สินทรัพย์ดิจิทัล โจทย์ใหญ่ท้าทายก.ล.ต.

ไม่มีใครปฏิเสธว่าในอนาคตดิจิทัลเทคโนโลยีจะมีบทบาทต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยมากขึ้น ก.ล.ต.จึงจำเป็นต้องปรับฐานะจากผู้กำกับดูแล


เส้นทางนักลงทุน

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้จัดงานใหญ่เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของสำนักงานฯ

ในงานนี้ได้มีการชุมนุมสุดยอดปรมาจารย์ มีอดีตเลขาธิการก.ล.ต. 6 ท่าน ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น มุมมองและข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยในอนาคต ภายใต้หัวข้อ “ก้าวต่อไปของตลาดทุนไทยในทศวรรษหน้า”

ประกอบด้วย เลขาธิการก.ล.ต.คนแรก เอกกมล คีรีวัฒน์ (พ.ศ. 2535-2538), ถัดมา ปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา (พ.ศ. 2538-2542), ประสาร ไตรรัตน์วรกุล (พ.ศ. 2542-2546), ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. (พ.ศ. 2546-2554), วรพล โสคติยานุรักษ์ (พ.ศ. 2554-2558) และ รพี สุจริตกุล (พ.ศ. 2558-2562)

บทสรุปที่ได้รับจากทั้ง 6 อดีตเลขาธิการก.ล.ต. คือ มีความเป็นห่วง “ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล มองว่าการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลนับเป็นความท้าทายของสำนักงานก.ล.ต.ในระยะต่อไป

อันมีสาเหตุมาจากกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลด้านนี้ เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เหมือนกฎเกณฑ์เดิม และไม่สามารถควบคุมต้นน้ำได้ ทำให้การกำกับดูแลต้องดำเนินการผ่านผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง เช่น ศูนย์ซื้อขาย

อดีตเลขาธิการก.ล.ต. คนแรก “เอกกมล คีรีวัฒน์” ยกตัวอย่างว่า การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน บางประเทศก็ไม่ยอมรับ บางประเทศก็จัดสินทรัพย์ดิจิทัลให้อยู่ในตลาดสินทรัพย์ทางเลือก แต่บางประเทศธนาคารกลางต้องดูแล จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญ แต่หากวางกฎเกณฑ์กำกับดูแลที่ดีก็จะสามารถก้าวต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ไม่มีใครปฏิเสธว่าในอนาคตดิจิทัลเทคโนโลยีจะมีบทบาทต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยมากขึ้น ก.ล.ต.จึงจำเป็นต้องปรับฐานะจากผู้กำกับดูแล เปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ประสานงานให้มากขึ้น ให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา

ทุกคนเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ในทศวรรษหน้าตลาดทุนไทยจะมีบทบาทมากขึ้นในระบบการเงินและการจัดสรรทรัพยากรทุน เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนและทั่วถึงทุกภาคส่วน ตลอดจนเป็นแรงผลักดันเรื่องความยั่งยืนจากในตลาดทุน

โดยบริษัทจดทะเบียน ตัวกลางทางการเงิน นักลงทุนสถาบัน คนรุ่นใหม่ ภาคนโยบาย รัฐบาล และความร่วมมือระหว่างประเทศ จะเป็น market force ที่ขับเคลื่อนให้ตลาดทุนพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ชี้ว่า ปัจจุบันโลกมีความท้าทายจากเศรษฐกิจดิจิทัล 3 ด้าน ประกอบด้วย ความพยายามของประเทศฝั่งตะวันออกที่จะเป็นอิสระจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จีนจะเข้ามามีบทบาทในการค้าโลก

ซึ่งจะทำให้ไทยอาจต้องพัฒนาระบบเพื่อรองรับดิจิทัลหยวน และการพัฒนาดิจิทัลเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นความท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแลที่จะเข้ามามีบทบาทในการวางแผนและบริหารจัดการ

รวมทั้งวางแผนรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต และสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลที่จะทำให้เกิดสมดุลระหว่างการพัฒนาเพื่อทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเก็งกำไร

การพัฒนาตลาดทุนไทยในช่วงทศวรรษหน้าจะมีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพเศรษฐกิจและสังคม ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนจึงต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ไม่ว่าจะก.ล.ต.เอง ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลและส่งผ่านนโยบายที่สำคัญ

ตัวกลางซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ให้บริการและคำแนะนำแก่ลูกค้า แต่ที่สำคัญที่สุดก็คงเป็นการเตรียมตัวของนักลงทุน ซึ่งจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องสินค้าที่จะนำเงินไปลงทุน รวมทั้งความเสี่ยงที่จะตามมาด้วย

ปัจจุบันแม้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจะอยู่ในช่วง “ตั้งไข่” สำหรับประเทศไทย แต่พบว่ามีนักลงทุนได้ผลกระทบจากตลาดนี้แล้วจำนวนมาก

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ก.ล.ต. หารือร่วมกันมาโดยตลอดถึงขอบเขตการกำกับดูแลภายใต้กฎหมายที่มีเพื่อปิดช่องว่างที่มีอยู่ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในบางประเด็น

โดยกฎเกณฑ์ที่มีอยู่นั้นเป็นไปเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจของภาคเอกชน แต่ขณะเดียวกันจะต้องไม่เอาเปรียบประชาชน จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลในการรักษาสมดุลให้ได้

นอกจากนั้น ก.ล.ต.ยังมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระดมทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ผ่านผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ในตลาดทุน รวมทั้งการดำเนินนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ของภาครัฐ

ดังนั้น ในฐานะที่ “รื่นวดี สุวรรณมงคล” นั่งเก้าอี้เลขาธิการก.ล.ต.คนปัจจุบัน จึงต้องนำมุมมองและข้อเสนอแนะไปเป็นพลังสำคัญในการร่วมพัฒนาตลาดทุนไทยให้มีความยั่งยืน พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

Back to top button