พาราสาวะถี

สิ่งเดียวที่สังคมตั้งข้อกังขา คือ นอกจากการบริจาคเงินแล้ว คนในพรรคสืบทอดอำนาจมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ที่ได้ชื่อว่า นักธุรกิจสีเทา ด้วยหรือไม่


ไม่อยากจะดูแคลนว่ากลายเป็นประเด็นขี้หมาจริง ๆ เรื่องที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานยุทธศาสตร์พรรคสืบทอดอำนาจออกมายอมรับว่า เมื่อปี 2564 พรรคได้รับเงินบริจาคจำนวน 3 ล้านบาทจาก ชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ นายทุนจีนที่ได้รับสัญชาติไทย และเชื่อมโยงกับผับดังย่านยานนาวาที่ถูกตำรวจบุกทลายปาร์ตี้ยาเสพติดเมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นที่รู้กันว่าเมื่อเรื่องไปถึง กกต.ยังไงก็รอด ยิ่งได้ฟังถ้อยแถลงของ แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.เมื่อวันศุกร์ ไม่ต้องคาดเดาผลว่าบทสรุปจะออกมาอย่างไร

ไม่ว่าจะมีใครร้องกันไปกี่ราย คำอธิบายจากแสวงก็เห็นทิศเห็นทางกันอยู่ ผู้บริจาคมีสิทธิ์บริจาคหรือไม่ ดูจากตัวเลขตามบัตรประจำตัวประชาชนพบว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย ถือเป็นผู้ที่สามารถบริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองได้ จำนวนเงินที่บริจาคก็อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และพรรค ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรู้หรือควรจะรู้ว่าแหล่งที่มาของเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตรงนี้แม้จะอ้างว่ากำลังดำเนินการตรวจสอบ แต่คนส่วนใหญ่ก็มองกันทะลุ ประสานักข่าวก็เขียนข่าวรอได้เลยว่า “รอด”

สิ่งเดียวที่สังคมตั้งข้อกังขา คือ นอกจากการบริจาคเงินแล้ว คนในพรรคสืบทอดอำนาจมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ที่ได้ชื่อว่า “นักธุรกิจสีเทา” ด้วยหรือไม่ ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญ เหมือนอย่างที่ พลตำรวจโท เรวัช กลิ่นเกษร อดีตผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด เคยให้สัมภาษณ์ไว้ คนที่ประกาศตัวเป็นคนดีต้องไม่ไปคบค้าสมาคมพวกที่ได้ชื่อสีเทา เพราะจะนำความเสื่อมเสียมาให้ ไม่จำเป็นต้องไปคบคนชั่วเป็นมิตร ถ้าดีจริงประชาชนทั่วไปก็สนับสนุนเอง ไม่ต้องไปขอเงินจากพวกทำบ่อน ซ่อง หวยแต่อย่างใด นี่แหละที่น่าคิด

ประเด็นน่าสนใจยามนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่แล้ว ที่อนุมัติแก้กฎกระทรวงเรื่องให้สิทธิต่างชาติศักยภาพสูง 4 กลุ่มถือครองที่ดินได้ไม่เกิน 1 ไร่ โดยต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทอย่างน้อย 3 ปี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะทางฝ่ายการเมือง ทั้ง ๆ กฎกระทรวงดังกล่าวที่เสนอโดย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่ของใหม่ หากแต่เป็นการแก้ไขของเดิมที่มีมาตั้งแต่ปี 2545 หรือยุคของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง

สาระสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการลงทุนจากกฎกระทรวงเดิมปี 2545 ที่กำหนดว่าต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 5 ปี แก้เป็นไม่ต่ำกว่า 3 ปี ขณะที่จำนวนเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทเหมือนเดิม ส่วนการนำเงินมาลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด กฎกระทรวงปี 2545 กำหนดไว้ 4 ประเภท แต่ร่างกฎกระทรวงที่รัฐบาลเรือเหล็กเห็นชอบ มีการเพิ่มเติมและปรับปรุงรวม 5 ประเภท ส่วนที่เพิ่มเติมมา คือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

ภาคธุรกิจเอกชนโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ก็มองว่าสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการนั้น ไม่ได้มีอะไรใหม่ และคงไม่ส่งผลในแง่บวกมากเท่าไหร่ อิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบ และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า มาตรการที่ผ่านมากระตุ้นการลงทุนในช่องทางนี้ได้ไม่มาก ทั้งที่มาตรการออกมา 20 ปีแล้ว นั่นทำให้เข้าใจได้ จึงเป็นเหตุผลให้รัฐบาลแก้เงื่อนไขระยะเวลาเงินลงทุนจาก 5 ปี เป็น 3 ปี

สิ่งที่รัฐบาลต้องทบทวน คือ ที่ผ่านมามาตรการนี้ไม่ค่อยได้ผลนัก และควรประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนชาวต่างชาติได้ใช้ช่องทางนี้ดีกว่าใช้ช่องทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การตั้งบริษัทในประเทศไทยแล้วมาซื้อที่อยู่อาศัย การซื้อผ่านสามีหรือภรรยาคนไทย หรือการหลบเลี่ยงด้วยวิธีต่าง ๆ อิสระยังชี้ด้วยว่าผู้ประกอบการอสังหาฯ อยากเห็นการจำกัดราคาซื้อขั้นต่ำของต่างชาติมากกว่า ให้ซื้อเฉพาะอสังหาฯ ที่ราคาสูงเท่านั้น เช่น ต้องมีราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป จึงจะสามารถซื้อได้ เพื่อไม่ให้กระทบความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทย

อย่างไรก็ตาม อย่างที่บอกในแง่ของผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์อาจมองไปในทิศทางนี้ แต่ในทางการเมืองถือเป็นจังหวะที่จะขยายผลเพื่อดิสเครดิตผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะ เสียงวิจารณ์ต่าง ๆ หากใช้อารมณ์ ความรู้สึกเป็นที่ตั้งก็ย่อมถูกฝ่ายกุมอำนาจตีโต้ได้ง่าย มีมุมจาก สมชัย ศรีสุทธิยากร ที่จับสาระสำคัญของการแก้ไขครั้งนี้อย่างน่าสนใจนั่นก็คือ การเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นการเสนอแก้กฎหมายโดยแก้ในระดับกฎกระทรวงที่รัฐมนตรีมหาดไทยเสนอ ผ่านที่ประชุม ครม. ไม่ใช่แก้ตัว พ.ร.บ.เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

ทั้งนี้ การออกเป็นกฎกระทรวงดังกล่าว เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 96 ทวิ  ที่อนุญาตให้ต่างชาติถือครองที่ดินตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศในกฎกระทรวง ความเห็นของสมชัยที่มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ คือ หลักเกณฑ์ที่แก้ไขในการเปลี่ยนกฎเกณฑ์การลงทุนของต่างชาติ ที่เดิมต้องเป็นการลงทุนที่ต้องผ่านการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ กลายเป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือกองทุนรวมบางประเภท มีกำหนดเพียง 3 ปีเท่านั้น

ขณะเดียวกัน เรื่องของตัวเลขเงินลงทุน 40 ล้านบาท เป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ที่แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2542 หรือ 23 ปีที่แล้ว  ซึ่งค่าของเงินในอดีตกับปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก และสมควรแก้ แต่รัฐบาลกลับเลือกที่จะไม่แก้  เพราะหากแก้ต้องเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.เข้าสภาที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณา ด้วยเหตุนี้ สมชัยจึงเห็นว่า รัฐบาลเลือกเอาสิ่งที่ทำง่าย โดยไม่สนใจขั้นตอนทางนิติบัญญัติที่ต้องผ่านสภา  และไม่รักษาประโยชน์ของประเทศอย่างถึงที่สุด

สิ่งที่รัฐบาลพึงทำ คือ การเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนถึงผลดีผลเสียอย่างกว้างขวาง ก่อนที่จะออกเป็นกฎกระทรวง  ไม่จำเป็นต้องรีบเร่ง มิฉะนั้น สิ่งที่ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย และเป็นข้อกล่าวหาว่า รัฐบาลนี้คิดเอาแต่เอื้อประโยชน์นายทุน เอื้อประโยชน์ต่างชาติจะเป็นจริง และรัฐบาลจะไม่เหลือความน่าเชื่อถือใด ๆ จากประชาชนอีก อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากการดำเนินการของรัฐบาลที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเป็นหัวเรือใหญ่ เชื่อได้เลยว่า ไม่มีอะไรที่จะต้องทบทวน

Back to top button