เกมตัวเลขเงินเฟ้อของธปท.

การหลุดจาก กรอบเงินเฟ้อหลุดออกนอกกรอบเป้าหมายจะมีความหมายเลวร้ายหรือดีเช่นไร คนโง่อย่างเราๆ ที่เดินดินกินข้าวแกง...ไม่มีสิทธิ์ถามไถ่นะครับ


เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา และประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน

คำถามสำหรับคนโง่งมอย่างผมก็มีอยู่ว่า ทำไมธปท.ใช้ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปมาอธิบายให้กระทรวงการคลัง แทนที่จะเป็นการอ้างอิงถึง เงินเฟ้อขึ้นพื้นฐานที่ตามปกติแล้ว จะต่ำกว่าเงินเฟ้อทั่วไป

เรื่องนี้เป็นประเด็นคำถามว่าทำไมถึงอ้างอิงตัวเลขซึ่งดูเลวร้ายกว่าตัวเลขที่ดูดีกว่า…มีเจตนาอะไรเอ่ย?

เงินเฟ้อทั่วไป หมายถึงตัวเลขอัตราของราคาสินค้าผู้บริโภคที่ครอบคลุม ทุกหมวดสินค้าและบริการที่ใช้บริโภค ทั่วไป

ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน หมายถึง อัตราเงินเฟ้อ ที่หักราคาสินค้าในหมวดอาหารสด และพลังงานออก โดยมีเหตุผลมาจากการที่ราคาสินค้าในกลุ่มที่หักออกดังกล่าว อาทิ ข้าว ผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้มและน้ำมันเชื้อเพลิง มีความผันผวน มากในระยะสั้น ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจึงมีความผันผวนน้อยกว่า

ที่ผ่านมา ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (ทั่วไปหรือพื้นฐาน) เป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบาย และตัวเลข ดังกล่าวเป็นเท่าใด  โดยที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานโดยเฉลี่ยรายไตรมาสที่ร้อยละ 0.5-3.0%

ที่ผ่านมา นโยบายเงินเฟ้อที่ปรับเปลี่ยนไปมา หรืออัตราเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น เป็นที่รู้กันในแวดวงของคนจำนวนน้อยเท่านั้น

ตัวอย่างง่าย ๆ ว่าเหตุผลของการใช้ตัวเลขอัตราส่วนพื้นฐานและทั่วไป ขึ้นกับท่าทีตามใจชอบของธปท. ได้รับคำอรรถาธิบายแบบงง ๆ ของหน่วยงานรัฐ ดังเช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2564-กันยายน 2565) อยู่ที่ 5.23% สูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปัจจุบัน จากข้อมูลเงินเฟ้อเดือน กันยายนล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ที่อยู่ 6.41% และประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ไตรมาส 4 ปี 2565 ถึงไตรมาส 3 ปี 2566) จะอยู่ที่ 3.9% ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมาย โดยกรอบเป้าหมายอยู่ที่ 1-3%

ยังมีรายงานจากธปท.ถึงกระทรวงคลัง ที่ว่า “…หากย้อนไปดูกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของไทยก่อนจะมาใช้กรอบเงินเฟ้อ 1-3% ในปัจจุบัน พบว่าในช่วงยุคแรก ๆ นั้น ประเทศไทยเดิมใช้เงินเฟ้อพื้นฐานเป็นกรอบการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเริ่มในปี 2543-2551 กำหนดใช้เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบาย ซึ่งกรอบจะอยู่ที่ 0-3.5%”

โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่ระหว่างเดือน ตุลาคม 2564-กันยายน 2565) อยู่ที่ 5.23% สูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปัจจุบัน โดยที่ล่าสุดเมื่อเดือน กันยายนที่ผ่านมาเมื่อค่า CPI หรือเงินเฟ้อทั่วไปของกระทรวงพาณิชย์พุ่งแรง จากข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ 6.41% และประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ไตรมาส 4 ปี 2565 ถึงไตรมาส 3 ปี 2566) จะอยู่ที่ 3.9% ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมาย โดยกรอบเป้าหมายอยู่ที่ 1-3% ซึ่งถือว่า ทำให้ต้องหันมายอมรับเรื่องเงินเฟ้อทั่วไปค่อนข้างตายตัว

เท่ากับธปท.ยกเลิกการอ้างอิงเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบาย ซึ่งกรอบจะอยู่ที่ 0-3.5% โดยปริยาย และต่อมาในปี 2552-2557 ยังคงใช้กรอบเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสแต่มีการปรับกรอบเงินเฟ้อให้แคบลงเป็น 0.5-3% อย่างไรก็ดี ในปี 2552 ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการกำหนดให้มีการจัดทำกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายในทุก ๆ ปี ภายในเดือน ธันวาคมของปี

คนไทยทั้งหลายกรุณาทำตัวเป็นเด็กของธปท.ว่าขณะนี้ทิศทางกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของกนง.ไทยนั้นเลิกใช้เงินเฟ้อพื้นฐานไปแล้วนะครับ

โดยมีเป้าหมายทางนโยบายที่ “เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยรายปี” อยู่ที่ 2.5+-1.5% หรือ 1-4% โดยเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าหลุดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ธปท.จะต้องมีการชี้แจงสาเหตุการหลุดนอกกรอบทุก 6 เดือน ทำให้เห็นว่าภายใน 1 ปีจะต้องมีการชี้แจง 2 ครั้ง

แต่การหลุดกรอบแล้วจะส่งผลต่อค่าเงินบาทอย่างไร ยังเป็นความลับเสมือนความลับของกัปตันอาฮาบ “ที่ตามไล่ล่าโมบี้ดิกปลาวาฬเพชฌฆาต ในนวนิยายของอเมริกันที่หาเหตุผลไม่ได้เลย

การหลุดจาก กรอบเงินเฟ้อหลุดออกนอกกรอบเป้าหมายจะมีความหมายเลวร้ายหรือดีเช่นไร คนโง่อย่างเรา ๆ ที่เดินดินกินข้าวแกง……ไม่มีสิทธิ์ถามไถ่นะครับ

Back to top button