกหลายคน ตรงนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงเจตนาไม่บริสุทธิ์ ลำพัง “รัฐธรรมนูญร่างมาเพื่อพวกเรา” ก็ถือว่าน่าสมเพชเต็มทนแล้ว
น่าสังเกตเหมือนที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทยว่า มีชัยและคณะกฤษฎีกาชุดพิเศษเสนอความเห็นที่เป็นการหักล้างความเห็นตัวเองตอนเป็น กรธ. แล้วเสนอเป็นหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญ การดำเนินการมีลักษณะปิดลับ ไม่มีใครรู้จนมีเอกสารหลุด ทั้งที่ความจริงใช้กรรมการกฤษฎีกาคณะปกติก็ได้ พฤติกรรมส่อเจตนาว่าเป็นการใช้ลูกน้องสร้างหลักฐานเอาตัวรอด การกลับไปกลับมา และบิดเบือนความจริงที่โดนจับได้เช่นนี้ ทำให้ประเทศเสียหายหนัก การมีนายกฯ และนักกฎหมายแบบนี้ดีต่อบ้านเมืองเช่นนั้นหรือ