พาราสาวะถีอรชุน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือกสม. แถลงผลการดำเนินงานตลอด 6 ปีของกสม.ชุดที่ 2 มีประเด็นที่น่าสนใจทั้งเรื่องการชุมนุมของม็อบกปปส.และปัญหาการละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ตลอดระยะ 1 ปีเศษที่ผ่านมาภายใต้สถานการณ์รัฐประหาร โดย นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการกสม.อธิบายถึงประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจ


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือกสม. แถลงผลการดำเนินงานตลอด 6 ปีของกสม.ชุดที่ 2 มีประเด็นที่น่าสนใจทั้งเรื่องการชุมนุมของม็อบกปปส.และปัญหาการละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ตลอดระยะ 1 ปีเศษที่ผ่านมาภายใต้สถานการณ์รัฐประหาร โดย นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการกสม.อธิบายถึงประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจ

ต้องยอมรับว่าภายใต้กฎอัยการศึกแม้จะยกเลิกไปแล้ว สังคมไทยยังมีปัญหาด้านเสรีภาพในการแสดงความเห็น เช่น เสรีภาพของสื่อและนักวิชาการ แม้กระทั่งการที่ประชาชนอยากมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นและแก้ปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ เช่น ปัญหาปฏิรูปพลังงาน การจัดการทรัพยากรก็ถูกสกัดกั้น ถูกมองว่าทำลายความสงบสุข ทั้งที่ในความเป็นจริงเป็นสิทธิของพลเมือง

ถ้อยแถลงดังกล่าวคงสอดรับกับรายงานสถานการณ์สื่อไทยหลังรัฐประหาร 2557 ขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ที่ใช้ชื่อว่า “สื่อที่ถูกไล่ล่าโดยเผด็จการทหาร ตั้งแต่รัฐประหาร 2557” Media hounded by junta since 2014 coup  เขียนโดย เบนจามิน อิสเมล หัวหน้าแผนกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน

รายงานดังกล่าวมีความยาว 44 หน้าชี้ให้เห็นว่า ภาวะที่อยู่ใต้การนำความสงบเรียบร้อยกลับมา ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมานั้นได้ปิดกั้นเสรีภาพในข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพสื่อไทย ซึ่งเคยเป็นต้นแบบของภูมิภาคเมื่อสิบปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนได้จัดอันดับเสรีภาพสื่อไทยอยู่ที่ 134 จาก 180 ประเทศทั่วโลก

รายงานดังกล่าวระบุถึงยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลทหารใช้กับสื่อ 4 ประการได้แก่ ยุทธศาสตร์เซ็นเซอร์อย่างกว้างขวาง มีการออกคำสั่งและประกาศกว่าสิบฉบับ ห้ามสื่อและสื่อออนไลน์เสนอข่าวที่อาจเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติและหมิ่นประมาทบุคคลหรือวิจารณ์การทำงานของคสช. เจ้าหน้าที่ทหารบุกไปที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในค่ำวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หลังไทยพีบีเอสไม่ทำตามคำสั่งให้ระงับการออกอากาศ

ยุทธศาสตร์สร้างความกลัว มีการเรียกบรรณาธิการข่าวของสื่อ 18 แห่งทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษเข้าพูดคุย เพื่อห้ามเสนอข่าววิจารณ์คสช. นอกจากนี้ ยังมีการเรียกสื่อที่แสดงความเห็นทางออนไลน์วิจารณ์คสช.อย่าง ธนาพล อิ๋วสกุล บก.ฟ้าเดียวกัน และ ประวิตร โรจนพฤกษ์ อดีตผู้สื่อข่าวเดอะเนชั่นเข้ารายงานตัวและคุมตัวไว้ในค่ายทหาร

ยุทธศาสตร์จอดำ ก่อนการรัฐประหาร มีการบุกไปยังสถานีโทรทัศน์อย่างน้อยสิบช่องเพื่อหยุดการออกอากาศ มีเจ้าหน้าที่ทหารเฝ้าหน้าสถานีข่าวบางแห่ง กรณีไทยพีบีเอสไม่หยุดออกอากาศ โดยเผยแพร่รายการผ่านยูทูบ เจ้าหน้าที่ทหารได้บุกไปที่สถานีและคุมตัว วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายข่าวไป

นอกจากนี้ มีข้อมูลจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ไปที่สำนักพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันแห่งหนึ่งเพื่อสั่งห้ามตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการก่อตั้งองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกลุ่มต้านรัฐประหาร รวมถึงมีการสั่งปิดวิทยุชุมชนหลายพันแห่ง

สุดท้ายคือการใช้ยุทธศาสตร์โฆษณาชวนเชื่อ หลังระงับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ทุกช่องและส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปคุมสถานีแล้ว คสช.ได้สั่งให้ทีวีทุกช่องเผยแพร่ประกาศคสช. มีการออกอากาศรายการคืนความสุขให้คนในชาติรายสัปดาห์โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะเดียวกันมีการเซ็นเซอร์และการสอดแนมในโลกออนไลน์ด้วย โดยมีเว็บไซต์หลายแห่งถูกบล็อกและมีการสอดแนมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต รวมถึงโครงการซิงเกิลเกตเวย์ ซึ่งจะเพิ่มอำนาจการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลทหาร

น่าสนใจคือ ในรายการระบุว่าพลเอกประยุทธ์วิจารณ์สื่อต่างประเทศเป็นภัยคุกคามต่อภาพลักษณ์ของไทยในสายตาต่างชาติ และบทสรุปของรายงานยังตั้งคำถามต่อบทบาทของสื่อไทยในภาวะที่การแบ่งขั้วของผู้สนับสนุนเสื้อแดงและเสื้อเหลือง ทำให้สื่อทำหน้าที่ฐานันดรที่สี่ในการต้านรัฐประหารได้ยากขึ้น และยังป้องกันไม่ให้มีการรวมตัวในการต่อต้านการเซ็นเซอร์และแรงกดดันจากกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองและธุรกิจ

จากการสรุปเช่นนี้ก็ย้อนกลับมาที่รายงานของกสม.ต่อประเด็นการชุมนุมของม็อบกปปส. ที่ระบุว่า มีการดำเนินกิจกรรมบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น อาทิ กิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้ง การปิดล้อมสถานที่รับสมัครส.ส. รวมถึงการปฏิบัติการปิดกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมในที่สาธารณะที่เกินความจำเป็น

นอกจากนั้น ยังพบว่า มีการทำลายทรัพย์สิน การใช้สิ่งเทียมอาวุธ โดยแกนนำไม่สามารถควบคุมผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ที่ก่อความรุนแรงได้ หรือผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ที่เห็นความรุนแรงเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้ชุมนุมบางกลุ่มแต่ก็ไม่มีการห้ามปราม และมีท่าทีสนับสนุนการกระทำนั้น อาทิ การชุมนุมที่บริเวณสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ที่ถือได้ว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบและไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

ความเห็นเช่นนี้ของกสม.แตกต่างจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยสิ้นเชิงที่บอกว่าทุกการกระทำเป็นไปด้วยความสงบ มาถึงตรงนี้น่าจะเป็นภาพสะท้อนอะไรได้หลายๆ อย่างโดยที่ไม่ต้องอธิบาย ประเด็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม “สองมาตรฐาน” นั้นเกิดขึ้นตรงไหนคงไม่ต้องอธิบาย แม้กระทั่งรัฐบาลคสช.ที่อ้างว่าเข้ามาเป็นกรรมการ วันนี้ วิษณุ เครืองาม กล้าตอบเต็มปากเต็มคำหรือไม่ว่าวางตัวเป็นกลางและไร้อคติกับคนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างแท้จริง

Back to top button