หุ้น IPO ขึ้นอยู่กับเจ้ามือ
ช่วงปลายปีนี้มีหุ้น IPO เข้าเทรดจำนวนมาก ทว่านักลงทุนคนไหนที่ได้รับการจัดสรรหุ้น IPO กลับรู้สึกไม่มีความมั่นใจว่าจะ “รับ” หรือ “บอกปัด” ดี
ช่วงปลายปีนี้มีหุ้นไอพีโอเข้าเทรดจำนวนมาก
ทว่า นักลงทุนคนไหนที่ได้รับการจัดสรรหุ้นไอพีโอ กลับรู้สึกไม่มีความมั่นใจว่าจะ “รับ” หรือ “บอกปัด” ดี
ส่วนนักลงทุนอีกกลุ่มที่ชอบเข้าไปเก็งกำไรวันแรกที่เข้าเทรดของหุ้นไอพีโอ
หลัง ๆ เริ่มระแวงเช่นเดียวกัน
ทำให้นักลงทุนที่ได้รับการจัดสรรหุ้นไอพีโอ และเข้ามาเก็งกำไรวันแรก
หากราคาผ่านไปได้ไม่กี่ช่อง ต้องรีบขายทำกำไรกันละ
เพราะหากปล่อยไว้ โอกาส “ขาดทุน” มีค่อนข้างสูง
ก่อนหน้านี้เคยเขียนไว้ว่า หุ้นหากราคาเดินหน้า (หรือปรับลงแรง) ได้ จะต้องมี “เจ้ามือ”
เจ้ามือที่ว่านี้ หากใช้ภาษาดูดีหน่อย คือ “ผู้ดูแลสภาพคล่อง” (Market Maker) นั่นแหละ
หุ้นตัวไหนไม่มีเจ้ามือราคาจะไม่วิ่ง ซึม ๆ ยืนขาแข็ง
หรือที่เรียกกันว่า “รายย่อยเล่นกันเอง”
เช่นเดียวกับหุ้นไอพีโอ จะเปิดกระโดดสูงแล้วตบคว่ำ (ตีหัวเข้าบ้าน) หรือเปิดสูงแล้วย่อ ย่อแล้วดันต่อ หรือเปิดต่ำแล้วไปต่อ ฯลฯ
วิธีการเหล่านี้ขึ้นอยู่กับเจ้ามือทั้งนั้น
หุ้นหลายตัวพื้นฐานดีมาก แนวโน้มผลประกอบการดี
แต่หากได้เจ้ามือ “เลว” เอาแต่ได้แบบตีหัวเข้าบ้าน ก็อาจจะทำให้ราคาหุ้นเลว (ร้าย) ตามไปด้วย
ในทางกลับกัน
หุ้นไอพีโอบางตัวเข้าตลาดมาเทรดแบบพื้นฐานกระท่อนกระแท่น เข้าเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ แบบพอไปวัดไปวา
แต่อาจจะมีการ “วางราคาไอพีโอ” “การกระจายหุ้น” ของที่ปรึกษาทางการเงิน และลีดอันเดอร์ไรท์เตอร์ กลับทำได้ดี รายใหญ่ รายย่อย รับกันทั่วถึง
และยิ่งหากได้เจ้ามือแบบชอบเล่นชักเย่อกับรายย่อยหรือชอบเรียกกันว่า “เจ้าแจก” ด้วยนะ
ไอพีโอตัวนั้นจะเทรดกันได้ทั้งวัน ข้ามวัน
บางหุ้นเทรดกันคึกคักข้ามสัปดาห์ กราฟแทบพุ่งทะลุจอไปดาวอังคาร (แต่ลุกช้าจ่ายรอบวง)
กลับมาคำถามที่ว่า แล้วเจ้ามือคือใคร
คำตอบคือ เจ้ามือจะคือใครก็ได้ที่มีเงินเยอะ และมีหุ้นอยู่ในมือจำนวนมาก
หุ้นบางตัว “เจ้ามือกับเจ้าของ” คือกลุ่มเดียวกัน
หุ้นที่มีเจ้ามือแบบนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นขนาดกลางและเล็ก (อาจมีบิ๊กแคปบ้าง)
นักลงทุนรายใหญ่ นักลงทุนสถาบัน (ประเภทกองทุนต่าง ๆ) ผู้บริหารระดับสูง (ผ่านนอมินี) ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นไอพีโอจำนวนมาก ต่างเป็นเจ้ามือได้
หรือแม้กระทั่งที่ปรึกษาทางการเงิน หรือเอฟเอ หุ้นไอพีโอ
กลุ่มหลังนี้ต่างเป็นเจ้ามือได้ด้วยเช่นกัน (หากได้วาณิชธนกิจที่ไม่ดี)
มีคำถามอีกว่า แล้วมีหุ้นไอพีโอตัวไหนที่เจ้ามือเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างเจ้าของ (ผ่านนอมินี)-IB และรายใหญ่ ที่ต่างสุมหัวกันสร้างราคา หรือทุบหุ้น (ไอพีโอ) หรือเปล่า
คำตอบคือ “มี”
จริง ๆ แล้วข้อมูลเหล่านี้ นักลงทุนรายย่อยที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมานาน หรือพักใหญ่
น่าจะพอรับทราบกันเป็นอย่างดี
และรู้จักวิธีการ หรือหาทางหนีทีไล่เก่ง ดูการวางหุ้นฝั่ง Bid ฝั่ง Offer สังเกตไม้ใหญ่ ๆ ที่เข้ามา และสาดออก
สิ่งสำคัญคือต้องเก็งกำไรระยะสั้น เข้าเร็วออกเร็ว
อย่าลืมว่าหุ้นไอพีโอในช่วง 30 วัน หลังเข้าเทรดวันแรกนั้น
ถือว่า “อันตราย” อย่างยิ่ง