ต้นทุน (เพิ่ม) ‘คอคาเฟอีน’
ตลอดช่วงเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา เกิดกระแส “ดราม่าราคากาแฟ” อย่างแพร่หลาย หลังจาก “ร้านกาแฟอินทนิล” ในเครือ BCP ประกาศขึ้นราคาเครื่องดื่ม
ตลอดช่วงเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา เกิดกระแส “ดราม่าราคากาแฟ” อย่างแพร่หลาย หลังจาก “ร้านกาแฟอินทนิล” ในเครือบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ประกาศขึ้นราคาเครื่องดื่มทุกประเภทของร้านอีก 5-10 บาทต่อแก้ว เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา
ตามมาด้วย “ร้าน All Café” (ที่ตั้งอยู่ในร้านสะดวกซื้อ 7-11) ในเครือบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ประกาศปรับราคาขึ้นอีก 5 บาทต่อทุกรายการ มีผลตั้งแต่ 24 ก.ย. 65 ที่ผ่านมาเช่นกัน
เท่านั้นไม่พอ “ร้าน Café Amazon” อีกหนึ่งธุรกิจในเครือบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ประกาศปรับขึ้นราคาเครื่องดื่มทุกเมนูอีก 5 บาท เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. 65 เป็นต้นไป เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบหลักหลายรายการปรับตัวสูงขึ้น อาทิ เครื่องดื่มกาแฟราคาเดิม 35-75 บาท ราคาใหม่ 40-80 บาท, เครื่องดื่มชาราคาเดิม 35-65 บาท ราคาใหม่ 40-70 บาทและเครื่องดื่ม Light ราคาเดิม 45-55 บาท ราคาใหม่ 50-60 บาท
ตามมาติด ๆ คือ “ร้าน D’Oro” ร้านกาแฟสัญชาติไทย เปิดให้บริการกว่า 100 สาขา ทั่วประเทศไทย ประกาศปรับราคาสินค้าผ่านค้าผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ระบุว่าถึงลูกค้าผู้มีอุปการคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนดิโอโร่ ที่ดีเสมอมา เนื่องด้วยปัจจัยต้นทุนต่าง ๆ ในการดำเนินการปรับสูงขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้า 3-6 บาท ในสินค้าบางรายการ เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 เป็นต้นไป
ขณะที่ “ร้านกาแฟพันธุ์ไทย” ในเครือบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ประกาศผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจว่า พันธุ์ไทยสนับสนุนให้ทุกคนได้มีเวลาเป็นไท เราจึงยังยืนหยัดไม่ขึ้นราคาเพื่อให้ทุกคน ได้เข้าถึงความอร่อยสดชื่นได้เหมือนเดิม ส่วนเจ้าใหญ่สายพันธุ์อเมริกัน “ร้านสตาร์บัคส์” ยังสงวนท่าที หลังเคยปรับขึ้นราคามาแล้ว เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ “ร้านกาแฟ” ต้องปรับราคาขึ้นดังกล่าว หนีไม่พ้นเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้นเหมือนกัน เพียงแต่ว่าช่วงที่ผ่านมา แต่ละค่ายสงวนท่าทีรอดูว่าคู่แข่งรายใด จะเปิดหัวปรับขึ้นก่อนเท่านั้นเอง มองในเชิงธุรกิจถือเป็นเรื่องสมเหตุผล เป็นการสะท้อนต้นทุนต่าง ๆโดยเฉพาะราคาเมล็ดกาแฟที่เกิดขึ้นจริง
โดยมีการประเมินถึงกรณี OR ว่าการปรับราคาขึ้นครั้งนี้คิดเป็นประมาณ 10% (ของราคาขายเครื่องดื่มโดยเฉลี่ย) และผู้บริหารคาดว่ากำไรก่อนหักภาษีฯ (EBITDA) ในธุรกิจไลฟ์สไตล์จะเพิ่มขึ้น 7-8% หรือประมาณ 400-460 ล้านบาท/ปีและกลยุทธ์การเป็นผู้นำด้านราคาน่าจะช่วยให้ OR สามารถทำกำไรให้สูงเป็นสถิติใหม่ช่วงปีนี้ได้
ที่สำคัญเป็นการชดเชย “ค่าการตลาด” ของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันได้อีกทางหนึ่ง..
การปรับราคาขึ้นของ Café Amazon ครั้งนี้ เป็นการปรับพร้อม ๆ กัน ทั้ง All Cafe, อินทนิล และ D’Oro (แม้ว่าพันธุ์ไทยยังไม่ปรับขึ้นตาม) ทำให้โอกาสจะเกิดการ “เปลี่ยนร้านดื่ม” น้อยมากหรืออาจไม่เกิดขึ้นเลย
ในมุมของ “คอคาเฟอีน” ต้นทุนการใช้ชีวิตประจำวันจะเพิ่มขึ้นทันที 5-10 บาท (คิดจากการบริโภคกาแฟวันละ 1-2 แก้ว) ถือว่าเป็นตัวเลขที่พอรับกันได้ แม้ช่วงเริ่มต้นอาจลดทอนการตัดสินใจซื้อกาแฟดื่มไปบ้าง..แต่สำหรับบรรดาคอคาเฟอีนแล้ว “กาแฟ” คือเครื่องดื่มที่ขาดไม่ได้..ต่อให้แพงแค่ไหนก็ตาม..!!