‘วิกฤติลิเธียม’ โจทย์ใหญ่แบตเตอรี่ EV

หลังจากกระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร มีการปรับลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร สำหรับรถ EV ที่นำเข้ามาทั้งคัน


หลังจากกระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร มีการปรับลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป (รถ EV) ที่นำเข้ามาทั้งคัน และเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมมีหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิจากกรมสรรพสามิต มีผลนับตั้งแต่ประกาศบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

วันนี้ (22 ก.ย.) กรมสรรพสามิต เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) พิจารณามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่รถ EV ว่ากันว่ามีทั้งมาตรการทางด้านภาษี พร้อมให้เงินอุดหนุนตามขนาดความจุของแบตเตอรี่ที่คิดเป็นกิโลวัตต์-ชั่วโมง (Kwh) เบื้องต้นหากผลิตแบตเตอรี่ 1 กิกะวัตต์ จะได้รับเงินอุดหนุนประมาณ 600 ล้านบาท

ดูเหมือนจะเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการโรงงานแบตเตอรี่ แต่ข้อเท็จจริงพบว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า กำลังเผชิญปัญหาเรื่องต้นทุนแบตเตอรี่รถ EV ด้วยเช่นกันหลังความต้องการแร่ลิเธียมมากขึ้นในทุกภาคอุตสาหกรรม โดยภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจหรือแม้แต่ชีวิตประจำวันของคนทั่วไปยุคนี้ ล้วนพึ่งพาการใช้งานแบตเตอรี่

เริ่มตั้งแต่แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือจนถึงแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่ชนิดที่ได้รับความนิยมมากคือ “ลิเธียมไอออน” (lithium-ion) หนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่ชนิดนี้คือลิเธียม (lithium) นั่นเอง

นั่นทำให้ความต้องการลิเธียมภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจำนวนมากขึ้น ส่งผลทำให้ความต้องการลิเธียมสูงขึ้นต่อเนื่องตามไปด้วย จนมีรายงานว่าอัตราเพิ่มของราคาขายลิเธียมช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นด้วยอัตราเร่งมากสุดรอบหลายปี

จากรายงานของ S&P Global ช่วงเดือน ธันวาคมปี 2021 ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าหากความต้องการใช้ลิเธียมสูงขึ้นอีก ช่วงปี 2022 นั่นหมายความถึงแนวโน้มภาวะของขาด เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอัตราการใช้งานวัตถุดิบแซงหน้าการผลิตและใช้วัตถุดิบที่เก็บสะสมไว้จนหมดลง

โดยมีการบ่งชี้อีกว่าการผลิตลิเธียมคาร์บอเนต ที่จะถูกนำมาแปรรูปเป็นโลหะลิเธียม จากนั้นจึงนำมาทำเป็นขั้วแคโทด (cathode) ในแบตเตอรี่ สรุปแล้วการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะระดับ 636,000 เมตริกตัน ช่วงปี 2022 แต่ความต้องการขยับไปสู่ระดับที่ 641,000 ตัน

รายงานเปิดเผยอีกว่าราคาขาย “ลิเธียมคาร์บอเนต” ในประเทศจีน (ผู้ผลิตแบตเตอรี่มากสุดแห่งหนึ่งของโลก) อ้างอิงสถิติจาก Trading Economics พบว่า ราคาขายเมื่อสิ้นสุดปี 2021 อยู่ที่ 261,500 หยวนต่อตัน (มากกว่า 41,060 ดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบช่วงเดือน มกราคม ปี 2020

ทีมนักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs ประเมินว่า จากความต้องการรถ EV ในตลาด จะทำให้ราคาวัตถุดิบหลักในการผลิตเพิ่มขึ้น โดยส่งผลทำให้ราคาแบตเตอรี่ เพิ่มสูงขึ้นราว 18% และกระทบต่อศักยภาพการทำกำไรจากการขายรถของบริษัท ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เนื่องมาจาก “แบตเตอรี่” ถือเป็นต้นทุนสัดส่วน 20-40% ของต้นทุนทั้งหมด ในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

นั่นเท่ากับว่าราคาต้นทุนลิเธียม หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญสำหรับผลิตแบตเตอรี่ ปรับตัวขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อาจทำให้ราคาจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าต้องขยับตามด้วยเช่นกัน

แหละนี่คือโจทย์ใหญ่ที่ “โรงแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า” ต้องร่วมกันหาทางกันต่อไป..!!?

Back to top button