ตรรกะวิปริตทายท้าวิชามาร

คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญตอบโต้ผู้วิจารณ์ว่า การให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนหาเสียงเลือกตั้ง เสนอได้ทั้งคนนอกคนใน ไม่เห็นจะวิตถารตรงไหน ดีเสียอีก ประชาชนจะได้รู้ว่าเลือกใครเป็นนายกฯ และมีโอกาสได้ “คนดี” ปกครองบ้านเมือง


คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญตอบโต้ผู้วิจารณ์ว่า การให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนหาเสียงเลือกตั้ง เสนอได้ทั้งคนนอกคนใน ไม่เห็นจะวิตถารตรงไหน ดีเสียอีก ประชาชนจะได้รู้ว่าเลือกใครเป็นนายกฯ และมีโอกาสได้ “คนดี” ปกครองบ้านเมือง

ถามจริง เลือกตั้งกันมาตั้งแต่พฤษภา 2535 คนไทยไม่รู้เลยหรือว่าใครจะเป็นนายกฯ เขารู้ทั้งนั้นว่าถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้อันดับ 1 ก็ชวน หลีกภัย พรรคชาติไทยก็บรรหาร ศิลปอาชา หลังรัฐธรรมนูญ 2540 ยิ่งชัดเจนว่าปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 คือว่าที่นายกฯ

นี่คือวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่สั่งสมมา 20 กว่าปี โดยไม่ต้องมีกฎหมายบังคับ ขอเพียงบัญญัติให้มั่นใจว่านายกฯ มาจาก ส.ส. ไม่ใช่เลือกตั้งเสร็จมีอำนาจลี้ลับจับยัด ประชาธิปไตยก็พัฒนาในกลไกตลาดเสรี พรรคการเมืองประกาศนโยบายและตัวบุคคลเพื่อแข่งกัน ระยะหลังๆ ต้อง “ขาย” ด้วยซ้ำว่าใครเป็นทีมเศรษฐกิจ

เกิดวิปริตอะไรไม่ทราบ จะมาบังคับให้เสนอชื่อ 5 คน ไม่เป็น ส.ส.ก็ได้ แล้วอ้างว่าจะได้ “คนดี” โดยไม่มีเหตุผล มีข้อเดียว คือนักการเมืองที่คัดค้านพวกท่านมันเลว กรธ.ที่รัฐประหารเชิญมาล้วนแต่คนดี ฉะนั้น คนดีพูดอะไรก็ได้ไม่ต้องมีตรรกะเหตุผล ดุสิตโพล กรุงเทพโพลล์ นิด้าโพล ฯลฯ เห็นด้วยอยู่ดี เลือกตั้งแบบเยอรมันก็เห็นด้วย เลือกตั้งแบบอิสราเอลก็เห็นด้วย บัตรใบเดียวก็เห็นด้วย บัตรสองใบก็เห็นด้วย ฯลฯ ขอแค่เป็นคนดี

แต่คนดีที่ไหนกัน อยากเป็นนายกฯ ทั้งที ต้องให้พรรคการเมืองเสนอชื่อ โดยที่ตัวเองไม่ลง ส.ส.

อ้าว ก็ไหนว่านักการเมืองมันเลว แล้วไม่ประหลาดหรือ ถ้าพรรคการเมืองเสนอชื่อแกนนำ 4 คน มีคนที่ 5 โผล่มาจากไหนไม่รู้ อยู่ๆ ก็ได้เป็นนายกฯ โดยไม่ลงเลือกตั้ง

ถ้าเป็นสมัยป๋าเปรมก็ว่าไปอย่าง ป๋านอนตีขิมอยู่บ้านสี่เสา ไม่เข้าไปยุ่งกับพรรคไหน รอเลือกตั้งเสร็จ พรรคการเมืองค่อยไปสรรเสริญอ้อนวอน ป๋านอนรออยู่บนหิ้ง ไม่ดิ้นรนขวนขวาย แต่นี่คนดีแบบไหน (วะ) ไปอาศัยห้อยโหนพรรคการเมือง แต่ปล่อยให้เขาหาเสียงกันเหนื่อยยากแทบตาย ตัวเองลอยตัว คอยชุบมือเปิบ

กรรมการชุดมีชัย ฤชุพันธุ์ มีวิธีคิดวิบัติยิ่งกว่ากรรมาธิการชุดบวรศักดิ์ อุวรรณโณ บวรศักดิ์ยังเว้าซื่อๆ ถ้าเกิดวิกฤติให้มีนายกฯ คนนอกด้วยคะแนน 2 ใน 3 ก็ไม่เห็นด้วยนะครับ แต่ยังพออธิบายวิธีคิดได้ ไม่พิลึกพิลั่นถึงเพียงนี้

วิธีเลือกตั้งก็เหมือนกัน คนไทยหย่อนบัตร 2 ใบมาเกือบ 20 ปี บวรศักดิ์เสนอเลือกตั้งแบบเยอรมัน ถกเถียงกันจนคนยอมรับว่ายุติธรรม จำนวน ส.ส.กำหนดตามคะแนนพรรค แค่ไม่เห็นด้วยกับ Open List เท่านั้น

อยู่ๆ กรธ.ขี่ม้ามาจากไหนไม่รู้ ให้ใช้บัตรใบเดียว เอาเฉพาะคะแนนผู้แพ้คิดปาร์ตี้ลิสต์ คะแนนชนะไม่เอา พอค้านมากๆ ค่อยยอม แต่ยังดึงดันใช้บัตรใบเดียว ปิดทางเลือกคนแยกจากพรรค ปิดโอกาสพรรคเล็ก ผู้สมัครอิสระ ซ้ำจะจูงใจให้ซื้อเสียงหนักขึ้น

2 เรื่องนี้สะท้อนวิธีคิดประหลาด อะไรที่ดีแล้วไม่เอามาใช้ ทำเรื่องง่ายเป็นเรื่องยาก ทำเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ ต้องคิดอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนใคร (เพราะไม่มีใครเขาทำกัน)

แค่เริ่มต้น ยังตรรกะวิบัติสร้างความขัดแย้งขนาดนี้ แล้วทั้งฉบับจะขนาดไหน

 

                                                                                                                                ใบตองแห้ง

 

Back to top button