ความเสี่ยงหุ้นไอพีโอ ที่ไม่รู้ค่า P/E
“การป้องกัน ความเสี่ยงจากการลงทุน” ที่น่าจะมีความเป็นไปได้ที่สุด คือ การที่นักลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูล อย่างครบถ้วน และทันสถานการณ์
“การป้องกัน ความเสี่ยงจากการลงทุน” ที่น่าจะมีความเป็นไปได้ที่สุด คือ การที่นักลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูล อย่างครบถ้วน และทันสถานการณ์
ถ้ามีแต่คำถามมา คือ คนถูกถามก็คงต้องใช้เวลาคิด แม้แต่ทางการเองก็เชื่อว่ายังหาคำตอบไม่เจอ เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่ปล่อยให้นักลงทุนรายย่อยต้องเสี่ยงกับความไม่รู้อยู่ทุกวันนี้
ความเสี่ยงของนักลงทุนรายย่อยที่ว่านั้น ควรจะได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในฐานะเจ้าของพื้นที่ โดยมีบรรดาลูกบ้านที่เป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มาใช้ตลาดรอง (Secondary Market) ในการซื้อขายหุ้น
กรณีศึกษาของ หุ้นบริษัท ทเวนตี้โฟร์ คอน แอนด์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ 24CS ที่เพิ่งเข้าเทรดเป็นวันแรกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ราคาหุ้นปิดชนเพดาน (Ceiling) บวกไป +200% จากราคาจองไอพีโอที่ 3.40 บาท ปิดไป 10.20 บาท เพิ่มขึ้น 6.80 บาท
วันต่อมา (4 ต.ค.) ราคาหุ้นปรับตัวลดลงติดพื้น (Floor) -29.90% ราคาหุ้นเหลือ 7.15 บาท ลดลง 3.05 บาท
วันถัดมา (5 ต.ค.) ราคาหุ้นปรับตัวลดลงต่อเกือบ floor -27.97% ราคาหุ้นเหลือ 5.15 บาท ลดลง 2 บาท
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่สามารถให้นักลงทุนทั่วไปเข้าถึง มีอยู่หลายข้อ โดยเฉพาะนักลงทุนที่ใช้โปรแกรม streaming ในการซื้อขาย
1.ไม่มีการเปิดเผยค่า P/E ของหุ้นไอพีโอที่เข้ามาซื้อขายในวันแรก (First day treading)
-ความจำเป็น คือ นักลงทุนรายย่อย จะไม่เห็นความเสี่ยง จากการเข้าไปเทรดหุ้นไอพีโอ ที่มีค่า P/E ที่สูง จนในที่สุดวันที่สอง (4 ต.ค.) เมื่อนักลงทุนเห็นค่า P/E ของหุ้น 24CS อยู่ที่ 150 เท่า (10.20 บาท) เลยทำให้เกิดแรงเทขายออกมา โดยช่วงแรกมีการลากหุ้นขึ้นไปก่อนสูงสุดที่ 11.10 บาท ก่อนจะทุบลงมา floor
สรุปความง่าย ๆ ในกรณีหุ้น 24CS ถ้ามีการแสดงค่า P/E ในวันแรกที่เข้าเทรด อาจจะทำให้นักลงทุนหลายคนมองว่า หุ้นได้ปรับตัวขึ้นไปจนมีค่า P/E ที่สูงถึง 150 เท่า อาจจะลดความชั่งใจ จนไม่กล้าเข้าไปลงทุน เพราะค่า P/E สูงเกินมาตรฐาน
การขายฝัน (เจ้ามือ) ที่มาพร้อมกับความโลภ (รายย่อย) คือการดันราคาหุ้นให้ชน ceiling แบบสนิท พร้อมเติม bid เข้ามา ให้เห็นว่า พรุ่งนี้ไปต่อแน่นอน
2.ไม่มีการเปิดเผยค่า P/E แบบเรียลไทม์ ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงของราคาหุ้น กล่าวคือ ปัจจุบันค่า P/E ที่ปรากฏในโปรแกรม streaming เป็นค่า P/E ของเมื่อวันก่อนหน้านี้
-ความจำเป็น คือ ในกรณีที่ราคาหุ้นปรับตัวพุ่งสูงขึ้นระหว่างวัน ก็ไม่สามารถอัปเดตค่า P/E แบบราคาเรียลไทม์ได้ ทำให้นักลงทุนทั่วไปไม่สามารถรับรู้ความเสี่ยงที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากค่า P/E ที่พุ่งขึ้นแรง และมันยิ่งเสี่ยงมากขึ้น เพราะหนึ่งในเกณฑ์สำคัญของการถูกบังคับใช้ แคช บาลานซ์ คือ ค่า P/E เกิน 40 เท่า
สำหรับประเด็นการไม่แสดงค่า P/E แบบเรียลไทม์ ในโปรแกรม streaming ที่เป็น platform ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้นักลงทุนเกิดความเสี่ยง โดยเป็นข้อจำกัดที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลอันควรที่จะเข้าถึงได้
ส่วนประเด็นอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับหุ้น 24CS เหนือหุ้นน้องใหม่ไอพีโอ ยังมีเรื่องของการที่ นักลงทุนที่ใช้โปรแกรม streaming ไม่สามารถดูการคาดการณ์ว่าจะเปิด (Projected Open) ของ SET INDEX ได้เหมือนโปรแกรมอื่น (Biz news,…)
-ความจำเป็น คือ ไม่สามารถคาดการณ์แผนการลงทุนได้ก่อนตลาดเปิดทั้งในฝั่งของการทำ arbitrage หรือ speculate
นอกจากนี้ โปรแกรม streaming ขาดการโชว์รายการ Big lot แบบเรียลไทม์
-ความจำเป็น คือ ปัจจุบันรายการ big lot มีผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ไม่ว่าจะ big lot ที่ราคาสูง หรือต่ำกว่าราคากระดาน ซึ่งปัจจุบันต้องย้อนกลับไปดูจากเว็บของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือโปรแกรมเทรดหุ้นอื่นแทน
จากข้อด้อย ดังกล่าวยังมีเรื่องของค่า P/BV และ Yield ที่ปรากฏในจอ แต่ไม่เรียลไทม์ เมื่อราคาหุ้นเปลี่ยนแปลง
ทำให้นักลงทุนที่ใช้ streaming เสียเปรียบ และไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ในการตัดสินใจก่อนลงทุนนั้น จะถูกปรับปรุงแก้ไขได้อีกเมื่อไหร่ ยังไม่มีใครคาดเดาได้
หวังว่า ฝ่ายงานที่รับผิดชอบ จะหันมาสนใจเรื่องดังกล่าว แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่สำคัญมาก ที่มีผลในการตัดสินใจที่จะรับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ ดีกว่า เสี่ยงแบบไม่รู้ตัวทั้งหุ้นไอพีโอ และหุ้นที่เทรดอยู่รายวัน