พาราสาวะถีอรชุน

การยืนยันเดินหน้าใช้คำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจำนำข้าวจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่แถลงตอกย้ำโดย วิษณุ เครืองาม ด้วยเหตุผลสวยหรูเป็นวิธีที่สร้างประโยชน์ให้ประชาชนมากที่สุด ท่ามกลางข้อกังขาของหลายฝ่าย การเลือกใช้แนวทางดังว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุดหรือเครื่องมือเพื่อเล่นงานกันทางการเมืองกันแน่


การยืนยันเดินหน้าใช้คำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจำนำข้าวจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่แถลงตอกย้ำโดย วิษณุ เครืองาม ด้วยเหตุผลสวยหรูเป็นวิธีที่สร้างประโยชน์ให้ประชาชนมากที่สุด ท่ามกลางข้อกังขาของหลายฝ่าย การเลือกใช้แนวทางดังว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุดหรือเครื่องมือเพื่อเล่นงานกันทางการเมืองกันแน่

ความเห็นแย้งของ วัฒนา เมืองสุข น่าจะตรงจุดที่สุด มิเช่นนั้นคนของบางพรรคการเมืองคงไม่พร้อมใจกันออกมาตอบโต้ ปกป้องแนวทางของรัฐบาลคสช. ทั้งๆ ที่เรื่องนี้น่าจะเป็นการพิพาทและอธิบายกันเองระหว่าง ผู้มีอำนาจกับฝ่ายที่ถูกยึดอำนาจ แต่เมื่อคนที่ได้ชื่อว่าเป็นขั้วขัดแย้งโดยตรงดันมาช่วยแก้ต่างแทน ย่อมทำให้คนทั่วไปเชื่อได้ว่า สิ่งที่ทำกันอยู่ไม่โปร่งใส

ในความเห็นของวัฒนานั้นเป็นมุมทางด้านกฎหมายล้วนๆ ซึ่งในฐานะเนติบริกรวิษณุจะต้องตอบให้กระจ่างชัด ไม่ใช่ใช้วิธีการขี่ม้าเลียบข่ายหรือใช้ชั้นเชิงทางกฎหมายหลอกล่อคนที่จับไม่ได้ไล่ไม่ทันไปวันๆ คำถามของเสี่ยไก่ก็คือ เจตนารมณ์หรือเหตุผลในการออกพระราชบัญญัติความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ต้องประกอบด้วยคู่กรณี 3 ฝ่าย

อันประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่ของรัฐไปทำความเสียหายให้กับบุคคลภายนอก หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกและรัฐใช้คำสั่งทางปกครองเรียกให้เจ้าหน้าที่ของรัฐชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืน หากปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้กระทำไปโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่กรณีของยิ่งลักษณ์ไม่มีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง

เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลคสช.ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ที่ยึดอำนาจมาจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยมีข้อกล่าวหาว่าโครงการรับจำนำข้าวทำให้ประเทศชาติเสียหาย การที่ พลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจจากยิ่งลักษณ์ ก็ถือเป็นคู่กรณีที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองและมีส่วนได้เสียแล้วตามกฎหมาย

ส่วนคดีที่ถูกดำเนินโดยศาลปกครอง อาทิ คดีรถและเรือดับเพลิง คดีจัดหาเรือขุดเอลลิคอท คดีคลองด่านล้วนเข้าหลักเกณฑ์การมีคู่กรณี 3 ฝ่าย เป็นกรณีที่รัฐได้จ่ายเงินค่าสินค้าให้กับบุคคลภายนอกแล้ว จึงเอาจำนวนที่รัฐต้องจ่ายไปนั้นมาเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องรับผิดชดใช้คืน ส่วนกรณียิ่งลักษณ์ไม่มีบุคคลภายนอก แต่ถูกดำเนินคดีจากการกำกับนโยบายในโครงการช่วยเหลือชาวนาและแถลงนโยบายดังกล่าวต่อรัฐสภาแล้ว

การที่รัฐบาลคสช.ซึ่งเป็นปฏิปักษ์และเป็นคู่กรณีที่มีส่วนได้เสียทางการเมือง จะมาใช้คำสั่งทางปกครองจึงไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม จึงควรให้ศาลยุติธรรมที่เป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียเป็นผู้พิจารณา แน่นอนว่า แนวทางที่วิษณุยืนยันสามารถทำได้นั้นไม่ได้มีใครเถียง เพียงแต่ว่าหากพิจารณาถึงผลลัพธ์ที่ควรจะเป็นแล้ว ทางไหนสง่างามกว่ากันนั่นต่างหากที่เป็นเครื่องหมายคำถามสำคัญ

เช่นเดียวกับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 คุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าว ที่ไม่ว่าจะอ้างอย่างไร คนก็ยังสงสัยอยู่ดี ในเมื่อทำทุกอย่างไปด้วยความสุจริตแล้วทำไมจะต้องใช้กฎหมายพิเศษมานิรโทษกรรมไว้ล่วงหน้าด้วย นี่คือความไม่ชอบมาพากลที่คนซึ่งได้ชื่อว่าเนติบริกรอธิบายไม่ได้อยู่ดี และยิ่งทำให้เกิดข้อกังขาต่อผู้มีอำนาจว่าที่ป่าวประกาศ “ไม่ผิดกลัวอะไร” เป็นคำพูดที่ออกมาจากใจหรือสร้างภาพเพื่อให้ดูดีเท่านั้น

คงไม่ต่างจากกรณีทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์ที่มีการแสดงความไม่พอใจต่อการนำเสนอข่าวของสื่อ ทั้งที่เมื่อยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเป็นเรื่องของกองทัพบกก็ไม่เห็นจะต้องเดือดเนื้อร้อนใจอะไร หรือเพราะเกรงว่าท้ายที่สุดมันจะไม่ได้จบแค่นั้น เนื่องจากมันมีเอกสารหลักฐานที่ยืนยันว่า ทุกกระบวนการขั้นตอนนั้นคณะรัฐมนตรีรับรู้รับทราบมาโดยตลอด

โดยเฉพาะกรณีที่จะโบ้ยว่างบประมาณที่ใช้ดำเนินการในโครงการดังกล่าวเป็นเงินบริจาคทั้งหมด ไม่มีงบประมาณแผ่นดินเข้าไปเกี่ยวข้อง คงต้องหาพยาน หลักฐานมายืนยันให้ชัดเจน เพราะจะมีคำถามตามมาว่าแล้วงบประมาณกองทัพบกที่จัดไว้ 1,600 ล้านบาทนั้น ไปอยู่ไหน ไม่ได้ใช้แล้วนำไปใช้ในเรื่องใดต่อ ผลสอบของกองทัพบกที่ขีดเส้นไว้ 7 วันและขยายเวลาออกไปนั้นต้องสรุปให้เห็นภาพกระจ่างแจ้ง

ความคาดหวังของสังคมและประชาชนตกไปอยู่บนบ่าของ  “บิ๊กหมู” พลเอกธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. เรื่องนี้ถือเป็นศักดิ์ศรีและเกี่ยวพันกับภาพลักษณ์ของกองทัพบกโดยตรง ต้องไม่ลืมว่าปุจฉาตัวโตที่จะตามมาถ้ากล้าถึงขนาดที่จะทุจริตในโครงการที่เป็นสัญลักษณ์แสดงความจงรักภักดีของประชาชนทั้งประเทศ เรื่องอื่นๆ คงเป็นแค่เศษเสี้ยวของการคอร์รัปชั่นเท่านั้น

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญภายใต้การนำของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ยังต้องตามลุ้นกันทุกเม็ดทุกดอก ล่าสุด เป็นคิวของที่มาส.ว. ทั้งๆ ที่ยังไม่เคาะแต่ข่าวไปก่อนล่วงหน้าคงมาจากการลากตั้งทั้งหมด โดยจะแลกเปลี่ยนปมเรื่องอำนาจของสมาชิกสภาสูงที่จะไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการถอดถอน ถ้าเช่นนั้นก็พอทำเนา แต่การวางกรอบทางการเมืองทั้งระบบต้องให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ไม่ใช่แค่ความพอใจของผู้มีอำนาจ เหมือนอย่างที่ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ บอกไว้วันก่อน ระบบที่ดีมันจะทำให้ในที่สุดได้คนดีของระบบขึ้นมา คนดีในระบบที่ไม่ดีมันไม่สามารถทำอะไรได้เพราะกำลังมันน้อยเกินไป แต่ถ้าเกิดระบบที่สร้างขึ้นมามันดี แล้วปล่อยให้ระบบมันเดินไป มันบกพร่องก็แก้ไป สุดท้ายตัวระบบจะกลั่นกรองคนที่ดี คนที่ดีหมายถึงคนที่มีความสามารถในการทำงานเพื่อสาธารณะแล้วถูกตรวจสอบได้โดยระบบตรวจสอบที่ดี

นั่นหมายความ ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นต้องวางกฎ กติกาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ถ้าคิดไม่ออกก็ให้ไปฟังคำพูดของ เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่าที่กล่าวยอมรับความพ่ายแพ้ต่อพรรคของออง ซาน ซูจี โดยย้ำว่าผลการเลือกตั้งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง และเป็นประจักษ์พยานที่ดีที่สุดถึงการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจที่รัฐบาลของตนถือเป็นพันธสัญญาให้มีการจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม รัฐบาลที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยแท้ๆ จะทำได้เหมือนอย่างที่รัฐบาลทหารพม่าทำหรือไม่ ยังเป็นเครื่องหมายคำถาม

Back to top button