พาราสาวะถี

วันที่ 30 กันยายน 2565 ไม่ใช่แค่วันชี้ชะตาผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะได้ไปต่อหรือจอดไม่ต้องแจวกับปม 8 ปีนายกรัฐมนตรี ตามกฎเหล็กของรัฐธรรมนูญ


วันที่ 30 กันยายน 2565 ไม่ใช่แค่วันชี้ชะตาผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะได้ไปต่อหรือจอดไม่ต้องแจวกับปม 8 ปีนายกรัฐมนตรีตามกฎเหล็กของรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงมาตรา 158 วรรคสี่ ยังจะเป็นวันสุดท้ายที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะบังคับใช้ตามเหตุผลหลักที่ว่าใช้คุมโควิด-19 แต่คนส่วนใหญ่ก็เข้าใจดีว่ามีวาระแอบแฝงในการที่จะใช้ค้ำยันเสถียรภาพของท่านผู้นำ เพราะหากไม่มีกฎหมายพิเศษเช่นนี้ม็อบคงลุกฮือล้มผู้นำไปตั้งแต่ปีสองปีก่อนก็เป็นได้

ตั้งแต่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไปจึงน่าสนใจ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจถ้าได้ไปต่อแต่ไม่มีอำนาจที่รวบไว้ในมือเหมือนเดิม บริหารจัดการทุกเรื่องแบบเบ็ดเสร็จเหมือนที่ผ่านมาจะทำงานเป็นหรือไม่ ต้องไม่ลืมว่าคราวเป็นหัวหน้าเผด็จการ คสช.ควบนายกฯ ก็ใช้มาตรา 44 จัดการในทุกเรื่อง หลังผ่านพ้นเลือกตั้งพอได้อ้างว่าผ่านการเลือกมาจากประชาชน ก็งัดเอา พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาใช้รวบอำนาจจากทุกกระทรวงมาไว้ในมือ อ้างเพื่อความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ โดยรัฐมนตรีทุกกระทรวงก็ยินยอมที่จะให้ใช้อำนาจแทน

ดังนั้น การได้หวนคืนกลับทำเนียบรัฐบาลอีกคำรบ แต่อำนาจที่เคยใช้อย่างสบายใจหายไป มันก็ชวนให้คิดไม่น้อย ขณะเดียวกัน อีกด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล ตั้งแต่โควิด-19 ระบาดหนนี้ก็จะได้กลับมาใช้อำนาจแสดงความสามารถในการบริหาร และระดมสรรพกำลังบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทำงานกันภายใต้กระบวนการรับมือกับโรคระบาดตามแนวทางที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ต้องคอยรายงานและให้ฝ่ายความมั่นคงประเมินก่อนที่จะคลอดมาตรการต่าง ๆ ออกมา

จากการจัดทัพผู้บริหารฝ่ายข้าราชการประจำ บรรดาหมอการเมืองที่เสี่ยหนูวางตัวไว้นั้น เห็นได้ชัดว่าเตรียมรับมือในการบริหารจัดการโควิดอย่างเต็มที่ ภายใต้ความเชื่อที่ว่าแนวโน้มของโรคจะคลี่คลายและเบาบางลงในที่สุด ในเรื่องการระบาดและความน่ากังวลในแง่ตัวเลขผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตน่าจะสบายใจได้ ที่เหลือน่าจะเป็นการดูแลผู้ป่วยที่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย จะจัดการกันอย่างไร ที่ถูกจับตามองมากที่สุดการไม่ต้องกักตัว จะวางใจว่าผู้ป่วยจะไม่ไปแพร่เชื้อได้หรือไม่

นอกจากนั้น สิ่งที่จะต้องประกาศให้ชัดคือวัคซีน หลังจากที่ฉีดกันไปถึงเข็มสี่เข็มห้าแล้ว จากนี้ไปจะต้องทำอย่างไร ฉีดกันเป็นรายปีเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 หรือต้องฉีดกันทุกคน จนกว่าจะวางใจได้ว่าโควิด-19 ไม่มีการกลายพันธุ์หรือกลับมาระบาดหนักอีก ส่วนที่จะต้องเฝ้าระวังกันเป็นพิเศษเน้นไปที่โรงเรียน เพราะมีการรวมตัวกันของเด็กและทำกิจกรรมร่วมกันนั้น มาตรการยังจะเข้มข้นเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่จะต้องแจกแจงกันให้ชัดเจน

ส่วนปมของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจฝ่ายถือหางหรือแม้แต่เจ้าตัวเองก็มั่นใจว่าจะได้กลับมาทำหน้าที่ต่อ เพราะมั่นใจจากกระบวนการที่ได้ดำเนินการผ่านขบวนการวางแผนกันมาอย่างแยบยลแล้วนับตั้งแต่รัฐประหาร ทว่าคนที่เคยร่วมหัวจมท้ายกันมาอย่างพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ที่หลงใหลในบทบาทรักษาราชการแทนนายกฯ ทีมงานและบรรดากุนซือก็หวังลึก ๆ ว่าจะได้ทำหน้าที่นี้ต่อไป กลายเป็นการข่าวของสองพี่น้องไปคนละทิศละทาง รอดูว่าฝ่ายไหนจะได้เฮฝ่ายไหนจะหงอย

อย่างไรก็ตาม การได้ไปต่อของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ แทบจะไม่มีความหมายเมื่อมองไปยังความเชื่อมั่นที่รออยู่เบื้องหน้า ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.จากกาฬสินธุ์ถึงร้อยเอ็ดล่าสุด กับปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ของผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย คือสัญญาณที่ถูกส่งมาจากฐานที่มั่นพื้นที่ราบสูง อันเป็นเป้าหมายของทุกพรรคการเมืองที่หวังจะกุมคะแนนเสียงจากประชาชนภาคนี้ให้ได้มากที่สุด แต่ดูเหมือนว่าคนในพื้นที่ยังภักดีต่อแบรนด์ที่มี ทักษิณ ชินวัตร ถือหาง

เมื่อไม่สามารถตีฐานสำคัญของคู่แข่งแตก ทั้งที่อยู่ในอำนาจมานานกว่า 8 ปี ใช้ปฏิบัติการทุกอย่างเพื่อที่จะด้อยค่าศัตรู แต่คนก็ยังไม่เชื่อถือ มิหนำซ้ำ ความนิยมกลับตกต่ำต่อเนื่องในพื้นที่ที่เคยชื่นชอบตัวเองทั้ง กทม.และภาคใต้ มันจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและทีมกุนซือต้องคิดหนัก ได้ไปต่อในบริบททางการเมืองแบบนี้ มีแต่รอวันจะขายขี้หน้า การประกาศวางมือด้วยการยุบสภาให้แต่ละพรรคการเมืองไปวัดกันเอาเองจึงเป็นทางลงที่ดีที่สุด

โดยที่การประชุมเอเปคซึ่งใกล้เข้ามาทุกขณะ บรรดาทีมงานที่ปรึกษาของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ หวังว่าจะใช้เป็นเวทีพิสูจน์ฝีมือในการบริหารเทียบชั้นทักษิณที่เคยจัดการประชุมมาแล้วเมื่อปี 2546 ปรากฏว่าไม่เป็นไปอย่างที่คิด นานวันยิ่งเห็นความห่างชั้น ยิ่ง โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา ประกาศไม่มาร่วมประชุมด้วยเหตุผลว่าติดภารกิจส่วนตัว แต่จะแวะเวียนมาประเทศแถวอาเซียน มันยิ่งเป็นการตอกย้ำการไม่ยอมรับผู้นำของประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยแต่ยังมีคราบไคลเผด็จการให้เขาได้เห็นได้กลิ่นอยู่

จากที่คาดหวังว่าจะใช้เป็นเวทีกู้หน้า ทำให้เห็นภาพการยอมรับนับหน้าถือตาจากผู้นำระดับโลก กลายเป็นเวทีที่ทำให้เสียหน้า มันจึงไม่แปลกที่จู่ ๆ จะมีข่าวว่าถ้าม็อบเคลื่อนไหวหนักหน่วงจะไม่มีเลือกตั้ง กลิ่นรัฐประหารโชยมาแต่ไกล พอหันไปมองยังที่มาของคนที่จุดพลุก็รู้เช่นเห็นชาติกันว่าต้องการอะไร วันนี้บรรดาขุนทหารทั้งหลายที่ดูเหมือนว่าจะได้รับการเอาอกเอาใจอย่างเป็นพิเศษจากอำนาจเผด็จการและขบวนการสืบทอดอำนาจ แต่ผู้นำเหล่าทัพทั้งหลายอยากจะกลับไปเป็นทหารอาชีพเต็มทน

ไม่เฉพาะคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามที่ยังไงก็ปฏิเสธผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและลิ่วล้อสอพลอทั้งหลายที่หลงและเหลิงในอำนาจ พวกที่เคยเชียร์หรือคอยโบกมือดักกวักมือเรียกให้มีการล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เวลานี้พากันตาสว่างกันเป็นแถว เหมือนอย่าง ปราโมทย์ นาครทรรพ อดีตที่ปรึกษาระบอบสนธิ-จำลองคนที่ผุดปมปฏิญญาฟินแลนด์กล่าวหาทักษิณในอดีต วันนี้ออกมาประกาศเองว่าปัญหาการเมืองที่ฉุดรั้งความเจริญของประเทศขณะนี้มาจาก “นักกฎหมายขายตัวและทหารโง่” นั่นเอง

กว่าจะสำเหนียกก็ทำให้ประเทศขาดโอกาสมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 จริงหรือไม่ไม่รู้ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีใครกล้าการันตีว่าประเทศไทยจะไม่เกิดรัฐประหาร แต่การข่าวที่ยืนยันกันถึงตรงนี้กองทัพไม่มีขยับก่อการยึดอำนาจแน่ ไม่ใช่เพราะเกรงใจคนที่เคยอุ้มชูกันมา แต่มองว่าถึงเวลาที่จะต้องปล่อยให้การเมืองได้เดินไปในเส้นทางที่ควรจะเป็น และต้องหมดยุคของพวกสืบทอดอำนาจได้แล้ว ขืนดันทุรังกันต่อไปมีแต่เจ๊งกับเจ๊ง ผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นคือบทพิสูจน์

Back to top button