จากตุรกี ถึงประเทศกูมี
ค่าบาทอ่อนยวบในรอบ 17 ปี และอัตราเงินเฟ้อประเทศไทยที่พุ่งทะยานฟ้าในรอบเกือบ 20 ปีจนมีคำถามดังขึ้นอีกว่าไทยจะเผชิญหน้ากับวิกฤตต้มยำกุ้งหรือไม่
ค่าบาทอ่อนยวบ ในรอบ 17 ปี และอัตราเงินเฟ้อประเทศไทยที่พุ่งทะยานฟ้าในรอบเกือบ 20 ปีจนกระทั่งมีคำถามน่าสยดสยองดังขึ้นอีกว่าไทยจะเผชิญหน้ากับวิกฤตต้มยำกุ้งระลอกสองหรือไม่ และทางออกคืออย่างไร
บนถนนที่ไร้คำตอบยามนี้ ยังมีเรื่องปลอบใจอยู่ว่าวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศกูมียามนี้ ยังไม่เลวร้ายเท่ากับตุรเคีย ประเทศที่ผู้นำผ่านมติเป็นเอกฉันท์เปลี่ยนชื่อจากตุรกีหรือไก่งวงที่ใช้มายาวนานนับแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อประมาณ 100 ปีเศษนี้เอง หลังจากล้มล้างการปกครองของอาณาจักรออตโตมันที่ล้าสมัยสุดในยุโรปลงไปด้วยฝีมือของเคมาล อตาเติร์ก
เรื่องอย่างนี้เล่าตอนเดียวคงไม่จบ ทนเอาหน่อยนะครับ
วิกฤตของตุรกี ไม่ได้เกิดจากทีมวอลเลย์บอลหญิง ของประเทศต้องพ่ายพลิกล็อกแก่ทีมสาวไทยหรือเพราะลีกวอลเลย์บอลประเทศนี้ จ่ายค่าจ้างแพงสุดในโลกให้กับนักวอลเลย์บอลสาวจากอิตาลีที่ชื่อว่า พาวล่า อีกัวนู แต่เป็นเพราะนโยบายที่ผิดพลาดและเข้ารกข้าพงจนกู่ไม่กลับของผู้นำที่ชื่อว่าตัวอย่างของประชาธิปไตยอย่างนายเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของตุรกีเมื่อ 8 ปีก่อน
ล่าสุดตุรกี กลายเป็นประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลกไปแล้วเรียบร้อย แซงหน้าเวเนซุเอลา โดยเมื่อสิ้นเดือน มิถุนายนที่ผ่านมา ข้อมูลจากสถาบันสถิติของตุรกีพบว่า เงินเฟ้อภายในประเทศอยู่ที่ระดับ 78.62% เป็นสถิติที่สูงสุดในรอบ 24 ปีเลยทีเดียว
ที่ร้ายกว่านั้นเงินเฟ้อ 79% ในตุรกี ที่เกิดจากความตั้งใจ ของรัฐบาลเสียด้วย
ถ้าพูดถึงตัวเลขเงินเฟ้อ ในหลายประเทศทั่วโลก ได้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเริ่มต้นจากสหรัฐฯ ที่ล่าสุดอยู่ที่ 9.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี ส่วนของสหภาพยุโรปล่าสุดอยู่ที่ 8.6% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และญี่ปุ่นอยู่ที่ 2.8% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.7% และนับเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 31 ปี หรือตั้งแต่ปี 1991 (หากไม่นำผลกระทบจากการขึ้นภาษีมาคำนวณ)
ในตอนนี้ ประเทศตุรกีกำลังเผชิญกับวิกฤตเงินเฟ้อที่พุ่งสูงกว่า 79% แต่ที่น่าสนใจตรงที่ส่วนหนึ่งมาจากความตั้งใจของรัฐบาลตุรกีเองที่จะฆ่าตัวตายแบบผ่อนชำระ
แล้วรัฐบาลตุรกี มีเหตุผลอะไร ? จึงได้เพี้ยนเช่นนี้
เมื่อประมาณ 8 ปีก่อนเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของตุรกี ต้องการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการเติบโต โดยเพิ่มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในประเทศ ผ่านการก่อหนี้ของรัฐบาลเพื่อมาลงทุน แต่ธนาคารกลางของประเทศไม่เล่นด้วย เขาจึงถือโอกาสยึดอำนาจในการดำเนินนโยบายการเงินจากธนาคารกลาง แล้วทำการลดดอกเบี้ยให้ต่ำติดพื้น ด้วยข้ออ้างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่เขาตั้งใจไว้
แล้วการปรับลดอัตราดอกเบี้ย (ซึ่งสูงสุดในยุโรปคือเหนือระดับ 15%) เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน การลงทุน การบริโภค ซึ่งส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยอ้างเหตุผลว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงกลับช่วยให้นายทุนร่ำรวยขึ้น แต่กลับทำร้ายคนจน
ในช่วง 3 ปีแรก ก็เหมือนว่าการดำเนินนโยบายในครั้งนี้ จะได้ผลลัพธ์ตามที่เขาต้องการ เพราะในช่วงปี 2014 ถึงปี 2017 นั้น GDP ของตุรกีเติบโตเฉลี่ยมากถึงปีละ 5.5% สัดส่วนคนจนในประเทศก็มีจำนวนลดลง ในขณะที่กลุ่มชนชั้นกลางนั้นมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น
แต่แล้วเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วเกินไป เพราะเงินไหลเข้าจากต่างชาติมหาศาล ในขณะที่ระดับการออมของประชากรในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นจากปี 2014 ที่ 1.2 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาทในปี 2018 ต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ ผ่านการกู้หนี้เงินตราต่างประเทศ (อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลตุรกียามนั้นถือว่าสูงสุดในยุโรปที่อัตราดอกเบี้ยติดลบหรือใต้ 0% ) ส่งผลให้ตัวเลขหนี้ต่างประเทศต่อ GDP จึงค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้นจาก 44% ในปี 2014 มาอยู่ที่ 54% ในปี 2018
เงินที่ไหลเข้ามามากภายนอกยามนั้นถือว่าจูงใจอย่างมากให้ต่างชาติเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเมื่อหักกลบด้วยเงินเฟ้อเรียบร้อยแล้ว จนนายหลงระเริงไปกับเงินทุนที่ไหลเข้ามา จนเกือบลืมไปว่าทางขึ้นบันไดสวรรค์นั้น มีต้นทุนไม่ธรรมดาเช่นกัน ที่สำคัญเงินที่ไหลเข้ามามากเกินขนาด ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นแซงหน้าจีดีพีของประเทศ ที่เริ่มมีคำถามตามมาหลังการพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลวของกองทัพร่วมมือกับบรรดาผู้พิพากษา
นับจากนั้นเป็นต้นมาเหตุการณ์ความไม่สงบภายในตุรกี ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นจนนักลงทุนเห็นว่าไม่คุ้มค่า ผลลัพธ์คือเงินทุนจากต่างประเทศที่เคยไหลเข้า ก็เปลี่ยนมาเป็นค่อย ๆ ไหลออก ส่งผลให้ค่าเงินลีราตุรกีอ่อนค่าลงโดยในปี 2018 เพียงปีเดียว ค่าเงินลีราตุรกี อ่อนค่าลงเกือบ 30% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินที่อ่อนลง ทำให้สินค้านำเข้านั้นมีราคาแพงขึ้น เงินเฟ้อในประเทศจึงปรับเพิ่มขึ้นตามซึ่งโดยทั่วไปแล้ว วิธีที่จะช่วยยับยั้งการอ่อนค่าของค่าเงิน และลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อได้นั้นคือ การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ก็จะทำให้เงินทุนบางส่วนไหลกลับเข้ามา หรืออย่างเลวร้ายคือไม่ไหลออก
เพียงแต่แนวคิดนี้ กลับถูกปฏิเสธจากการติดยึดกับความสำเร็จเบื้องต้นเกินขนาดโดยประธานาธิบดีเรเจพ เมื่อปลายปีที่แล้วเขายังกดดันให้ธนาคารกลางของตุรกีลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอีก แล้วก็ได้ไล่ผู้ว่าการธนาคารกลางออกแล้วรวมทั้งหมด 4 คน ในรอบ 2 ปีมานี้..
ปลายปี 2021 ที่ผ่านมา ตุรกียังคงปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง จาก 15% ไปเป็น 14% รวมถึงผลักดันให้ธนาคารของรัฐ เสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ครัวเรือนและธุรกิจ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืม, นำไปใช้ลงทุน รวมถึงกระตุ้นการบริโภคต่าง ๆ โดยให้เหตุผลว่า ค่าเงินลีราตุรกีที่อ่อนค่าลง จะยิ่งส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของประเทศ และผู้บริโภคต่างชาติก็จะต้องการซื้อของจากตุรกีมากขึ้นไปอีก
น่าเสียดายที่กลับได้ผลตรงกันข้ามการนำเข้า ยิ่งค่าเงินลีราตุรกีอ่อนลงมากเท่าไร ต้นทุนสินค้านำเข้าก็จะยิ่งแพงขึ้นมากจนผู้ประกอบการแบกรับไม่ไหว ถูกผลักมายังผู้บริโภค ผ่านการขึ้นราคาสินค้าต่าง ๆ นั่นก็หมายถึงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2019 อย่างก้าวกระโดด
การล้มเหลวรับมือเรื่องเงินเฟ้อซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบ 20 ปี ที่ตุรกีเคยเจอทำให้ประชาชนกว่า 85 ล้านคนในประเทศตุรกี ยากจนลงโดยเปรียบเทียบ นอกจากทำให้เหล่านักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตุรกี ขาดทุนจากการที่เงินลีราตุรกีอ่อนค่าลง ทำให้ความมั่นใจต่อรัฐบาลของนาย แอร์โดอานตกต่ำลง
การขายเงินลีราตุรกีทิ้ง แล้วขนเงินกลับประเทศจากการฆ่าตัวตายแบบผ่อนส่งของรัฐบาลตุรกี
ตัวเลขค่าเดินทางที่พุ่งขึ้น 123.37% ราคาอาหารและเครื่องดื่มแบบไม่มีแอลกอฮอล์พุ่งขึ้น 93.93% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งแน่นอนว่ากระทบกับการใช้ชีวิตของชาวเมือง 84 ล้านคนอย่างมาก ขณะที่ หอการค้าอิสตันบูล ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของอิสตันบูลซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของตุรกีนั้น แตะที่ 94% ไปแล้ว
เพื่อบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อดังกล่าว รัฐบาลตุรกีได้มีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ (เป็นการชั่วคราว) เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี โดยมีการขึ้นเงินเดือนเกือบ 30% ขณะที่
การลดลงของสกุลเงินลีรา โดยปัจจุบันอยู่ที่ 1 เหรียญลีรา ต่อ 0.059 เหรียญสหรัฐ (จากที่เคยอยู่ระดับ 0.12 เหรียญสหรัฐเมื่อปี 2021) ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำเป็นประวัติการณ์
บทเรียนคราวนี้คนตุรกีจะรู้สำนึกหรือไม่ หรือจะแสร้งตาบอดพากันลงนรกไปกับนาย แอร์โดอาน ยังไม่มีคำตอบ
(อ่านต่อฉบับถัดไป)