พาราสาวะถี

เป็นไปตามนั้นเป๊ะ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้ไปต่อด้วยมติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 ต่อ 3 ความเป็นนายกรัฐมนตรีให้เริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560


เป็นไปตามนั้นเป๊ะ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้ไปต่อด้วยมติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 ต่อ 3 ความเป็นนายกรัฐมนตรีให้เริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ นั่นก็คือ 6 เมษายน 2560 หมายความว่า ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ถึงเมษายน 2568 ถ้าหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ว่าจะอยู่ครบวาระหรือยุบสภา ก็จะไปต่อได้อีกไม่เกิน 2 ปี ถามว่าคุ้มค่าที่จะอยู่หรือไม่ และความไว้เนื้อเชื่อใจ ความอดทนของประชาชนจะอยู่ถึงเวลานั้นหรือเปล่า

ลำพังตัวผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจหากไม่หลอกตัวเอง ย่อมรู้อยู่แก่ใจดี เส้นทางเดินหลังจากนี้จะสามารถยิ้มระรื่น ไม่สะทกสะท้านต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือกระแสต่อต้านเหมือนที่ผ่านมาได้หรือไม่ เมื่อไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือคุมม็อบ เมื่อไม่มีข้ออ้างว่าเศรษฐกิจย่ำแย่เพราะโควิด-19 ทุกอย่างเดินเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว หากยังไร้ความสามารถเหมือนที่ผ่านมา แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนไม่ได้ มันก็เป็นการได้ไปต่อแบบรอวันตายเท่านั้น

ดังนั้น ความเป็นไปได้เรื่องที่ว่าจะขออยู่ไปจนถึงแค่การประชุมเอเปคเสร็จสิ้น แล้วจะพิจารณายุบสภาโดยที่เจ้าตัวขอโบกมือบ๊ายบายกลับไปอยู่บ้านอย่างมีความสุขกับศรีภรรยาและลูก ๆ ดีกว่า เพราะหนทางข้างหน้ามองไปแล้วมีแต่จะสาละวันเตี้ยลง ขณะที่บรรดาเนติบริกรศรีธนญชัยหรือพวกนักกฎหมายขายตัวทั้งหลาย ก็งัดกลยุทธ์มาอุ้มกันจนหมดไส้หมดพุง และพาลทำให้ความศรัทธา เชื่อถือของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกับองค์กรอิสระเสื่อมทรุดลงอย่างต่อเนื่อง

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอยู่แล้วกับคำวินิจฉัยที่ออกมา ไม่ต้องไปถามหาบรรทัดฐานใด ๆ เมื่อกฎหมายที่ร่างกันมาทั้งหมดมันเกิดจากองคาพยพของเผด็จการสืบทอดอำนาจ คสช.และขบวนการสืบทอดอำนาจที่วางแผนกันไว้ทุกช่องทาง มันจึงไม่ต่างจากการเขียนกฎหมายเพื่อใช้กับคนเพียงคนเดียว แต่ก็ถือเป็นอานิสงส์ที่ดีกับอดีตนายกฯ ที่ยังมีชีวิตอยู่เวลานี้ เกิดจับผลัดจับผลูกระแสส่วนตัวดีขึ้นมาได้กลับมาเป็นผู้นำประเทศอีกหน จะไม่มีใครต้องมาติดปม 8 ปีนี้กันอีก

เมื่อความเป็นนายกฯ ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเมื่อตอนสวมหัวโขนหัวหน้า คสช.ไม่ถูกนำมานับรวมด้วย อดีตนายกฯ คนอื่น ๆ ก็ไม่น่าจะเข้าข่ายด้วย เออ! แต่ลืมไปว่าถ้าใช้ตรรกะที่ว่ากฎหมายข้อนี้เลือกใช้กับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเพียงคนเดียว ความเป็นนายกฯ ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจยุคหัวหน้า คสช.มาจากมือของสภาเผด็จการ สนช.ไม่ใช่สภาผู้แทนราษฎร แต่อดีตนายกฯ คนอื่นผ่านการเลือกโดยสภาฯ ก็น่าจะเข้าข่าย จึงไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้

กลายเป็นว่าการตีความกฎหมายในเรื่องเดียวกัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่สามารถนำไปเทียบเคียงกับคนอื่น ๆ ได้ เพราะอำนาจที่มาต่างกัน ชั้นเชิงของนักกฎหมายขายตัวก็ไม่เหมือนกัน เอากันให้สบายใจประเทศชาติบรรลัยอย่างไรช่างหัวมัน ในเมื่อเผด็จการหน้าทนและลิ่วล้อสอพลอ นักกฎหมายขายตัว พากันลากประชาธิปไตยถอยหลังลงคลองกันถึงขนาดนี้แล้ว ก็ไม่ต้องไปวาดฝัน ตั้งความหวังกันว่ามันจะมีอะไรดีขึ้นไปกว่านี้ได้อีกไหม

ความจริงมันก็เหมือนที่ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทวีตข้อความตั้งข้อสังเกตก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยออกมาว่า สิ่งที่น่าสนใจปม 8 ปีประยุทธ์ไม่ใช่ตัวคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ แต่คือการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ทั้งไทย ต่างชาติ และคนไทยทั่วไปเกือบ 100% ที่เชื่อว่าศาลจะตัดสินให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจรอด นี่คือความรันทด หดหู่ ที่ไม่ใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่มองเห็นกระบวนการอันเกิดจากขบวนการสืบทอดอำนาจที่ทำให้ทุกอย่างบิดเบี้ยวเพื่อคน ๆ เดียวอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม สำหรับคำวินิจฉัยที่ออกมานั้น มุมวิเคราะห์ของ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ถือว่าน่าขีดเส้นใต้ไม่น้อย อย่างที่บอกไปประเด็นนายกฯ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2560  ต้องพิจารณาตามมาตรา 159 ว่าเลือกโดยสภาผู้แทนราษฎร ประกอบมาตรา 272 วุฒิสภาร่วมเลือกเท่านั้น ส่วนที่เลือกโดยสภานิติบัญญัติ หรือ สนช.ที่ประยุทธ์แต่งตั้งมาเองนั้นไม่เกี่ยว ตรงนี้คงมีนักวิชาการจากหลายภาคส่วนจะได้วิเคราะห์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางต่อไป

ขณะเดียวกัน ที่มีการอ้างมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญที่ให้คณะรัฐมนตรีก่อนหน้าปี 2560 เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ อันนั้นเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำหน้าที่  การนับ ครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ จึงนับจากเริ่มต้นปี 2560 เท่านั้น ส่วนที่ถามว่าทำไมคุณสมบัติของ ส.ส.มีย้อนหลังไปก่อนหน้าเป็นสิบปีก็ยังเอามาคิดเป็นลักษณะต้องห้าม  อันนั้น ส.ส.เขาห้ามชัดเจน  อันนี้นายกฯ คนละตำแหน่ง เอามาคิดเหมือนกันไม่ได้

เช่นเดียวกันกับที่อ้างเจตนารมณ์ และบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 ของ กรธ. ดูแล้ว กรธ.คุยกันหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ถึง 1 ปี 5 เดือน ที่อยู่ในบันทึกก็ไม่เห็นเอาไปใส่ในเอกสารเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญเลยแปลว่าไม่สำคัญ ตรงนี้สมชัยชี้ให้เห็นว่าบันทึกการประชุมของ กรธ.ในหอสมุดรัฐสภามีจำนวน 12 เล่ม เล่มที่ 1-11 หนาประมาณเล่มละ 1,000 หน้า เล่มที่ 12 หนาประมาณ 300 หน้า  รวมแล้วน่าจะหนาประมาณ 11,300 หน้า

เฉพาะส่วนที่เป็นการประชุมเรื่องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอยู่ในเล่มที่ 11 และ 12 ตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 448 วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ไปจนถึงครั้งที่ 501 วันที่ 11 กันยายน 2561 โดยครั้งที่ถูกอ้างว่า การนับ 8 ปีนายกฯ ให้นับรวมนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งก่อนหน้า 6 เมษายน 2560 หรือวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ด้วยนั้นอยู่ในเล่ม 12 การประชุมครั้งที่ 500 วันที่ 7 กันยายน 2561 กรธ.ใช้เวลาในการประชุมจัดทำเจตนารมณ์ จุดมุ่งหมายและคำอธิบายรายมาตรารวม 54 ครั้ง คิดเป็นเบี้ยประชุมตีเป็นเงินราว 7 ล้านบาท

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตราที่เป็นปัญหาบอกไม่ต้องอ่านบันทึกการประชุมของ กรธ.เพราะทำช้าเป็นปีหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้  และไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะถ้าสำคัญคงเอาสาระของบันทึกไปเขียนไว้ในเอกสารเจตนารมณ์แล้ว บันทึกมี 11,300 หน้า ส่วนเจตนารมณ์มี 534 หน้า ให้เอาบันทึกใส่ในเจตนารมณ์ บทสรุปของสมชัย คือ “นึกถึงถนนลูกรังขึ้นมาทันที” ถ้าเช่นนั้น เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

Back to top button