ก๊าซพม่า: ความมั่นคงใคร
ราคานำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวในรูปแบบสปอตปัจจุบัน อยู่ที่ 30-40 เหรียญสหรัฐ/บีทียู แต่ราคาก๊าซในอ่าวไทยอยู่ที่ 6-7 เหรียญฯ/บีทียูเท่านั้น
ราคานำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LNG) ในรูปแบบสปอตปัจจุบัน อยู่ที่ 30-40 เหรียญสหรัฐ/บีทียู แต่ราคาก๊าซในอ่าวไทยอยู่ที่ 6-7 เหรียญฯ/บีทียูเท่านั้น
แน่นอน! การเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณล่าช้าเกือบ 2 ปี (ก่อนกำหนดอายุสัมปทานสิ้นสุดเดือน เม.ย. 65) ของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. ได้ก่อความเสียหายอย่างมากมายต่อเศรษฐกิจไทย
ราคาก๊าซนำเข้ากับราคาก๊าซอ่าวไทย ที่แพงกว่ากันเป็น 5-6 เท่าตัว คือ ตัวการใหญ่ทำให้ไฟฟ้ามีราคาแพง และยังส่งผลกระทบลูกโซ่ไปยังต้นทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศอีกด้วย
การเข้าพื้นที่ล่าช้า ก็เพราะเจ้าของสัมปทานเดิมคือเชฟรอน ไม่ให้การยินยอม และก็ไม่ใช่ความผิดของปตท.สผ.หรือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแต่ประการใด
มีข้อเคลือบแคลงใจประเด็นหนึ่ง ในเรื่องที่ผู้รับสัมปทานใหม่คือปตท.สผ.ยังมีความจำเป็นต้องอาศัยแท่นผลิตเดิมของเชฟรอน แต่เหตุไฉน ยังต้องให้เชฟรอนวางหลักประกันค่ารื้อถอนเต็ม 100% ทำไมไม่คิดค่ารื้อถอนตามสัดส่วนการใช้งานของผู้รับสัมปทานใหม่
ความจริงมีการแก้ไขกฎหมายเป็น “กฎกระทรวง” แล้วด้วยในปี 2555 ให้ผู้รับสัมปทานวางหลักประกันการรื้อถอนตามสัดส่วน กรณีมีการใช้งานแท่นผลิตเดิม และก็ได้รับการบรรจุเป็นเงื่อนไขการประมูลหรือ “ทีโออาร์” ในการประมูลครั้งที่ผ่านมาด้วย
แต่เชฟรอน ไม่ยอมรับในข้อกฎหมายข้อนี้ และยังคงยืนยันไม่ต้องวางหลักประกันการรื้อถอน 100% กรณีมีการใช้แท่นผลิตเดิม ซึ่งก็คงจะเป็นประเด็นฟ้องร้องกันต่อไป กรณี “เชฟรอน” ไม่ยอมรับกฎหมายไทย
สิ่งที่น่าจดจำอีกอย่างหนึ่งของเชฟรอน บริษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกันในกรณี รัฐบาลสหรัฐฯ มีนโยบาย “แซงก์ชั่นรัฐบาลทหารพม่า” และกดดันบริษัทเอกชนสัญชาติอื่นให้ถอนการลงทุนออกจากพม่าด้วย
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็หนีไม่พ้นปตท.สผ.ของไทยเรา ซึ่งลงทุนขุดก๊าซนอกชายฝั่งในแหล่งยาดานาและเยตากุน
เมื่อตอนมิน อ่อง ลาย ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลประชาธิปไตยของนางอองซาน ซูจี บริษัท โททาล ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดในแหล่งสัมปทาน ได้ถอนการลงทุนออกจากพม่า โดยจัดสรรหุ้นที่ตนถือครองไปให้หุ้นส่วนต่าง ๆ โดยไม่คิดมูลค่า
ปรากฏว่าเชฟรอน กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดในระดับร้อยละ 41 ปตท.สผ.กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ร้อยละ 37 แต่รัฐบาลวอชิงตันกลับเอาแต่กดดันปตท.สผ.ให้ถอนการลงทุนออกจากพม่า โดยผ่านกระทรวงการต่างประเทศไทย
ยิ่งประเทศไทยไป “งดออกเสียง” ในมติประณามรัสเซียที่รุกรานยูเครน กลับยิ่งทำให้สถานการณ์กดดันปตท.สผ.รุนแรงยิ่งขึ้น
แต่รัฐบาลสหรัฐฯ กลับไม่ไปกดดันบริษัทสัญชาติตัวเอง ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 แฮะ!
นี่แหละคือพฤติกรรม “เกลียดตัว กินไข่ เกลียดปลาไหล กินน้ำแกง” โดยแท้ ของมหาอำนาจ พญาอินทรี
รัฐบาลสหรัฐฯ อ้างว่าการจ่ายเงินซื้อก๊าซพม่า เท่ากับเอาเงินไปให้รัฐบาลทหารพม่าใช้ทำการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน แต่เรื่องนี้ก็มีนัยทางด้านมนุษยธรรมและความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศพม่าและไทยเช่นกัน
นั่นคือ ความสำคัญของก๊าซจากแหล่งยาดานา-เยตากุน สนองความต้องการใช้ก๊าซในประเทศไทยถึงร้อยละ 17 และสนองความต้องการของประชาชนพม่าถึงร้อยละ 70
ย่อมไม่ดีแน่ หากรัฐบาลสหรัฐฯ กดดันจนปตท.สผ.ต้องเก็บข้าวของกลับประเทศ เพราะอุปทานก๊าซที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าร้อยละ 17 หายวูบไป และต้องนำเข้า LNG มาทดแทนในราคาที่สูงกว่าเดิม 5-6 เท่าตัว
ค่าไฟจะพุ่งกระฉูดเกิน 5-6 บาท ก่อความเดือดร้อนสาหัสไปทั่วประเทศแน่
ประชาชนในประเทศพม่ายิ่งเดือดร้อนหนักจากการไม่มีไฟฟ้าใช้ ไฟฟ้าที่มีใช้อย่างน้อยนิดไม่ทั่วถึงอยู่แล้ว ก็ยิ่งจะขาดแคลนถึงขั้นมืดมิดทั้งประเทศไปเลย
แทนจะกดดันรัฐบาลทหารพม่า กลับไปทำร้ายประชาชนให้ทุกข์หนักแสนสาหัสกว่าเดิม
นโยบายแซงก์ชั่นรัฐบาลทหารพม่าของสหรัฐฯ กลับทำร้ายประชาชนแสนสาหัสทั้งฝั่งพม่าและไทย โดยรัฐบาลมิน อ่อง ลายก็ยังดำรงคงอยู่