พาราสาวะถี
เพิ่งผ่านพ้น 6 ตุลาคมไปไม่กี่วัน กับกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ที่จัดรำลึกถึงเหตุการณ์นองเลือดเมื่อ 47 ปีที่แล้ว ท่ามกลางปรากฏการณ์ต่างๆ มากมาย
เพิ่งผ่านพ้น 6 ตุลาคมไปไม่กี่วัน กับกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ที่จัดรำลึกถึงเหตุการณ์นองเลือดเมื่อ 47 ปีที่แล้ว ท่ามกลางปรากฏการณ์ต่าง ๆ มากมาย อีกไม่กี่วันก็จะครบรอบ 14 ตุลา 16 ตุลามหาวิปโยคที่ผ่านมาจะครบ 49 ปีบริบูรณ์ การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของประเทศไทยยังไปไม่ถึงไหน มิหนำซ้ำ การผ่านรัฐประหารสองหนในระยะเวลาห่างกันไม่ถึง 8 ปี ที่อ้างกันสวยหรูเพื่อปฏิรูปประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า แต่กลับลากประชาธิปไตยให้ถอยหลังลงคลองอย่างน่าหดหู่
ไม่ใช่เรื่องที่ใช้ความรู้สึกตัดสิน แต่ดัชนีชี้วัดจากหลายองค์กรสากลเป็นตัวบ่งบอก เหมือนอย่างดัชนีประชาธิปไตย โดย Economist Intelligence Unit หรือ EIU ที่พบว่าประเทศไทยได้อันดับที่ 72 จากทั้งหมด 167 ประเทศ ซึ่งคงที่จากปีที่แล้ว โดยยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มี “ประชาธิปไตยที่ยังมีข้อบกพร่อง” เป็นปีที่สามติดต่อกัน หลังจากขยับขึ้นจากกลุ่มประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบผสมระหว่างประชาธิปไตยและอำนาจนิยมเมื่อปี 2019
ที่ตอกย้ำมาตลอด ผลพวงของการก่อรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 ต่อเนื่องมาถึง 2557 มันได้ฉุดกระชากให้ประเทศไทยจากที่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำในการยกระดับ พัฒนาประชาธิปไตยในภูมิภาคหลังการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทำให้มองเห็นว่าน่าจะเป็นยุคประชาธิปไตยเฟื่องฟู แต่ปัจจุบันความเป็นประชาธิปไตยของไทยตามหลังมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ สูงกว่าเวียดนาม กัมพูชา และเมียนมาเท่านั้น ซึ่งก็รู้อยู่ว่าทั้ง 3 ประเทศนั้นปกครองกันแบบไหน
ไม่ว่ากระบวนการประชาธิปไตย ณ ปัจจุบันจะเป็นอย่างไร ขบวนการสืบทอดอำนาจจะวางกลไกเพื่อการอยู่ยาวกันไว้แบบไหน แต่หนทางที่จะเดินกันนับจากนี้ภายใต้การนำของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ถูกมองว่าแคบลงเรื่อย ๆ ถึงจะมีตัวช่วยดีขนาดไหน แต่การทำงานไม่มีความสามารถ ไร้ฝีมือ ย่อมหมดความน่าเชื่อถือศรัทธาจากประชาชน ความเบื่อหน่ายจึงเท่ากับการโหยหาความเปลี่ยนแปลง เพื่อต้องการสิ่งที่ดีกว่า ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น
แน่นอนว่า ทางการเมืองทุกสายตาย่อมจับจ้องไปยังพรรคเพื่อไทยที่ชูสโลแกนแลนด์สไลด์ โดยใช้ครอบครัวเพื่อไทยเป็นตัวขับเคลื่อน มี แพทองธาร ชินวัตร เป็นตัวชูโรง ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่กาฬสินธุ์และร้อยเอ็ดเป็นบทพิสูจน์ มิหนำซ้ำ นิด้าโพลล่าสุดที่ไปสำรวจความเห็นคนในภาคอีสาน ก็ชัดเจนว่าตัวเลือกนายกฯ อันดับหนึ่งของคนที่ราบสูง คือ อุ๊งอิ๊ง ขณะที่พรรคการเมืองซึ่งคนอีสานตั้งใจจะเลือกหนีไม่พ้นเพื่อไทย
อาจจะมองว่ายังไกลจากการเลือกตั้ง เมื่อถึงเวลานั้นอาจเกิดการพลิกผันกันได้ตลอดเวลา อย่าลืมเป็นอันขาดยังมีก้างขวางคอสำคัญอย่างภูมิใจไทยที่จะเป็นตัวสกัดแลนด์สไลด์ เพราะคำพูดของ “ครูใหญ่” เนวิน ชิดชอบ ที่ อนุทิน ชาญวีรกูล ยกหางกับการบอกว่าพรรคจะได้ ส.ส. 120 ที่นั่ง มันตีความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เนื่องจากพรรคของเสี่ยหนูกับนายใหญ่มีฐานเสียงหลักเดียวกัน คือ ภาคอีสาน ดังนั้น เมื่อถึงนาทีที่ต้องประลองกำลังกัน ต่างฝ่ายย่อมมีไม้เด็ด หมัดน็อคมาเล่นงานฝ่ายตรงข้ามแน่นอน
ก่อนจะไปถึงตรงนั้น วันนี้สิ่งที่ทำเอา นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยต้องเร่งแก้ภาพพจน์และสะสางให้ได้ คือ ปมดีลแดนไกล ระหว่าง ธรรมนัส พรหมเผ่า กับ ทักษิณ ชินวัตร ที่แว่วว่าจะยกคณะจากเศรษฐกิจไทยมาร่วมก๊วน เหมือนที่บอกย่อมมีทั้งกระแสสนับสนุนและต่อต้าน แต่อย่างหลังน่าจะดังมากกว่า เพราะมันจะทำให้หาเสียงยาก ทำความเข้าใจกับประชาชนลำบาก แม้จะอ้างว่ากลับตัวกลับใจ ตาสว่างจากหลงผิดที่ไปอยู่กับเผด็จการสืบทอดอำนาจ
อย่าลืมเป็นอันขาดว่า ฝ่ายหนุนหลังเพื่อไทยส่วนใหญ่ก็คือคนเสื้อแดง แม้จะไม่ใช่ทว่าก็เป็นพวกที่ไม่เอาเผด็จการ ดังนั้น การที่จะให้ทำใจยอมรับพวกที่เคยหนุนหลังเผด็จการสืบทอดอำนาจมันจึงเป็นไปไม่ได้ ขณะเดียวกัน ปัญหาเรื่องของการทำงานในพื้นที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ เพราะถึงเวลานี้ทางพรรคนายใหญ่ได้วางตัวบุคคลไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในลักษณะท้าชนคนที่เป็น ส.ส.อยู่เวลานี้ เพื่อช่วงชิงเก้าอี้กลับคืนมาสำหรับจังหวัดที่เคยพ่ายแพ้จากคราวที่แล้ว
เว้นเสียแต่ว่าพื้นที่นั้นจะไม่มีตัว แล้วทีม ส.ส.ของเศรษฐกิจไทยมีฐานเสียงแน่นหนา อาจจะเป็นอีกเงื่อนไขที่ว่า รับเฉพาะ ส.ส.ของพรรคในทีมธรรมนัส แต่เจ้าตัวต้องไม่ลงสมัคร ส.ส. มองมุมนี้มันย่อมเป็นไปไม่ได้ คนที่กำลังสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับตัวเอง จู่ ๆ จะมายอมให้หยุด เสียสละ โดยที่ไม่รู้อนาคตว่าจะมีที่ยืนอย่างไร คงไม่มีใครยอม พิจารณาจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ แล้ว โอกาสที่จะหวนคืนบ้านหลังเก่าทางการเมืองเป็นไปได้ แต่ทางปฏิบัติน่าจะยาก
ไม่ต่างกันกับข่าวที่ว่า สมศักดิ์ เทพสุทิน และ สุชาติ ตันเจริญ จะกลับมาร่วมชายคาพรรคนายใหญ่ รายหลังอาจพอเป็นไปได้ เพราะพื้นที่ฉะเชิงเทราของเพื่อไทยนอกเหนือจากฐานของตระกูลฉายแสงแล้ว ส่วนของตี๋กร่างก็ถือว่ายังไม่แข็งแรง การได้คนแบบนี้กลับมาจึงจะมาช่วยพรรคได้ดีกว่าจะสร้างความแตกแยก ประกอบกับท่าทีของสุชาติในการทำหน้าที่รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ที่ส่งสัญญาณแรงไปยังผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น ก็เหมือนการบอกเป็นนัยว่าไม่อยากอยู่ภายใต้ขบวนการสืบทอดอำนาจอีกต่อไป
ขณะที่สมศักดิ์ปัญหาอยู่ที่ตัวผู้สมัครในจังหวัดสุโขทัย เพราะคนเก่าของพรรคเพื่อไทยก็ถือว่าทำงานกันอย่างแข็งขัน และเคยเป็นทีมเดียวกัน โดยที่พรรคก็วางตัวไว้เป็นผู้สมัครอยู่แล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะรับคนอื่นที่เคยได้ชื่อว่าคนกันเองแต่ทรยศ มาเบียดคนที่ภักดีต่อพรรคมาโดยตลอด และต้องไม่ลืมว่าภาพจำของผู้หญิงใหญ่แห่งสุโขทัยเมื่อคราวรัฐบาลทักษิณกับการถูกย้ายพ้นกระทรวงเกษตรฯ คราวนั้น มันยังเป็นสิ่งที่บรรดาสมาชิกพรรคระดับอาวุโสหลายรายมองเห็นตรงกันว่ามันไม่น่าที่จะเหลือความรู้สึกที่ดีมีให้กันอีกแล้ว