ธปท. กับปัญหาหนี้สินต่างประเทศ
ถึงแม้ว่าทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศสุทธิของไทย จากข้อมูลล่าสุดของธปท.จะยังคงสูงมาก คิดเป็นเงินบาทที่ระดับ 38 บาท/ดอลลาร์
ถึงแม้ว่าทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศสุทธิของไทย จากข้อมูลล่าสุดของธปท.จะยังคงสูงมาก คิดเป็นเงินบาทที่ระดับ 38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่วิกฤตต้มยำกุ้งง่าย ๆ
แถมยังมีปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราระหว่างประเทศ เพียงแค่เล็กน้อย คือ 1.72 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นแค่ 1.72% ของหนี้ภาครัฐรวม ๆ ซึ่งช่วยให้มั่นใจได้ว่าค่าบาทที่อ่อนยวบยาบยามนี้จะไม่กระทบจนภาระหนี้สินภาครัฐจะพุ่งขึ้นสูงน่าอันตราย…แต่การชำเลืองดูตัวเลขที่อาจจะกระทบรุนแรงในอนาคต ก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นต่อไป
ในปัจจุบัน คลังสำรองของธนาคารกลางมิได้มีแต่เงินตราต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังมีสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ธนาคารกลางได้เก็บเงินสำรองส่วนหนึ่งไปซื้อไว้เพื่อให้งอกเงย เช่น พันธบัตร, ทองคำ, หุ้น, สิทธิพิเศษในการถอนเงิน เป็นต้น จากการที่คลังสำรองประกอบด้วยสินทรัพย์หลายชนิดนี้เอง จึงมีการใช้คำศัพท์ที่มีความตรงตัวยิ่งขึ้น
โดยนัยนี้ การเปลี่ยนจากคำว่า “เงินสำรอง” เป็น “ทุนสำรอง” ซึ่งหมายถึงเป็นสินทรัพย์ทุกประเภทของธนาคารกลางที่อยู่ในหลายสกุลเงิน โดยมากมักเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ รวมไปถึงยูโร, ปอนด์สเตอร์ลิง และ เยน ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นหลักประกันให้กับค่าเงินของประเทศเจ้าของทุนสำรองจำเพาะ
ทุนสำรองระหว่างประเทศมีหน้าที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ คือ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ และรองรับความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศ โดยสามารถนำไปใช้แทรกแซงเพื่อดูแลค่าเงินในภาวะที่ตลาดการเงินมีความผันผวนสูง และการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของค่าเงินอาจส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้
ดังนั้นหลักการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อให้บรรลุหน้าที่หลักข้างต้นจึงต้องให้ความสำคัญกับการรักษามูลค่าของทุนสำรองระหว่างประเทศ และการดำรงสภาพคล่องสูง เพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้ทันการณ์เมื่อมีการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศอย่างฉับพลัน หรือในยามคับขันที่ตลาดโลกผันผวนมาก ทำให้การนำทุนสำรองระหว่างประเทศไปลงทุน ต้องเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและมีสภาพคล่องของตลาดสูง ซึ่งสินทรัพย์เหล่านั้นมีอัตราผลตอบแทนที่ต่ำ สะท้อนความเสี่ยงที่ต่ำของการลงทุน
ในบางประเทศได้มีการเปลี่ยนทุนสำรองระหว่างประเทศให้ไปอยู่ในการดูแลของกองทุนความมั่นคงแห่งชาติ (Sovereign Wealth Funds หรือ SWF) เพื่อนำทุนสำรองดังกล่าวที่มีอยู่มากเกินระดับความต้องการของรัฐบาล ไปลงทุนต่อเพื่อหาผลประโยชน์ หรือลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม เช่น จีน มาเลเซีย สิงคโปร์
สำหรับกรณีของมาเลเซีย มีกองทุน SWF ชื่อ 1MBD ซึ่งเป็นเรื่องอื้อฉาวจากกรณีครอบครัวของอดีตนายกนาจิบ ราซัค เข้าไปมีเอี่ยวกับผลประโยชน์จนเขาต้องหล่นจากเก้าอี้มาแล้ว
ในกรณีของประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ รูปแบบการบริหารทุนสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นรูปแบบดั้งเดิม คือเก็บในรูปของสินทรัพย์ที่มั่นคงและมีสภาพคล่องสูง ส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ทางการเงินในตลาดเงินที่ให้ผลตอบแทนคงที่ หรือในรูปของเงินฝากธนาคารพาณิชย์ เป็นสินทรัพย์ระยะสั้น
ส่วนทางด้านการจัดตั้งกองทุนความมั่นคงแห่งชาตินั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาของกระทรวงการคลัง จึงยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องนี้
สำหรับหนี้สินต่างประเทศภาครัฐนั้น แม้จะยังมีสัดส่วนที่ต่ำมาก แต่ต้องเข้าใจกันให้ชัดเจนว่า หนี้ต่างประเทศหมายถึงยอดคงค้างหนี้สินส่วนที่ไม่ใช่ทุนเรือนหุ้นที่ผู้มีถิ่นฐานในประเทศก่อขึ้น โดยมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระคืนเงินต้น โดยรวมหนี้สินทุกสกุลเงินและทุกประเภทของการกู้ยืม
ยอดคงค้าง หมายถึง ยอดคงเหลือของหนี้สินต่างประเทศในรูปสกุลเงินต่างประเทศ แล้วนำมารวมนำมาคำนวณเทียบค่าเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้อัตราซื้อขายเฉลี่ยสิ้นงวดในตลาดนิวยอร์ก (New York Closing mid rate) เพื่อให้บันทึกลงตามระเบียบของ (External Debt Guide) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
หนี้สินต่างประเทศที่ต่ำมากของไทยทำให้เชื่อมั่นได้ในระดับนัยสำคัญว่าประเทศไทยจะไม่ต้องเผชิญกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากจนเกินขนาด เพียงแต่ธปท.จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับตลาดเงินว่าระดับของอัตราแลกเปลี่ยนที่กระทบกับค่าเงินบาทนั้นจะไม่รุนแรงมากเกินจำเป็น
เวลานี้ ตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อที่กำลังพุ่งจนค่าบาทแกว่งไหวรุนแรงจะไม่กระทบลามปามไปถึงตัวเลขดุลชำระเงิน หรือ balance of payment ที่่ยังคงเป็นบวกมาต่อเนื่องแถวระดับ 13,679.0 ล้านบาท และเริ่มส่ออาการติดลบในบางไตรมาสจะไม่เลวร้ายลงไปกว่านี้
เพราะถ้าหากดุลชำระเงินติดลบต่อเนื่องนานกว่า 4 ไตรมาสต่อเนื่อง ข่าวร้ายจากค่าเงินบาทอาจจะเลวร้ายกว่านี้ก็เป็นไปได้
แล้วตัวเลขทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่ยังเป็นบวกอยู่มาก อาจจะไร้ความหมายใด ๆ ก็ได้นะครับ