FedEx & Kerry รอวันการฟื้นตัว.!
ความเสี่ยงหลักของ FedEx อยู่ที่การลดลงของปริมาณการขนส่งสินค้า เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทั้งในเอเชีย โดยเฉพาะจีนที่มีการล็อกดาวน์
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา FedEx Corporation ผู้ให้บริการขนส่งสินค้ารายใหญ่ของโลก ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการมากกว่า 220 ประเทศทั่วโลก จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ NYSE ประเทศสหรัฐฯ มีการรายงานงบไตรมาส 1/65-66 สิ้นสุด 31 ส.ค. 65 ด้วยผลกำไรลดลงส่งสัญญาณเตือนภัยถึงแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
โดยพบว่าตัวเลขกำไรต่อหุ้น (EPS) ลดลง 21% เป็นผลมาจากกำไรจากธุรกิจ Express ที่ลดลงเป็นหลัก (FedEx มีกำไรจากธุรกิจ Express คิดเป็น 40% จากกำไรทั้งหมด) นั่นจึงเป็นเหตุให้ราคาหุ้นปรับลงทันทีกว่า 16% ในวันที่มีการเปิดเผยตัวเลขดังกล่าว
ปมเหตุของกำไรลดลง มาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุน ค่าครองชีพทั้งค่าอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ทำให้ประชาชนลดการใช้งานผ่านอีคอมเมิร์ซ และปรับวิถีชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้าลดลง การชะลอตัวดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงในสหรัฐฯ แต่รวมถึงประเทศอื่น ๆ ทั้งแถบยุโรปและเอเชีย
ขณะที่ FedEx มีแผนรับมือด้วยการปรับลดต้นทุน ทั้งการปิดสาขาสำนักงานประมาณ 90 แห่ง การปรับลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน ลดความถี่การขนส่งทางอากาศ แต่ด้วยแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจเริ่มทวีความรุนแรงตั้งแต่เดือน ส.ค. 65 ที่ผ่านมา ทำให้บรรดานักวิเคราะห์สำนักต่าง ๆ เริ่มปรับประมาณการกำไรและราคาเป้าหมาย FedEx เช่นกัน
ความเสี่ยงหลักของ FedEx อยู่ที่การลดลงของปริมาณการขนส่งสินค้า เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทั้งในเอเชีย โดยเฉพาะจีนที่มีการล็อกดาวน์หลายพื้นที่ อีกทั้งปัญหาเงินเฟ้อระดับสูงทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ
อย่างไรด็ดี FedEx มีจุดแข็งเรื่องการขนส่งสินค้าเน้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ที่แม้เศรษฐกิจจะปรับตัวลง บริษัทอาจสามารถได้รับรายได้จากการให้บริการในส่วนดังกล่าว เพื่อรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระยะยาว เมื่อการขนส่งกลับมาสู่ภาวะปกติ
สถานการณ์ FedEx ไม่แตกต่างผู้ประกอบการขนส่งสินค้ารายใหญ่ของไทย อย่างบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ในนาม Kerry Express ที่ตัวเลขงบ Q2/65 มีผลขาดทุนสุทธิ 732 ล้านบาท ทำให้งวดครึ่งแรก ปี’65 มีผลขาดสุทธิ 1,223 ล้านบาท
เป็นผลมาจาก KEX มีความจำเป็นต้องคงนโยบายให้บริการในราคาต่ำ เพื่อคงไว้ซึ่งมาร์เก็ตแชร์ในฐานะผู้นำในธุรกิจนี้ ท่ามกลางภาระต้นทุนด้านการขนส่งทรงตัวระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง แม้ตัวเลขปริมาณการขนส่งช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นก็ตาม
ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของ KEX หนีไม่พ้นเรื่องการบริหารจัดการต้นทุนเป็นหลักเพื่อให้สอดคล้องกับค่าบริการที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ที่เป็นยุทธศาสตร์หลักของ KEX เพื่อสร้างอำนาจการแข่งขันและขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น
นั่นจึงเป็นที่มาของนักวิเคราะห์ที่ประมาณการว่ารายได้และกําไรสุทธิปี 2565-2567 ยังอ่อนแอโดยเฉพาะปี 2565 อาจมีผลขาดทุนสุทธิกว่า 1,900-2,000 ล้านบาท ส่วนปี 2566 แนวโน้มพลิกมีกำไร 700-800 ล้านบาท ต่อเนื่องปี 2567 อาจมีกำไร 1,130 ล้านบาท
ความเหมือนระหว่าง FedEx กับ KEX รอวันแห่งการฟื้นตัว..แต่จะฟื้นชัดเจนเมื่อใดไม่มีใครตอบได้จริง ๆ..!!