ช่วงสั้นยังต้องระมัดระวังความผันผวนของดัชนี
InnovestX มองว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณชะลอลงมากขึ้น เห็นได้จากตำแหน่งงานเปิดใหม่ของสหรัฐฯ (JOLT) เดือน ส.ค. ที่ลดลงรุนแรง
InnovestX มองว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณชะลอลงมากขึ้น เห็นได้จากตำแหน่งงานเปิดใหม่ของสหรัฐฯ (JOLT) เดือน ส.ค. ที่ลดลงรุนแรง ซึ่งเป็นการลดลงของภาคบริการเป็นส่วนใหญ่ สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มขยายจากภาคการผลิตสู่ภาคบริการมากขึ้น (สะท้อนจากดัชนี ISM และ PMI) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากต้นทุนทางการเงินและค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้ผู้คนเริ่มลดการจับจ่ายลง
ภาพเช่นนี้จะทำให้ดัชนีชี้วัดตลาดแรงงาน เช่น การจ้างงานภาคเอกชนของ ADP อัตราว่างงาน รวมถึงตัวเลขขอรับสวัสดิการว่างงานเริ่มชะลอลง และลดแรงกดดันด้านค่าจ้างในระยะต่อไป นอกจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ทำให้ธนาคารกลางอื่น ๆ ขึ้นรุนแรงตามและทำให้สภาวะการเงินตึงตัวทั่วโลก นำไปสู่ความผันผวนในตลาดเงินทุนโลก โดยเฉพาะอังกฤษที่นโยบายการคลังที่ผิดพลาดนำไปสู่การเทขายพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษจนทำให้กองทุน Pension Fund ที่ถือตราสารดังกล่าวจำนวนมากเสี่ยงล้มละลาย
โดยทำให้อังกฤษต้องกลับทิศนโยบายในภายหลังนั้น บ่งชี้ถึงความปั่นป่วนทางการเงินที่จะมีมากขึ้นหลังการทำนโยบายการเงินตึงตัวของ Fed ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ Fed เองจะเริ่มตั้งคำถามกับทิศทางนโยบายการเงินที่ตึงตัว และนำมาสู่ความเสี่ยงเสถียรภาพการเงินโลกในอนาคต
ทั้งนี้แม้ InnovestX ยังคงเชื่อว่าตลาดกำลังจะปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในระยะต่อไป ได้แก่ ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่อาจมีมากขึ้นจากการ Fed Hawkishness ซึ่งอาจกดดันให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งตลาดหุ้นไทยจะยังมีความผันผวนสูงและมี Upside จำกัดในระยะสั้น ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนจึงยังต้องพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน โดยมุ่งเน้นในสินทรัพย์/ตลาดที่ยังมีความแข็งแกร่ง ต้านทานการขึ้นดอกเบี้ยและการชะลอลงของเศรษฐกิจได้ ดังนี้
1)หุ้นธนาคาร ซึ่งคาดกำไรไตรมาส 3/65 ออกมาเติบโตดี และมีแนวโน้มที่จะได้ประโยชน์มากสุดจากวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น เลือก BBL, KTB, KBANK
2)หุ้นกลุ่มอื่น ซึ่งคาดจะพรีวิวโมเมนตัมกำไรยังแข็งแกร่งในไตรมาส 3/65 เลือก HMPRO, CRC, CPF, ZEN, SNNP และ AOT
ขณะที่ช่วงสั้นแนะนำให้ เพิ่มความระมัดระวัง หรือ หลีกเลี่ยงการลงทุนออกไปก่อน สำหรับหุ้นที่มีปัจจัยเสี่ยงกดดันผลประกอบการ ดังนี้
1)หุ้นโรงกลั่น หลังคาดงบไตรมาส 3/65 อาจได้รับผลกระทบค่าการกลั่นลดลง และขาดทุนสต๊อก โดยเฉพาะ บจ. ที่ไม่ได้ทำ Hedging
2)หุ้นเดินเรือซึ่งคาดได้รับผลกระทบจากอุปทานเรือใหม่ที่เข้ามาและอุปสงค์การขนส่งสินค้าเริ่มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก
3)หุ้นปาล์ม ซึ่งคาดผลประกอบการยังถูกกดดันจากราคาปาล์มที่อยู่ในทิศทางขาลง เนื่องจากมีผลผลิตปาล์มที่สูงขึ้นในอินโดนีเซียและมาเลเซีย รวมทั้งหุ้นน้ำตาล หลังคาดผลผลิตน้ำตาลโลกจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ดีในบราซิล อินเดีย และไทย