เฟด – บาทอ่อน กดดันกนง.ขึ้นดอกเบี้ย

การประชุมกนง.รอบนี้ถ้าประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ถือว่าเป็นตามตลาดคาดการณ์ แต่หากขึ้นแรงถึง 0.50% คือเซอร์ไพร์ส SET Index น่าจะตอบสนองทางลบแรง


เส้นทางนักลงทุน

แม้การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รอบนี้ (21 กันยายน 2565) จะไม่มีเซอร์ไพร์ส ที่ประชุมมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์

โดยเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุม 3 ครั้งติดต่อกัน และเป็นการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดที่สุดนับตั้งแต่เฟดกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็นเครื่องมือสำคัญด้านนโยบายการเงินในปี 2533 ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.00-3.25% ในขณะนี้ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551

เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 4.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ และแตะ 4.6% ในสิ้นปี 2566 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ในเดือนมิถุนายน ซึ่งระบุว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 3.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ และแตะระดับ 3.8% ในสิ้นปี 2566 รวมทั้งคาดว่าจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 แสดงว่าเฟดจะไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้

การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เมื่อพิจารณาจากการที่เฟดคาดการณ์ในการประชุมครั้งนี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวเพียง 0.2% ในสิ้นปีนี้ และจะขยายตัว 1.2% ในปี 2566

ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultraeasy Monetary Policy) ในการประชุมรอบนี้ (22 กันยายน 2565) ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด แต่สวนทางกับธนาคารกลางอื่น ๆ ทั่วโลกที่พากันใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

BOJ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ประมาณ 0% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมานั้น เงินเยนทรุดตัวลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ปรับตัวกว้างขึ้น

ทั้งนี้ การคงนโยบายการเงินของ BOJ สวนทางกับเฟดที่เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยยังส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าปรับตัวอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวเพียง 0.2% ในปีนี้ ลดลงจากระดับ 1.7% ที่คาดไว้ในเดือนมีนาคม

ขณะที่ ในฟากฝั่งยุโรปบรรดานักลงทุนจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป หรือ BoE ซึ่งตลาดคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เช่นกัน สู่ระดับ 2.5% ในวันพฤหัสบดี

นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังจากขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ โดยคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน และปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนธันวาคมปีนี้ ขณะที่ปีหน้าจะปรับขึ้น 0.25% ในเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้กรอบอัตราดอกเบี้ยของเฟดเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ 4.5-4.75% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4-4.25%

มติของเฟดรอบนี้มีผลต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นหลัก ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 30,183.78 จุด ร่วงลง 522.45 จุด หรือ -1.70% ในวันเดียวกัน ส่วนดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,789.93 จุด ลดลง 66.00 จุด หรือ -1.71% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,220.19 จุด ร่วงลง 204.86 จุด หรือ -1.79%

ด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,237.64 จุด เพิ่มขึ้น 44.98 จุด หรือ +0.63% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,031.33 จุด เพิ่มขึ้น 51.86 จุด หรือ +0.87%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,767.15 จุด เพิ่มขึ้น 96.32 จุด หรือ +0.76% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,237.64 จุด เพิ่มขึ้น 44.98 จุด หรือ +0.63%

ตลาดเอเชียที่ได้รับผลกระทบหนักคือญี่ปุ่น ดัชนี Nikkei 225 ปิดที่ 27,153.83 จุด ลดลง 159.30 จุด หรือ -0.58% ดัชนี SSE Composite ตลาดเซี่ยงไฮ้ของจีน ปิดที่ 3,108.91จุด ลดลง 8.27 จุด หรือ -0.27% และดัชนี HANG SENG ตลาดหุ้นฮ่องกง ปิดที่ 18,096.49 จุด ลดลง 348.13 จุด หรือ -1.89% ในการซื้อขายเมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทยตลาดคาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 28 กันยายนนี้ มีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นอีก 0.25% เป็น 1.00% หลังจากวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปีไป 0.25% เป็น 0.75%

การอ่อนค่าของเงินบาทเป็นอีกเหตุผลให้กนง.ต้องตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งรอบนี้อาจจะถึง 0.50% หลังล่าสุดเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปีครั้งใหม่ ไปทดสอบแนว 37.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 เพราะเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าอย่างมาก เนื่องจากเฟดขึ้นดอกเบี้ย

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) ประเมินถ้ามีการขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.25% จะกดดันเป้าหมายดัชนีลดลงราว 78 จุด จากดัชนีเป้าหมายตลาดหุ้นไทย หรือ SET Index ปลายปีนี้ที่ 1,730 จุด เหลือ 1,652 จุด

ส่วน “มงคล พ่วงเภตรา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.ดาโอ ระบุว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% มีผลกระทบต่อ SET Index น้อย เพราะธุรกิจที่มีกำไร มีน้ำหนักต่อตลาดมาก ๆ นั้น ไม่ได้อิงกับทิศทางดอกเบี้ย ทั้งนี้ผลกระทบจากดอกเบี้ยจริงจะเกิดผลต่อเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งของไทยยังไม่เป็นแบบนั้น ให้เป้า SET Index ล่าสุด 1,706 จุด

ขณะที่ “อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล” ผู้อำนวยการอาวุโส บล.ทิสโก้ เชื่อว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะขึ้นอีก 0.25% หากไม่เกินจากนี้มีมุมมองเป็นกลาง ไม่มีผลต่อ SET แต่ถ้าขึ้น 0.50% ตลาดจะตอบสนองทางลบ สะท้อนกนง.มีมุมมองเข้มงวดกว่าคาด อาจกดดันเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียน ขณะที่ดอกเบี้ยขึ้นจะกดดัน valuation หุ้น โดยปัจจุบันได้ปรับลด SET Index อยู่ที่ 1,700 จุด จากเดิม 1,720 จุดแล้ว

การประชุมกนง.รอบนี้ถ้าประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ถือว่าเป็นตามตลาดคาดการณ์ แต่หากขึ้นแรงถึง 0.50% คือเซอร์ไพร์ส SET Index น่าจะตอบสนองทางลบแรง

Back to top button