Sake Viva ดื่มสาเกช่วยชาติ
เป็นที่น่าจับตาดูว่าแคมเปญ "ดื่มสาเก..ช่วยชาติ" จะกระตุ้นการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีสุราได้มากน้อยเพียงใด..?
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นประสบปัญหารายได้การจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นตัวกดดันให้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงมากขึ้นอีก จากข้อมูลสำนักงานภาษีแห่งชาติญี่ปุ่น พบว่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อผู้ใหญ่หนึ่งคนอยู่ที่ 100 ลิตรในปี 2538 แต่ลดลงเหลือ 75 ลิตรต่อคนช่วงปี 2563
สำหรับ “ภาษีจากสุรา” เป็นรายได้ใหญ่ของรัฐบาลญี่ปุ่น มานานหลายศตวรรษ แต่ตัวเลขกำลังลดลงช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา โดยมีรายได้จากภาษีสุราปี 2564 ประมาณ 1.1 ล้านล้านเยน (ประมาณ 39,000 ล้านบาท) คิดเป็น 1.7% ของรายได้จากภาษีทั้งหมด ลดลงประมาณ 3% เมื่อเทียบปี 2554 และลดลง 5% เมื่อเทียบปี 2523
ขณะที่พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่น มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงมากเป็นพิเศษ ผลสำรวจของกระทรวงเศรษฐกิจญี่ปุ่น พบว่า มีราว 30% ของคนกลุ่มอายุ 40-60 ปี ที่ดื่มสุราเป็นปกติ (3 วันหรือมากกว่านั้นต่อสัปดาห์) ขณะที่คนกลุ่มอายุ 20 ปี ดื่มสุรา เป็นปกติเพียง 7.8% เท่านั้น
จึงส่งผลกระทบต่อรัฐบาลโดยตรง เนื่องจากต้องสูญเสียรายได้ภาษีที่จัดเก็บจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ “สาเก” (เหล้าที่ทำมาจากข้าว) นั่นเอง
ทำให้ทางการญี่ปุ่นต้องตัดสินใจเปิดโครงการ “สาเก วีว่า” (Sake Viva) หรือ “ดื่มสาเกกันเถอะ..!” โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีอายุระหว่าง 20-39 ปี เสนอแนวคิดทางธุรกิจเพื่อเชิญชวนคนรุ่นเดียวกัน ให้หันมาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่จำกัดแค่ “สาเก” ของญี่ปุ่นเท่านั้น แต่จะเป็น “โซจู, วิสกี้, เบียร์, หรือไวน์” ได้เช่นเดียวกัน แต่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างยี่ห้อสินค้า ทำโฆษณา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า หลังรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดตัวโครงการ “สาเก วีว่า.!” มีเสียงตอบรับจากสังคมทั้งเชิงบวกและลบ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มองว่า เป็นการสนับสนุนพฤติกรรม ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพประชาชน ส่วนอีกฝ่ายเสนอความคิดแปลก ๆ อาทิ การให้ดาราสาวชื่อดังมา “แสดงเป็นพนักงานบริการ” ในคลับที่ตั้งอยู่บนโลกเสมือนจริง..
สำหรับผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ญี่ปุ่น ต่างได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น “คิริน โฮลดิ้ง” เช่นเดียวกับ “อาซาฮี” หรือ “ซันโทรี่ โฮลดิ้ง” และ “ซัปโปโระ โฮลดิ้ง” ช่วงปี 2562-2563 ต่างประสบปัญหากำไรลดลงอย่างมาก จนทำให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องเร่งหาทางปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือรูปแบบต่าง ๆ
บางรายหันจับกระแสสุขภาพ ด้วยการเร่งพัฒนาและทำการตลาดเครื่องดื่มแนวสุขภาพแทน หวังสร้างรายได้ เพื่อชดเชยยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่หายไป
เป็นที่น่าจับตาดูว่าแคมเปญ “ดื่มสาเก..ช่วยชาติ” ของญี่ปุ่นครั้งนี้ จะกระตุ้นให้เกิดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นได้มากน้อยเพียงใด..!?